วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

ทำอย่างไรไม่ให้เกิดหนี้เสียในกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

เจ้าของความรู้  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสนามชัยเขต

วัตถุประสงค์ของความรู้    

เพื่อรู้เท่าทันและป้องกันต่อความบกพร่องอันอาจจะเกิดขึ้นก่อนเกิดความเสียหายต่อกองทุน รวมทั้งสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนพัฒนาสตรี  ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนของสมาชิกสตรีทั้งจังหวัด

ความเป็นมา   
กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นนโยบายของรัฐบาล ได้จัดตั้ง กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขึ้น มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย ในการสร้างโอกาสให้สตรีเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการลงทุน เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือสำหรับการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพ หรือสวัสดิการให้แก่สตรี /เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี การเฝ้าระวังและดูแลปัญหาของสตรี ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาสตรีที่ประสบปัญหาในทุกรูปแบบ การรณรงค์ให้สังคมเข้าใจปัญหาสตรีในทุกมิติ และการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี /เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการส่งเสริม สนับสนุนการจัดกิจกรรมในการพัฒนาบทบาทสตรีและแก้ไขปัญหาสตรีขององค์กรต่าง ๆ การสร้างภาวะผู้นำ การพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของสตรี /เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการสนับสนุนโครงการอื่นๆที่เป็นการแก้ไขปัญหาและ พัฒนาสตรี ตามที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติพิจารณาเห็นสมควร โดยจัดสรรเงินให้แก่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั้งในระดับจังหวัด เพื่อนำไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ โดยผู้ที่จะได้รับการจัดสรรเงินดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยเป็นสตรีหรือองค์กรสตรีที่มีการดำเนินงานและมีผลงานเกี่ยวกับการพัฒนา   การคุ้มครองช่วยเหลือสตรี
จากการติดตามสนับสนุนการดำเนินงานสมาชิกผู้ขอกู้ทุนหมุนเวียนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในปัจจุบัน  พบว่า  มีสมาชิกที่ได้กู้เงินบางส่วนไม่ปฏิบัติตามแนวทางการส่งใช้คืนเงินกู้ตรงตามกำหนดระยะเวลาในการขอกู้เงินจากกองทุน  เนื่องจากสาเหตุหลายประการ  เช่น  ตั้งใจไม่คืน  ประสบปัญหาความเดือดร้อน หรือจะนำไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ หรือจากสาเหตุอะไรก็ตาม   ดังนั้น  เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันและป้องกันความเสี่ยงก่อนเกิดความเสียหายอันจะเกิดขึ้นต่อกองทุน จึงจำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการและวิธีการป้องกันที่ดี   อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิก  ชุมชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง

กระบวนการ/ขั้นตอน
1.    ประชุมชี้แจงเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกคนเพื่อให้รับทราบถึงนโยบาย  ขั้นตอนการปฏิบัติ ให้มีความเข้าใจถูกต้องตรงกัน  เพราะที่ผ่านมาอาจรับทราบเพียงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานเท่านั้น
2.   เรียกประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบลทุกตำบลซักซ้อมความเข้าใจถึงวิธีการดำเนินงานเพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน เกี่ยวกับวิธีการ  ขั้นตอนการดำเนินงาน เอกสาร หลักฐานที่ต้องการทำเพิ่มเติม  โดยทำแนวทางปฏิบัติร่วมกันเพื่อปฏิบัติให้เหมือนกันทุกตำบล
3.  พิจารณาตั้งผู้แทนจากองค์กรอื่น เพื่อเป็นการทำงานแบบคู่ขนาน  เช่น ผู้นำ อช./อช./กพสม./กพสต. เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการวิเคราะห์โครงการ  ร่วมกับ  คกส.ต. เพราะ กพสม./กพสต.เป็นองค์กรที่ทำงานอยู่กับเรามานานและเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น  จะทราบข้อมูลในหมู่บ้านเป็นอย่างดี
4.   กำหนดวันให้สมาชิกส่งโครงการของแต่ละตำบล เช่น สมาชิกผู้ขอกู้เงินต้องส่งโครงการในแต่ละเดือนให้ตำบล  ไม่เกินวันที่  20   ของทุกเดือน  โดยให้ คกส.ต.ตรวจสอบ เอกสารให้ถูกต้องครบถ้วน ตามระเบียบและหลักเกณฑ์  ความเป็นไปได้ของโครงการ
5.   จนท.พัฒนาชุมชน  ร่วมประชุมกับ คกส.ต.  ตรวจสอบโครงการที่สมาชิกเสนอ/ความเป็นไปได้ของโครงการ/ความเสี่ยง  และมีการบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร
6.   ลงตรวจสอบพื้นทีอีกครั้ง   ดูความเป็นไปได้ของโครงการร่วมกับคณะกรรมการ
7.   กำหนดวันประชุมระดับอำเภอ  กลุ่มเป้าหมาย  ได้แก่  ผู้แทน คกส.ต.ทุกตำบล (อาจจะตำบลละ 4-5 คน)  คณะกรรมการวิเคราะห์โครงการ(ตามที่ได้รับการแต่งตั้ง จากข้อ 3)  ผู้แทนหน่วยงาน  เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน  สมาชิกผู้ยื่นคำขอกู้  เพื่อร่วมกันพิจารณากลั่นกรองระดับอำเภอ  เช่น  กำหนดทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน เพื่อปรึกษาหารือและกลั่นกรองโครงการขอรับเงินอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งปัจจุบัน กรรมการหลายคนถอดใจ  และไม่มีส่วนร่วมในการประชุม ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้มีหลายตำบลทั่วทั้งประเทศมองข้ามการทำงานในรูปของคณะกรรมการไป  โดยเฉพาะผู้แทนของหมู่บ้านที่มีสมาชิกยื่นคำขอกู้เงินจากกองทุนฯ ต้องเข้าร่วมด้วย   ห้ามขาดประชุมโดยเด็ดขาด  เพราะจะเป็นแหล่งข้อมูลในหมู่บ้านเป็นอย่างดี
8.  ก่อนการพิจารณาโครงการ  ควรเรียกสมาชิกผู้ขอกู้เงินในรอบเดือนนั้น รับฟังการชี้แจงรายละเอียด  ขั้นตอนเงื่อนไข   เวลาการพิจารณาให้ความเห็นชอบ  เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน  รวมทั้งสามารถป้องกันการปลอมแปลงเอกสารได้ด้วย
9.  ให้ คกส.ต.รวบรวมโครงการที่ขอเสนอกู้ที่ผ่านการเห็นชอบ ในระดับอำเภอ ส่งให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนผู้รับผิดชอบงาน  เป็นผู้รวบรวมส่งต่อให้จังหวัด ไม่เกิน  วันที่ 5 ของทุกเดือน
10.  จัดทำระบบการควบคุมโดยการจัดทำทะเบียนรายงวดการอนุมัติเงินกู้  และทะเบียนคุมลูกหนี้แต่รายตำบล   เพื่อควบคุมการกู้ – การส่งใช้เงินคืน ของแต่ละตำบล 
11. กรณีได้รับแจ้งผลการอนุมัติโครงการ  อำเภอเชิญ คกส.ต. และสมาชิกผู้ขอรับเงิน ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ  และทำสัญญาเงินกู้
12. ให้เจ้าหน้าที่เช็คข้อมูลตามฐานทะเบียนคุมลูกหนี้ทุกเดือน  ว่ากลุ่มไหนใกล้ครบ
กำหนดการชำระคืน   ให้ทำหนังสือแจ้งเตือนสมาชิกผู้กู้  โดยให้ประธาน คกส.ต.ซึ่งเป็นคู่สัญญาแจ้งเตือนล่วงหน้า อย่างน้อย  2-3  เดือน  เพื่อช่วยให้สมาชิกผู้กู้ได้รับทราบถึงกำหนดวันชำระคืน  เพื่อให้สมาชิกผู้กู้ได้มีระยะเวลาเตรียมพร้อมในการชำระหนี้
13. กรณีครบกำหนดชำระเงินคืน  แต่กลุ่มกู้เงินส่งไม่ตรงตามกำหนด  ให้แยกกลุ่มปัญหา ให้ชัดเจน  เช่น  กลุ่มที่ตั้งใจไม่คืนเงิน(ไม่ยอมชำระหนี้)   กลุ่มที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านการประกอบอาชีพกู้ไปแล้วทำไม่ประสบผลสำเร็จ (ไม่สามารถชำระหนี้) และกลุ่มที่นำเงินกู้ไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เป็นต้น
14.คกสต.และเจ้าหน้าที่ร่วมกันติดตามสนับสนุนอาชีพ ออกเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่อง  มีการปรึกษา แลกเปลี่ยนกัน ในเวทีประชุมประจำเดือนๆละ 1 ครั้ง 
15.กรณีการรับเงินชำระคืนจากสมาชิกผู้กู้  เมื่อ คกสต.ได้รับเงินชำระคืน  ให้ออกใบเสร็จให้ผู้กู้ไว้เป็นหลักฐาน  และนำหลักฐานการรับเงินคืนจากลูกหนี้พร้อมสำเนาใบโอนส่งให้อำเภอ   เพื่อรวบรวมส่งให้จังหวัดต่อไป   ต้องเน้นย้ำให้สมาชิกโอนเข้าบัญชีตำบลเท่านั้น  อย่าให้โอนเข้าบัญชีจังหวัด  และห้ามนำเงินสดมาชำระกับ คกสต. โดยเด็ดขาด
16.กรณีลูกหนี้ผิดนัด  ให้ดำเนินการติดตามทวงหนี้การกู้ยืมกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เช่น  ประสานทางโทรศัพท์   ทำหนังสือแจ้งเตือน ครั้งที่ 1  ครั้งที่ 2  ครั้งที่ 3 ออกเยี่ยมบ้าน เป็นต้น  หลังจากออกเยี่ยมบ้านหากไม่มาชำระหนี้ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
17.มีการประชาสัมพันธ์ฯงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้สมาชิกทราบอย่างสม่ำเสมอ  

ผลที่เกิดขึ้นในเชิงความสำเร็จ
1.  ไม่มีการค้างชำระหนี้ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หรือ อาจมี แต่ปัญหาน้อยมาก                คิดเป็นร้อยละ  1.37
2.  สมาชิกได้รับประโยชน์จากโครงการ จำนวน  73 โครงการ  365  คน คิดเป็นร้อยละ 75.25  จากผูเสนอโครงการทั้งหมด  97 โครงการ   485 คน 
3.  เป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้แก่สมาชิกผู้ได้รับเงินกู้  จากทั้งหมด 73 โครงการ   จำนวนเงิน  13,388,045  บาท   แยกเป็น
             Ø  ส่งตรงตามกำหนด จำนวน  47  โครงการ  คิดเป็นร้อยละ  64.38                                      
             Ø ยังไม่ครบกำหนดชำระ  จำนวน  25  โครงการ  คิดเป็นร้อยละ  34.25                                
             Ø ครบกำหนดแล้วยังไม่ชำระ  จำนวน  1  โครงการ คิดเป็นร้อยละ  1.3
4.  เงินกองทุนฯไม่สูญหาย และมีเงินทุนหมุนเวียนให้สมาชิกทุกคนได้เข้าถึงแหล่งทุน

5.  มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาคประชาชน  กลุ่มองค์กร และ ภาครัฐ

ปัญหา/อุปสรรค
1. คณะกรรมการอยู่ต่างหมู่กัน  จัดประชุมยาก หาเวลาตรงกันไม่ได้   
2. กรรมการส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องระเบียบ  วิธีการปฏิบัติ                 
3. กรรมการไม่มีค่าตอบแทนทำให้กรรมการส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจ          
4. กลไกการทำงานของ คกส.ต.ไม่เข้มแข็ง  
5. ระเบียบฯของกองทุน  ทำให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนไม่สามารถเข้าไปดำเนินงานในการบริหารจัดการกองทุนฯได้    
6. กรรมการไม่กล้าตัดสินใจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการ แม้จะทราบว่ามีความเสี่ยงในการขอรับเงิน 
7. คนทำงานมีน้อย

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
1.   คณะกรรมการฯต้องปฏิบัติตามระเบียบ  อย่างเคร่งครัด
2.   การให้ความร่วมมือของสมาชิกและบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกผ่าย
3.   การติดตาม  สนับสนุน  ให้ความรู้ ของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง
4.   การประชาสัมพันธ์ในทุกระดับ/ขั้นตอน ให้สมาชิกได้รับรู้รับทราบ สามารถลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้
5.   เอกสารที่สมบูรณ์  ถูกต้อง ครบถ้วน จะทำให้กลุ่มและกรรมการได้ตรวจสอบ  ทบทวนถึงเนื้อหาสาระในการปฏิบัติตามโครงการ  และสามารถพิจารณาความเป็นไปได้เบื้องต้นของโครงการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น