วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บทเรียนจากหมู่บ้าน กข.คจ.ปี 2542

ชื่อ – นามสกุล นางอนัญพร ลีรัตนชัย
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก 0-8993-9848-8
ชื่อเรื่อง บทเรียนจากหมู่บ้าน กข.คจ.ปี 2542
เป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ การไม่ชำระคืนเงินยืมโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.)
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ ปี 2546
สถานที่เกิดเหตุ บ้านเดโช หมู่ที่ 7 ตำบลคลองอุดมชลจร

เนื้อเรื่อง
โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ของอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา มีทั้งสิ้น 26 หมู่บ้าน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีทั้งหมู่บ้านที่มีการคืนเงินยืมเป็นไปตามระเบียบของแต่ละกองทุน และมีหมู่บ้านอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ปฎิบัติตามระเบียบของกองทุน คือไม่คืนเงินยืม และคืนเงินยืมไม่ตรงตามกำหนด ซึ่งเป็นการเอาอย่าง หรือเลียนแบบที่จะทำตามหมู่บ้านที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของกองทุน กข.คจ. จึงทำให้เกิดปัญหากับเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการกองทุน กข.คจ. ที่ต้องเร่งรัดการคืนเงินยืมให้เป็นไปตามระเบียบของ แต่ละกองทุนที่วางไว้
.
บ้านเดโช หมู่ที่ 7 ตำบลคลองอุดมชลจร ก็ประสบกับปัญหาการไม่คืนเงินยืมของสมาชิกบางคน โดยอ้างว่าที่อื่นสมาชิกเขาไม่คืนกันเลย ก็ไม่เห็นจะเป็นอย่างไร กรรมการอยากฟ้องก็ฟ้องไป ทำให้คณะกรรมการกองทุน กข.คจ. และเจ้าหน้าที่ต้องมาระดมความคิดกันว่าจะมีมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าเรื่องการทวงหนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องค่อยเป็นค่อยไป ต้องใช่เทคนิคในการพูดเพื่อให้ลูกหนี้คืนเงินยืม โดยไม่ให้เขามีความรู้สึกว่ากำลังถูกบังคับ ซึ่งได้กำหนดมาตรการได้แก่
.
1. ออกไปพบปะพูดคุยกับผู้ที่ไม่คืนเงินเป็นรายครัวเรือน โดยการส่งตัวแทนคณะกรรมการที่คิดว่าครัวเรือนนั้นให้ความเคารพ และเชื่อถือไปพูดคุย
2. สอบถามปัญหา/อุปสรรคของครัวเรือนถึงสาเหตุที่ไม่สามารถคืนเงินยืมได้
3. ปัญหาที่พบคือ หมู่บ้านใกล้เคียงไม่คืนเงิน จึงอยากทำตาม โดยไม่คืนเงินบ้าง

4. คณะกรรมการต้องชี้แจงเหตุผลที่ต้องมีการคืนเงินตามระเบียบของกองทุนฯ และผลดีของการคืนเงินยืมตามกำหนดแก่สมาชิก เพื่อรักษาเครดิตของหมู่บ้านไม่ให้มีปัญหาเรื่องการบริหารเงินโครงการที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล เช่น โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) โครงการกองทุนหมู่บ้าน หรือโครงการอื่นๆ เพื่อหมู่บ้านจะได้รับการจัดสรรงบประมาณมาให้อีก เนื่องจากประชาชนมีจิตสำนึกในการบริหารจัดการทุนที่มีอยู่ให้ยังคงอยู่ต่อไป และมีเงินทุนเพิ่มขึ้น

5. ชี้แจงถึงประโยชน์ของเงินกองทุน กข.คจ. ให้ครัวเรือนที่มีปัญหาเห็นว่า เงินดังกล่าว ทำให้เรามีเงินหมุนเวียนประกอบอาชีพ โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย หากไปกู้จากที่อื่นก็ต้องเสียดอกเบี้ยตามที่ ผู้ให้กู้กำหนด และหากเราไม่คืนเงินแก่เจ้าหนี้ก็จะถูกดำเนินคดี หรือทำให้เราเดือดร้อนได้

6. พัฒนากรออกเยี่ยมเยียนครัวเรือน และติดตามการดำเนินงานอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

จากการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น ต้องอาศัยเวลาในการพูดคุยหลายครั้งซึ่งต้องอาศัยความอดทนเป็นอย่างมาก จนในปัจจุบันครัวเรือนยืมเงินมีการชำระเงินคืนตามกำหนดทุกครัวเรือน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น