วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ถ่ายภาพอย่างไรให้ออกมาใช้งานได้


ชื่อ – สกุล นางสาวปารณีย์ บุญรอด
ตำแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์ 0-8635-82844
ชื่อเรื่อง ถ่ายภาพอย่างไรให้ออกมาใช้งานได้
เป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการถ่ายภาพออกมาแล้วนำไปใช้งานไม่ได้
และไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของงาน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547

เนื้อเรื่อง
จากการที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบในการถ่ายภาพกิจกรรมในงานพัฒนาชุมชนของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด ซึ่งในการถ่ายภาพให้ออกมาใช้งานได้ และมีองค์ประกอบของภาพครบถ้วนนั้น ภาพหนึ่งภาพที่ดีต้องสามารถสร้างเรื่องราวของภาพนั้นให้ได้ โดยมีจุดเริ่มต้นและมีจุดสิ้นสุดของภาพ อาจถ่ายภาพจากเหตุการณ์และสถานที่จริง หรือการ Set ฉากขึ้นมาก็ได้ ซึ่งต้องอาศัยจินตนาการ และการจัดองค์ประกอบของภาพที่เหมาะสม

การถ่ายภาพกิจกรรมเพื่อนำไปใช้ในงานประชาสัมพันธ์ ภาพในลักษณะนี้เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ของกิจกรรมตามที่ผู้ถ่ายต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่าเป็นกิจกรรมอะไร จึงต้องถ่ายให้ออกมาดูมีเรื่องราว และน่าสนใจ เริ่มตั้งแต่การเลือกมุมกล้อง การจัดองค์ประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ในภาพ ภาพถ่ายที่ดีซึ่งสามารถนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ได้ เนื้อหาของภาพเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยต้องดูว่าภาพถ่ายนั้นจะบอกเรื่องราวเรื่องใด และบอกได้มากน้อยแค่ไหน ให้รายละเอียดได้ไหมว่าคนในภาพเป็นใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ เพื่ออะไร ซึ่งเห็นภาพแล้วสามารถอธิบายได้ เนื้อหาของภาพจึงต้องชัดเจน สามารถถ่ายทอดเรื่องราวให้ดูได้โดยง่าย ไม่สลับซับซ้อน

ในงานพัฒนาชุมชน หลัก ๆ แล้วจะเป็นการถ่ายภาพการประชุมอบรมสัมมนา การถ่ายภาพรับมอบเกียรติบัตร การถ่ายรูปหมู่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากหรือซับซ้อนมากนัก เพียงแต่ต้องรู้หลักการถ่ายภาพ การจัดองค์ประกอบของภาพ และเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมเท่านั้น

การถ่ายภาพการประชุมอบรมสัมมนา ควรเริ่มถ่ายตั้งแต่การมารายงานตัวของผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา ประธานในพิธี ควรถ่ายด้านหน้าโดยยืนประมาณแถวที่ 5-6 ของผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา เพื่อจะได้ภาพทั้งผู้เข้าประชุมและประธานในพิธีด้วย หรืออาจจะเป็นด้านข้างก็ได้ เพื่อจะได้ทั้งประธานในพิธีและได้ด้านหน้าของผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา หรือถ้าไม่ได้ก็ให้ถ่ายด้านหน้าประธาน 1 ใบ และมาถ่ายภาพผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อตัดภาพประธานติดกับผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา ควรถ่ายให้ประธานและผู้เข้าร่วมประชุมหันหน้าเข้าหากัน ผู้กล่าวรายงานให้ถ่ายด้านข้าง จะได้ทั้งผู้กล่าวรายงานและผู้เข้าร่วมประชุมด้วย เพราะภาพจะสื่อความรู้สึกว่าเป็นการประชุมสัมมนาจริง การถ่ายภาพผู้บรรยายให้ใช้หลักเดียวกันกับการถ่ายภาพประธานในพิธี

การถ่ายภาพรับมอบเกียรติบัตร ถ้วยรางวัลหรือโล่ ให้ถ่ายในช่วงของผู้รับเกียรติหรือผู้รับโล่รางวัลจับเกียรติบัตรหรือโล่จากผู้มอบ ตรงนี้เป็นเทคนิค เพราะกล้องดิจิตอลเวลาถ่ายภาพแสงจะเดินทางช้ากว่ากล้องธรรมดา เพราะฉะนั้นช่างภาพต้องกดชัดเตอร์ลงครึ่งหนึ่งไว้รอ เมื่อคนรับ จับเกียรติบัตรจากผู้มอบ ให้กดชัดเตอร์ลงทันที แล้วจะได้ภาพที่ต้องการ ปัญหาที่ตามมาของกล้องดิจิตอลคือ หากรีบกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ จะมีปัญหาคือ กดภาพไม่ลง ถ้ากดลงภาพจะพร่าและไหว เพราะความรีบ การแก้ไขคือ หลังจากถ่ายภาพคนที่ 1 ไปแล้ว ให้กดชัตเตอร์ค้างไว้ทันที เมื่อคนที่ 2 มายืนรับต่อ จะทำให้ถ่ายภาพนั้นทัน ถ้าไม่ทันให้ปฏิเสธคนที่ 2 ไปคนที่ 3 แล้วภาพต่อ ๆ ไปเราจะถ่ายภาพทันไม่มีปัญหา

การถ่ายรูปหมู่ ให้จัดเรียงตามความเหมาะสม หากจำนวนคนมีมาก ให้จัดแถวเป็นนั่ง และยืน หากมากอีกก็ให้จัดเป็น 3 แถว เช่น แถวที่ 1 นั่งกับพื้น แถวที่ 2 นั่งเก้าอี้ แถวที่ 3 ยืน หรือถ้าไม่สามารถ Set ฉากได้ก็ให้ใช้มุมกล้องแทน เป็นต้น

ปัญหาที่พบบ่อยกับตัวเองก็คือการขาดจินตนาการ ทำให้ไม่สามารถสร้างเรื่องราวและสร้างสรรค์ภาพได้ ดังนั้น การควบคุมตัวเองในเรื่องอารมณ์และความรับผิดชอบตัวเองก็เป็นเรื่องสำคัญ ใน 1 งาน ต้องคิดไว้ใช้สำหรับหลาย ๆ งาน โดยการเปลี่ยนมุม เปลี่ยนแนวถ่าย เปลี่ยนองค์ประกอบของฉากให้ได้หลาย ๆ มุม ก่อนไปถ่ายภาพควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ที่จะไปถ่ายให้ครบถ้วนก่อน ทั้งในเรื่องสถานที่ ทิศทางแสง ข้อมูลเหตุการณ์ของงานนั้น ๆ

บันทึกขุมความรู้ (Knowledge Assets)
1. เทคนิคการถ่ายภาพ
2. การจัดองค์ประกอบของภาพ

แก่นความรู้ (Core Competencies)
1. การวางแผนในการถ่ายภาพ
2. การจินตนาการให้ภาพดูมีเรื่องราว

กฎระเบียบ แนวคิด ทฤษฎี ที่เกี่ยวข้อง
1. คู่มือการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล
2. คู่มือเทคนิคการถ่ายภาพ
2. แนวทางการถ่ายภาพเพื่อการประชาสัมพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น