วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

ปฏิบัติการแก้จน “Smile Team”

เจ้าของความรู้ชื่อ  สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา

กระบวนการจัดทำองค์ความรู้    
  1. ประชุมร่วมเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนระดับจังหวัด/อำเภอ และภาคประชาชน ได้แก่ ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนและผู้นำชุมชน เพื่อพิจารณาจัดทำองค์ความรู้ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยกำหนดหลักเกณฑ์องค์ความรู้ต้องมาจากผลการดำเนินงานระดับองค์กรที่ประสบความสำเร็จ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน
  2. ผู้เข้าร่วมประชุม ให้ข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ตลอดจนร่วมจัดทำร่างองค์ความรู้
  3. มอบหมายให้คณะทำงาน KM ประกอบด้วย หัวหน้ากลุ่มงานทุกลุ่มงาน หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดผู้รับผิดชอบงาน KM นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดผู้รับผิดชอบงาน IPA และนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดผู้รับผิดชอบงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ร่วมจัดทำองค์ความรู้ ทบทวน ตรวจสอบ และเสนอต่อพัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา
  4. เผยแพร่องค์ความรู้ทางเว็บไซต์ http://kmcddccs.blogspot.com/ เว็บไซต์http://chachoengsao.cdd.go.th/ และเผยแพร่ผ่านการจัดรายการวิทยุชุมชน คนบางปรง FM 98.75 MHZ. ตำบลบางพระ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา


วัตถุประสงค์/ประโยชน์ขององค์ความรู้    
เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยการสร้างทีมปฏิบัติการมืออาชีพ ภายใต้ชื่อว่า Smile Team” แก้จนด้วยใจ

ความเป็นมา   
กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ด้วยการขจัดความยากจนในชนบท และกรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการ: ชี้เป้าชีวิต จัดทำเข็มทิศชีวิต บริหารจัดการชีวิต และดูแลชีวิต เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับครัวเรือน และสร้างความผาสุกให้กับประชาชนและครัวเรือนยากจนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตามแนวนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ด้วยการขจัดความยากจนในชนบท และตอบสนองต่ออุดมการณ์ของกระทรวงมหาดไทยในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชน สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยจังหวัดฉะเชิงเทราได้ใช้กระบวนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ 4 กระบวนงานหลักภายใต้โครงการบริหารจัดการครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 - 2557  และในปี 2557 ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาความยากจน “เรียนรู้ แบ่งปัน สร้างพลังแก้จนคนแปดริ้ว” ในปี 2558

ภายใต้ภาวะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกรมการพัฒนาชุมชน ที่มุ่งให้สำนักงานพัฒนาชุมชนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีการพัฒนา ในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ให้บรรลุผล แต่เนื่องจากการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจน ภายใต้ทีมปฏิบัติการระดับตำบลมีข้อจำกัดในหลายด้าน เช่น ทีมปฏิบัติการฯขาดความใกล้ชิดกับครัวเรือนยากจน หรือทีมปฏิบัติการฯมีเวลาว่างไม่ตรงกัน ทำให้การปฏิบัติงานแบบเข้าถึงประชาชนขาดความต่อเนื่อง และขาดความเข้าใจถึงสภาพครัวเรือนยากจนในเชิงลึก ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดในการดำเนินงานบริหารจัดการครัวเรือนยากจน โดยมุ่งเน้นให้ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน(ผู้นำ อช.) ซึ่งเป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ร่วมกับพัฒนากรผู้ประสานงานตำบล และผู้เชี่ยวชาญ(พัฒนากรผู้รับผิดชอบงานแก้ไขปัญหาความยากจน) เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับครัวเรือน ภายใต้ชื่อทีม Smile Team”

แนวคิด/ทฤษฎีที่นำมาใช้ในการดำเนินงาน
  1. ทฤษฎีการมีส่วนร่วม  การมีส่วนร่วม คือ กระบวนการให้บุคคลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานพัฒนา ร่วมคิด ตัดสินใจ แก้ไขปัญหาด้วยตนเอง โดยเน้นการมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องอย่างแข็งขันของ บุคคล แก้ไขปัญหาร่วมกับการใช้วิทยาการที่เหมาะสมและสนับสนุน ติดตามการ ปฏิบัติงานขององค์การและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความยากจนจะบรรลุผลได้นั้น จำเป็นต้องใช้หลักการมีส่วนร่วม อันหมายถึง ความร่วมแรงร่วมใจกันของ Smile Team ที่มีปณิธานร่วมกันในการมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจน ให้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ครัวเรือนยากจนก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหา ทั้งการกำหนดทิศทาง แผนงาน และวิธีการพัฒนาตนเอง
  2. แนวคิดการสร้างผู้เชี่ยวชาญ เป็นการสร้างบุคคลให้เป็นผู้ชำนาญการในสายวิชาชีพ(การแก้ไขปัญหาความยากจน) โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Smile Team โดยผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้รู้เรื่องราวต่าง ๆ และสามารถให้คำปรึกษา และให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนได้


กระบวนการ/ขั้นตอน/วิธีปฏิบัติ
  1. ออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์ของ Smile Team  โดย Smile Team แต่ละทีมจะประกอบด้วย ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) จำนวน 1 คน พัฒนากรผู้ประสานงานตำบล (พก.) จำนวน 1 คน และผู้เชี่ยวชาญ (ชช.) ได้แก่พัฒนากรผู้รับผิดชอบงานแก้ไขปัญหาความยากจนของอำเภอ 1 คน  
  2. สร้าง Smile Team โดยให้พัฒนาการอำเภอและพัฒนากรประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนมาเข้าร่วมเป็น Smile Team ด้วยความสมัครใจ ทั้งนี้ ผู้ที่จะมาเป็น Smile Team จะต้องเป็นผู้ที่มีจิตอาสา เสียสละ พร้อมจะทำงานเพื่อส่วนรวม รวมถึงเป็นผู้ที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี สามารถสื่อสารและให้คำปรึกษาแก่ผู้อื่นได้  
  3. สร้างความเข้าใจในภารกิจหน้าที่แก่ Smile Team โดย Smile Team จะมีหน้าที่ติดตามดูแลครัวเรือนยากจนอย่างใกล้ชิด และเสมือนเป็นทีมปฏิบัติการระดับตำบล นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ในการให้คำแนะนำ ประสานงานกับหน่วยงาน/กลุ่มองค์กรต่างๆเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนยากจน
  4. จัดทำแผนปฏิบัติการ Smile Team


ผลที่เกิดขึ้นในเชิงสำเร็จ

  1. จังหวัดฉะเชิงเทรามี Smile Team ในการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเข้าถึงครัวเรือน จำนวน 31 ทีม
  2. Smile Team มีความรู้ความเข้าใจในภารกิจหน้าที่ สามารถปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจนตามกระบวนการแบบเข้าถึงและเข้าใจครัวเรือน มีความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
  3. Smile Team มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนยากจนระหว่างกัน และมีการต่อยอดทางความคิด
  4. ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการได้รับการช่วยเหลือดูแล มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีความสุขทางใจ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น