วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

โครงการแปรรูปเนื้อสัตว์บ้านสนามช้าง


ชื่อ – นามสกุล นางสายสุนีย์ เสาวภาภรณ์
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชน ชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ 08- 1686- 5532
ชื่อเรื่อง โครงการแปรรูปเนื้อสัตว์บ้านสนามช้าง
เป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ ส่งเสริมอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2543
สถานที่ บ้านสนามช้าง หมู่ที่ 4 ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า
จังหวัดฉะ เชิงเทรา
.
เนื้อเรื่อง
ในปี พ.ศ. 2540 ข้าพเจ้า นางสายสุนีย์ เสาวภาภรณ์ ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติ ราชการในตำแหน่ง เจ้าพนักงานพัฒนาชุมชน ระดับ 5 ณ. สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้รับการแต่งตั้งเป็นพัฒนากรผู้ประสานงานตำบลเสม็ดใต้, ตำบลบางสวนและตำบลสาวชะโงก เมื่อข้าพเจ้าได้ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ตำบลเสม็ดใต้ และศึกษาข้อมูลของ บ้านสนามช้าง หมู่ที่ 4 ตำบลเสม็ดใต้ ได้ข้อมูลดังนี้
.
สภาพทั่วไปของของหมู่บ้าน สนามช้าง เป็นที่ราบลุ่ม อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอบางคล้า ระยะทาง 13 กม. เป็นถนนลาดยาง ทุกครัวเรือนใช้ไฟฟ้า มีร้านค้าขาย จำนวน 35 ร้าน ประชาชนใช้น้ำจากแหล่งน้ำตามธรรมชาติในการทำ การเกษตร เช่นคลองลำผักชี, คลองวังซุง มีพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 3,678 ไร่ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจำนวน 249 ครัวเรือน จำนวนประชากร 612 คน แยกเป็นชาย 309 คน เป็นหญิง 303 คน ลักษณะบ้านเรือนจะอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่ม
.
ประชาชนมีอาชีพต่างๆดังนี้
1. อาชีพทำสวนผลไม้ จำนวน 23 ครัวเรือน ใช้พื้นที่ทำสวน 170 ไร่
2. อาชีพทำสวนผัก จำนวน 5 ครัวเรือน ใช้พื้นที่ 40 ไร่
3. อาชีพเลี้ยงปลา และเลี้ยงกุ้ง จำนวน 18 ครัวเรือน ใช้พื้นที่ ครัวเรือนละ 15 ไร่
4. อาชีพรับจ้างและทำงานโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 167 ครัวเรือน

จากการสำรวจข้อมูลบ้านสนามช้าง พบว่ารายได้ทางด้านเศรษฐกิจชุมชน มีปัญหาลำดับแรก ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทางด้านการเกษตร ในหมู่บ้านมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ประชาชนที่มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปี ที่จบการศึกษาชั้นมัธยมปลาย จะออกมาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ อาชีพทางการเกษตรที่พ่อแม่ทำไว้จะไม่มีใครสนใจทำต่อ โดยสาเหตุดังนี้
1. อาชีพเดิมต้องลงทุนส่วนตัว เสี่ยงต่อการขาดทุนเพราะราคาผลผลิตไม่แน่นอน
2. ต้องเป็นหนี้ธนาคารหรือนายทุน เพื่อนำเงินมาลงทุนซื้อวัตถุดิบ
3. ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ผลผลิต ทุนเดิมที่มีอยู่ก็จะหมดไป
4. ต้องใช้แรงงานตนเอง ไม่มีเวลาให้กับสังคม
.
เมื่อเด็กเยาวชนเข้าสู่ระบบโรงงานอุตสาหกรรม หมู่บ้านจะมีคนสูงอายุที่ไม่ได้ทำงานอยู่เฝ้าบ้าน ส่วนคนวัยกลางคนทั้งชาย และหญิง ก็จะทำงานอาชีพการเกษตรเดิม คือ การเลี้ยงกุ้ง กุลาดำ กุลาขาว กุ้งกรามก้าม เลี้ยงปลาเบญจพันธ์ เลี้ยงวัว รับซื้อเนื้อสุกร และทำสวนมะม่วง ทำให้การทำอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย
ผู้นำองค์กรสตรีจึงรวมตัวกัน เพื่อจะแก้ไขปัญหาให้กับครอบครัว โดยการฝึกอบรมอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ ข้าพเจ้าได้เข้าไปร่วมประชุมกับคณะกรรมการพัฒนาสตรี จึงได้รับทราบปัญหาและความต้องการ จึงได้เสนอให้รวมกลุ่มและส่งรายชื่อที่ประสงค์จะฝึกอบรมอาชีพ พร้อมตั้งชื่อกลุ่ม ว่า กลุ่มสตรีแปรรูปเนื้อสัตว์ และได้ ทำโครงการฝึกอบรมอาชีพแปรรูปเนื้อสัตว์ บ้านสนามช้าง เพื่อของบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้ จำนวน 20,000 บาท และทำหนังสือขอรับการสนับสนุน วิทยากรจาก วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา และได้ดำเนินการฝึกอบรม เมื่อวันที่ 25 – 29 กันยายน 2543 โดยใช้สถานที่ โรงครัววัดสนามช้างเป็นสถานที่ฝึกอบรม มีคณะกรรมการพัฒนาสตรี ทั้งหมด 6 หมู่บ้านจำนวน 40 คน โดยวิทยากร ได้สอน ทำกุนเชียง ไส้กรอกอีสาน แคปหมู แหนมเนื้อหมูและซี่โครงหมู หมูหยอง หมูแผ่น หมูสวรรค์ หมูกรอบและหมูแดง
.
หลังจากปิดการอบรมแล้ว สมาชิกกลุ่ม นำความรู้ไปประกอบอาชีพ ทำแคปหมู ส่งตามร้านขายก๊วยเตี๋ยว ร้านขายของชำทั่วไป จำนวน 2 ราย สมาชิกบางคนได้ไปฝึกทักษะเพิ่มโดยการทำหมูยอ ปลายอ และไก่ยอ ต่อมาความต้องการของตลาดลดลง จึงขยายการผลิตเพิ่มผลผลิตเป็น ปลาซิวแก้ว และได้จดทะเบียน เป็นผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP ) ในปี พ.ศ. 2549 ได้สมัครคัดสรร ได้ระดับ 3 ดาว ปี พ.ศ. 2551 สมัครคัดสรร ได้ระดับ 4 ดาว
.
บันทึกขุมความรู้( Knowledge Assets )
- การสำรวจข้อมูลของหมู่บ้าน
- การประชุมกับองค์กรสตรี ได้ทราบปัญหาและความต้องการ
- การจัดทำโครงการ เพื่อของบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล
- การจัด ทำหนังสือขอรับการสนับสนุน วิทยากรจาก วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา
- การฝึกอบรมทำอาหารที่เป็นการถนอมอาหารไว้ได้นาน
- การขยายผลจากความคิดริเริ่มของกลุ่มที่รับความรู้ไป และไปขยายความรู้เริ่ม
จากการทำ หมูยอ ปลายอ ไก่ยอ
- การขยายผลต่อจากเดิม โดยการนำปลาซิวมาทอดปรุงรสให้ได้ตามที่ตลาด
ต้องการ และตั้งชื่อว่า ปลาซิวแก้ว
- การขอรับรองมาตรฐาน เช่น มาตรฐาน มผช. , อย.
- การขยาย โอกาสทางการตลาด
- การจดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP
.
แก่นความรู้ ( Core Competencies )
- ศึกษาปัญหา รับทราบข้อมูล
- ประชุมกลุ่มเพื่อปรึกษาหาแนวทาง
- การดำเนินการหางบประมาณ และวิทยากร
- การดำเนินงานปฏิบัติจริง
- การขยายโอกาสของผลิตโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์
.
กลยุทธ์ในการทำงาน
1.ศึกษาปัญหา รับทราบข้อมูล
ก่อนการดำเนินงาน ได้ศึกษาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ผู้รับผิดชอบตำบล เช่น ปลัดอบต. เกษตร สาธารณสุข และจากผู้นำองค์กร เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ประธานสตรี ผู้นำ อช. และจากข้อมูลทั่วไปของแผนชุชน
2. ประชุมกลุ่มเพื่อปรึกษาหาแนวทาง
ดำเนินการเรียกประชุมสมาชิกสตรี ที่มีปัญหาและมีความต้องการในการฝึกอาชีพ เพื่อจะได้คนที่จะอบรมอย่างแท้จริง ศึกษาแหล่งที่มาของวัตถุดิบ
3. การดำเนินงานหางบประมาณและวิทยากร
โดยการประสานกับองค์การบริหารส่วนตำบล ทำโครงการของงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฝึกอบรม และประสานทางวิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา เพื่อขอวิทยากรที่มีความชำนาญมาเป็นผู้สอน
4. การดำเนินงานปฏิบัติจริง
ผู้เข้ารับการฝึกอบรม รู้ขั้นตอนการสอน ทำอาหารแต่อย่างได้อย่างถูกต้อง สามารถนำไปทำให้ครอบครัวรับประทาน หรือจำหน่ายสร้างรายได้
5. การขยายโอกาสทางการผลิตโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์
กลุ่มได้ขยายการผลิตเพิ่มผลผลิตเป็น ปลาซิวแก้ว และได้จดทะเบียน เป็นผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP ) ในปี พ.ศ. 2549 ได้สมัครคัดสรร ได้ระดับ 3 ดาว ปี พ.ศ. 2551 สมัครคัดสรร ได้ระดับ 4 ดาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น