วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เทคนิคการเข้าถึงประชาชนของพัฒนากรมือใหม่

ชื่อ - สกุล นางรำพา ชนะพลชัย
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์ 081-7346994
ชื่อเรื่อง เทคนิคการเข้าถึงประชาชนของพัฒนากรมือใหม่
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2532
สถานที่ ตำบลซึ้ง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

เรื่องเล่า
ในปี พ.ศ. 2532 ข้าพเจ้าได้รับคำสั่งเปลี่ยนสายงานจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ เป็นพัฒนากรครั้งแรก ที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี พัฒนาการอำเภอสมัยนั้น คือ หัวหน้า สุรชัย วิชญธรกุล หรือที่พวกเราเรียกกันว่า “พี่แซร์” มอบหมายให้ข้าพเจ้ารับผิดชอบตำบลซึ้ง ซึ่งมีหมู่บ้านในความรับผิดชอบ จำนวน 10 หมู่บ้าน กำนันตำบลซึ้งสมัยนั้น คือ นายประสาร เขมะสุข ในฐานะพัฒนากรมือใหม่ ข้าพเจ้ามีแต่ความวิตกกังวลว่าจะปฏิบัติงานในตำแหน่งนี้ไม่ได้ เพราะทราบมาว่า คนที่จะเป็นพัฒนากรนั้นจะต้องพูดเก่งโดยเฉพาะการพูดกับคนหมู่มากในที่ชุมชน และต้องทำงานเข้ากับกำนันผู้ใหญ่บ้านได้

เมื่อทราบว่าจะต้องแนะนำตัว และนำเรื่องราชการไปชี้แจงต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในที่ประชุมสภาตำบล ข้าพเจ้าก็เป็นอันกินไม่ได้ นอนไม่หลับล่วงหน้าไปหลายคืน กลัวว่าจะพูดจากับเขาไม่รู้เรื่อง กลุ้มอกกลุ้มใจเป็นอย่างมาก แต่โชคดีที่มี คุณนพรัตน์ รามางกูร หรือที่คนสนิทเรียกว่า “พี่แดง” ซึ่งเป็นนักวิชาการในสำนักงานพัฒนาชุมชนเขต 2 (สมัยนั้น) “พี่แดง” เป็นครูคนแรกของชีวิตการเป็นพัฒนากรมือใหม่ คอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและพร่ำสอนถึงเทคนิคในการทำงานในชุมชน โดยช่วยร่างแม้กระทั่งคำพูดแนะนำตัว และเรื่องที่จะต้องชี้แจงเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมอาชีพกลุ่มสตรีทำทุเรียนกวน ซึ่งตำบลซึ้งได้รับจัดสรรงบประมาณประจำปีนั้น ให้ที่ประชุมสภาตำบลทราบ ท่านเชื่อหรือไม่กับคำว่า “สวัสดีค่ะ ดิฉัน รำพา ชนะพลชัย พัฒนากรประจำตำบลซึ้งคนใหม่ “

ข้าพเจ้าฝึกซ้อมยกมือไหว้และซ้อมพูดกับหน้ากระจก อยู่หลายเที่ยว รวมทั้งซ้อมพูดเรื่องที่จะต้องแจ้งให้ที่ประชุมทราบ จนจำได้ขึ้นใจ ซึ่งพี่แดงสอนว่า เวลาพูดอักขระต้องชัดเจน น้ำเสียงต้องมีหนักเบา และที่สำคัญอย่าให้เขาจับได้ว่าเราท่องมา ซึ่งในการแนะนำตัวและแจ้งเรื่องราชการต่อที่ประชุมสภาตำบลซึ้งในวันนั้น ประเมินแล้วข้าพเจ้าทำได้ดีพอสมควรไม่ประหม่าเท่าที่ควร แต่เมื่อข้าพเจ้าลงท้ายด้วยคำพูดว่า “ต้องขอความร่วมมือต่อกำนันผู้ใหญ่บ้านในการดำเนินงานโครงการส่งเสริมกลุ่มอาชีพสตรีทำทุเรียนกวน “ คำพูดที่กำนันประสารตอบกลับว่า “ ถ้าคิดว่าจะทำโครงการนี้ก็ขอให้พัฒนากรมาลองดูเอาเองก็แล้วกัน” และท่าทีเฉยเมยที่ไม่ให้ความสำคัญต่อพัฒนากรหน้าใหม่และโครงการนี้เท่าไร เท่านั้นแหล่ะ หัวใจของข้าพเจ้าที่พองโตว่าข้าพเจ้าพูดจาได้ดีพอสมควร ก็ฝ่อแฟบลงทันที

เมื่อกลับบ้านพักข้าพเจ้าก็นั่งคิดนอนคิดว่าจะทำอย่างไรให้กำนันตำบลซึ้ง ยอมรับในตัวเราให้ได้ จนในที่สุดก็ตกผลึกความคิดว่า จะต้องไม่รุกเร้าและเร่งที่จะดำเนินการเรื่องโครงการดังกล่าวในขณะนี้ ถ้าเรารุกเดี๋ยวเขาจะถอย เนื่องจากกำนันยังไม่รู้จักมักจี่เรา ผู้นำสตรีตำบลซึ้งซึ่งเป็นแกนนำของกลุ่มเป้าหมาย เราก็รู้จักแต่ชื่อ แต่ยังไม่เคยพบปะและไม่รู้จักบ้านด้วยว่าอยู่ที่ไหน มืดแปดด้านไปหมด ข้าพเจ้าจำได้จากการฝึกอบรมก่อนประจำการว่า จะต้องสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนก่อนอื่นใด แต่ที่ไหนล่ะที่จะมีผู้คนให้ข้าพเจ้าไปผูกมิตรสัมพันธ์ได้ดีเท่าที่วัด

เมื่อคิดได้ดังนั้นข้าพเจ้าก็เริ่มต้นที่ “วัดกงษีไร่ “ ทันที ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านของกำนัน ข้าพเจ้าตรงเข้าไปที่กุฏิของแม่ชีหลังหนึ่ง ไปแนะนำตัวสนทนาอยู่ด้วยเป็นนาน และเมื่อแม่ชีชวนข้าพเจ้าให้ทานข้าวกลางวัน ข้าพเจ้าก็ไม่ยอมละโอกาส และในขณะนั้น เรื่องโครงการส่งเสริมอาชีพกลุ่มสตรีทำทุเรียนกวน ยังคงเวียนวนอยู่ในสมองของข้าพเจ้าตลอดเวลา เมื่อสบโอกาสข้าพเจ้าถามแม่ชีว่า ถ้าจะไปพบกับผู้นำกลุ่มสตรีจะไปพบได้ที่ไหน แม่ชีบอกว่า “ก็ที่วัดนี่แหละหนูมาซิ ประธานกลุ่มสตรีตำบลนี้เป็นหลานของแม่ชีเอง ชื่อ “ฮวย” เขาและสมาชิกกลุ่มสตรีจะพากันมาทำบุญที่วัดนี้ทุกวันพระ “ เท่านั้นแหละข้าพเจ้าก็รีบจดบันทึกไว้เลยว่าวันไหนคือวันพระ

และแล้วในวันพระถัดมา ข้าพเจ้าก็ได้พบกับ “ป้าฮวย” ประธานกลุ่มสตรีตำบลซึ้งและสมาชิกกลุ่มสตรีอื่น ๆ อีกมากมายสมใจ และได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับกลุ่มสตรีหลังทำบุญเลี้ยงพระเรียบร้อยแล้ว แต่ยังก่อนข้าพเจ้าตั้งใจแล้วว่าจะไม่ผลีผลามพูดเรื่องงานใด ๆ ทั้งสิ้น ในขณะนี้พบกลุ่มเป้าหมายแล้วอดใจไว้ก่อน สร้างความสัมพันธ์ก่อนค่อยพูดเรื่องงานภายหลัง และพวกเขาก็ดูจะเอ็นดูข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากทราบว่าข้าพเจ้าเป็นขาประจำอาหารกลางวันที่กุฏิของแม่ชี ซึ่งเป็นป้าของประธานกลุ่มสตรีและที่สำคัญ แม่ชีท่านนี้คือ “แม่ยาย”ของกำนันนั่นเอง และในวัดนี้เองข้าพเจ้าได้รู้จัก ภรรยากำนัน ชื่อ “เรณู” ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญคนหนึ่งของกลุ่มสตรีตำบลซึ้ง

ข้าพเจ้าใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ในการใช้รถจักรยานยนต์เข้า-ออกพื้นที่ตำบลซึ้ง แวะไปหาทักทายทำความรู้จักบ้านของกำนัน และผู้ใหญ่บ้านต่าง ๆ จนเข้านอกออกในบ้านกำนันได้อย่างดี เนื่องจากสนิทสนมกับภรรยากำนัน ซึ่งข้าพเจ้าเรียกว่า “แม่” และทำให้กำนัน พลอยเอ็นดูข้าพเจ้าเหมือนลูกหลานไปด้วย และเรียกตัวเองว่า “พ่อ” ในเวลาต่อมา และที่สำคัญข้าพเจ้าไม่เคยลืมพกกล้องประจำตัว เพื่อถ่ายภาพกิจกรรมในวันสำคัญต่าง ๆ ในตำบล เช่นวันพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งข้าพเจ้าใช้เป็นเทคนิคในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในหมู่บ้านซึ่งได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะ ข้าพเจ้าเข้าใจดีว่า ใคร ๆ ก็อยากเห็นภาพตัวเองปรากฎอยู่ในกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้าน

เมื่อคิดว่าสุกงอมดีแล้วข้าพเจ้าก็ลุยเรื่องโครงการส่งเสริมอาชีพกลุ่มสตรีทำทุเรียนกวนทันที ซึ่งเป็นภาระหนักอกหนักใจตลอดเวลาด้วยกลัวว่าจะเบิกจ่ายงบประมาณไม่ทัน และเพื่อแสดงความโปร่งใสของการเบิกจ่ายงบประมาณของทางราชการ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงให้ทางตำบลเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เบื้องต้น ตั้งแต่รายการวัสดุที่จำเป็นต้องใช้ในโครงการข้าพเจ้าจะให้ทางกลุ่มสตรีเป็นผู้ไปเลือกและตกลงราคากับร้านค้าด้วยกันกับข้าพเจ้า เพื่อแสดงความโปร่งใสในการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งในที่สุดก็สามารถเข้าถึง กลุ่มเป้าหมายจนได้และโครงการของข้าพเจ้าก็สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ในเวลาต่อมาไม่ว่าข้าพเจ้าจะขอความร่วมมือในเรื่องใด กำนันผู้ใหญ่บ้านและกลุ่มสตรี จะช่วยเหลือเป็นกำลังสำคัญให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งผลงานเชิงประจักษ์ที่ยังคงเป็นความภาคภูมิใจของข้าพเจ้าจนถึงปัจจุบัน คือตำบลซึ้งได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของจังหวัดส่งโครงการสร้างฝายน้ำล้น ซึ่งเป็นโครงการ กสช.(โครงการสร้างงานในชนบท) เข้าประกวดและได้รับรางวัลรองชนะเลิศระดับภาคประจำปี 2533 ได้รับรางวัลเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท ซึ่งทางตำบลซึ้งได้นำไปต่อยอดการพัฒนาโดยทำถนนลูกรังในหมู่บ้าน และในปีนั้นเองส่งผลทำให้พัฒนากรมือใหม่อย่างข้าพเจ้าได้รับการพิจาณาความดีความชอบเลื่อนขั้นเงินเดือน 2 ขั้น

ความประทับใจที่ข้าพเจ้ามีต่อตำบลซึ้งไม่เคยจืดจางไปจากความทรงจำเลย และเหนือสิ่งอื่นใดคำเรียกขานที่กำนันผู้ใหญ่บ้านเรียกข้าพเจ้าว่า “พัฒนา” ข้าพเจ้าคิดว่า ช่างเป็นชื่อเรียกขานที่ไพเราะและข้าพเจ้าภาคภูมิใจมาก เพราะบ่งบอกว่าชาวตำบลซึ้งยอมรับแล้วว่าข้าพเจ้าคือตัวแทนของกรมการพัฒนาชุมชน ของที่ระลึกนาฬิกาตั้งโต๊ะ ที่ข้าพเจ้าได้รับจากชาวตำบลซึ้ง ในคราวย้ายกลับภูมิลำเนาจังหวัดชลบุรี ปัจจุบันข้าพเจ้ายังคงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี และยังคงระลึกถึงอยู่เสมอว่า “ตำบลซึ้ง” แห่งนี้ได้สร้างพัฒนากรมือใหม่ในครั้งนั้นให้มีผลงานและมีความภาคภูมิใจในความเป็น”พัฒนากรประจำตำบล” และเป็นนักพัฒนาชุมชนตัวแทนของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ส่งผลต่อความมุ่งมั่นในการทำงานจนถึงปัจจุบันนี้

ขุมความรุ้
1. การปฏิบัติงานในตำแหน่งพัฒนากรซี่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และไม่คุ้นเคยทั้งสถานที่ ผู้คนและงานในพื้นที่ ทำให้มีความวิตกกังวลและไม่เชื่อมั่นในตนเองว่าจะปฏิบัติงานในตำแหน่งนี้ได้
2. การเตรียมความพร้อม โดยศึกษาเรียนรู้และซักซ้อมให้ดีทำให้มีความมั่นใจและสามารถปฏิบัติงานได้เมื่อต้องปฏิบัติงานจริง
3. การหาที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือ ทำให้มีแนวปฎิบัติที่ดี ทั้งมีกำลังใจที่จะฝ่าฟันงานให้สำเร็จลุล่วงได้
4. การสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน โดยเข้าถึงบุคคลและกลุ่มคนเป้าหมายในการทำงาน ทำให้งานบรรลุเป้าหมาย ดีกว่าที่จะไปเร่งรัดเอางานเข้าไปยัดเยียดโดยที่ชุมชนยังไม่ยอมรับในตัวเจ้าหน้าที่
5. การทำงานโดยยึดหลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนส่งผลต่อความเชื่อมั่นและไว้วางใจในเจ้าหน้าที่ของรัฐและส่งผลต่อความร่วมมือที่นำไปสู่ความสำเร็จของงาน
6. ความศรัทธาและภาคภูมิใจในหน่วยงาน และบทบาทภาระหน้าที่ของตนเอง ผลงานที่เกิดขึ้น และได้รับการยอมรับจากผู้ที่ร่วมงาน ส่งผลต่อแรงบันดาลใจในการทำงานให้มีประสิทธิภาพในครั้งต่อๆไป

แก่นความรู้
1. สร้างความมั่นใจ : งานใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์ ต้องใฝ่ใจเรียนรู้ให้เกิดทักษะและความชำนาญ
2. สร้างความสัมพันธ์ชุมชน : พื้นที่ใหม่ คนใหม่อย่าใจร้อนเร่งรัดงาน ต้องเร่งสร้างสัมพันธ์กับบุคคลและกลุ่มคนก่อน เรียนรู้คน พิ้นที่ และงานที่จะทำในพื้นที่ ให้ได้ใจจึงจะได้งาน
3. สร้างความไว้วางใจ : การทำงานที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณของทางราชการ ต้องยึดมั่นในความสุจริต โปร่งใส และคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายผู้เกี่ยวข้อง และยึดระเบียบแบบแผนของทางราชการ
4. สร้างแรงบันดาลใจ : ความศรัทธาที่มีต่อหน่วยงาน ความภาคภูมิใจต่อตนเองและต่องานที่มุ่งให้เกิดผลต่อประชาชนและองค์กรของตนเองเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้อดทนต่อความยากลำบากของงานและสิ่งแวดล้อมได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น