วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2558

รวมพลังแก้จน ด้วยชุมชนคนบางน้ำเปรี้ยว

ชื่อกลุ่มงาน   สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางน้ำเปรี้ยว
ชื่อเรื่อง        รวมพลังแก้จน  ด้วยชุมชนคนบางน้ำเปรี้ยว
เป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ   การแก้ไขปัญหาความยากจน

เนื้อเรื่อง    
จากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) เรื่องรายได้ครัวเรือนที่รายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 30,000 บาท/คน/ปี ถือว่าเป็นครัวเรือนยากจน ในส่วนของกรมการพัฒนาชุมชนได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนระดับครัวเรือน ให้สามารถพึ่งพาตนเองและชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยมีกระบวนการขับเคลื่อน 4 กระบวนงาน ได้แก่
กระบวนการที่ 1 ชี้เป้าชีวิตครัวเรือนยากจน เป็นการสร้างทีมปฏิบัติการตำบล จากภาคีการพัฒนาและผู้นำชุมชน ทำการศึกษาข้อมูล จปฐ.เพื่อระบุครัวเรือนเป้าหมาย
กระบวนการที่ 2  จัดทำเข็มทิศชีวิต หรือแผนที่ชีวิต ทีมงานระดับตำบล สร้างความรู้ ความเข้าใจและค้นหาช่องทาง วิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้ครัวเรือนเป้าหมายมีทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาให้พ้นจนกระบวนการที่ 3 บริหารจัดการชีวิต  การนำแผนที่ชีวิตในการพัฒนาคุณภาพชีวิตไปดำเนินการเอง และทีมปฏิบัติการนำบรรจุในแผนชุมชน แผนพัฒนาท้องถิ่นของ อบต.
กระบวนการที่ 4 ดูแลชีวิต ทีมปฏิบัติการตำบลและผู้นำชุมชน ได้ร่วมกันติดตามความก้าวหน้า การบริหารจัดการชีวิตของครัวเรือน ให้การสนับสนุน ดูแล

การดำเนินงานของทีมงานอำเภอบางน้ำเปรี้ยว
จัดทำทะเบียนรายชื่อครัวเรือนยากจน จากข้อมูล จปฐ.ปี 2557 มีจำนวน 15 ราย ส่งรายชื่อให้จังหวัด ทบทวน/ปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการปฎิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอ (ศจพ.อ.) จัดประชุมเตรียมความพร้อม แจ้งวัตถุประสงค์ แนวทางการดำเนินงาน กลุ่มเป้าหมาย และวางแผนการดำเนินงาน ทบทวน/ปรับปรุงคำสั่งแต่งตั้งชุดปฎิบัติการประจำตำบล ประกอบด้วยพัฒนากร ผู้เกี่ยวข้อง และผู้นำ อช. จัดประชุมทีมปฏิบัติการประจำตำบล ชี้แจงวัตถุประสงค์ แนวทางการดำเนินงานและกำหนดปฏิทินปฏิบัติงาน ตามกระบวนงาน 4 ขั้นตอน ได้แก่ กระบวนงานที่ 1 ลงพื้นที่ตรวจสอบและจำแนกสถานะครัวเรือนยากจนเป้าหมาย แยกสถานะได้ 3 ประเภท คือ ผ่านเกณฑ์เรื่องรายได้ จำนวน 1 ราย ต้องให้การสงเคราะห์ จำนวน 3 ราย และสามารถพัฒนาอาชีพได้ จำนวน 11 ราย จัดทำสมุดบันทึกการแก้ไขปัญหาความยากจนรายครัวเรือน (Family Folder) โดยทีมปฏิบัติการตำบลและครัวเรือนยากจน กระบวนงานที่ 2 ทีมปฏิบัติการแก้จนและครัวเรือนเป้าหมาย จัดทำแผนชีวิต หรือแผนพัฒนาครัวเรือนยากจน โดยมีการลงนามร่วมกัน กระบวนงานที่ 3 จัดประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ (ศจพ.อ.) เพื่อวางแผนหรือประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การส่งเสริม สนับสนุนหรือให้การช่วยเหลือ จัดคลินิกแก้จนเพื่อให้คำปรึกษาอาชีพทางเลือก การฝึกอาชีพ และสาธิตการส่งเสริมการประกอบอาชีพให้แก่ครัวเรือนยากจน โดยอำเภอได้สาธิตการทำน้ำยาล้างจานเพื่อลดรายจ่ายให้แก่ครัวเรือนยากจน

ทีมปฏิบัติการตำบลประสานหน่วยงานให้การช่วยเหลือ สนับสนุนการประกอบอาชีพ และให้การสงเคราะห์  ประสานภาคเอกชน องค์กรการกุศลให้การช่วยเหลือด้านอุปโภค บริโภค ด้านที่อยู่อาศัย ด้านสุขภาพอนามัย และเงินสงเคราะห์ครอบครัว ภาคราชการส่งเสริม สนับสนุนด้านอาชีพ ได้แก่ เลี้ยงปลา กบ ไก่ การปลูกเห็ด ปลูกมะนาว นอกจากนี้ ผู้นำ อช.และเจ้าหน้าที่บางรายยังให้การส่งเสริม สนับสนุน ช่วยเหลือ แนะนำ ครัวเรือนยากจน เช่น จัดซื้อมะนาวให้ครัวเรือนยากจน แนะนำด้านการ ตลาด การจัดทำบัญชีครัวเรือน การดูแลสุขภาพ กระบวนงานที่ 4 ดูแลชีวิต ทีมปฏิบัติการประจำตำบล ติดตามดูแลความก้าวหน้าการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจน อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง และปรับแผนให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง และรับทราบปัญหา อุปสรรค ในการประกอบอาชีพ พร้อมหาทางแก้ไขปัญหา เมื่อดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด จัดทำสรุปผลการดำเนินงาน ซึ่งบางครัวเรือนเกิดรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต เช่น ขายไข่ไก่ กบ เห็ดนางฟ้า บางครัวเรือนยังไม่มีรายได้เนื่องจากยังไม่ได้ผลผลิต เช่น มะนาว รายงานให้จังหวัดทราบ  ถอดบทเรียนครัวเรือนต้นแบบ  จัดทำเอกสารเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนทราบเพื่อ
ให้การสนับสนุนในโอกาสต่อไป
  
ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน
             1.อาชีพที่ขอรับการสนับสนุนไม่มีความถนัด เนื่องจากเห็นตัวอย่างจากคนรอบข้างที่ทำได้ดี
แต่ในครัวเรือนยากจนไม่มีทักษะ ประสบการณ์ ความถนัด จึงทำได้ไม่ดี ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
             2.สถานการณ์ สภาพอากาศ สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากในช่วงที่ได้รับการสนับสนุนวัสดุประกอบอาชีพอยู่ในช่วงหน้าแล้ง น้ำน้อย อากาศร้อนจัด น้ำมีอุณหภูมิสูง การเลี้ยงปลา เลี้ยงกบจึงไม่เติบโต หรือตายไปเป็นจำนวนมาก
             3.งบประมาณสนับสนุนมีจำนวนจำกัดและไม่ต่อเนื่อง การประกอบอาชีพของครัวเรือนยากจนจึงไม่สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
             4.ครัวเรือนที่ได้รับการพัฒนาอาชีพ มีสมาชิกในครัวเรือนจำนวนมากหรือมีคนชรา หรือมีความพิการทางด้านร่างกาย จิตใจ การประกอบอาชีพมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย

ขุมความรู้
             การดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ จึงจะสามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพ ดังนี้
             1.การประสานความร่วมมือ ควรจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจผู้เกี่ยวข้อง และวางแผนร่วมกัน เพื่อการรับทราบและยอมรับร่วมกัน และเพื่อเพิ่มระดับความร่วมมือ ควรจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่างหน่วยงาน จัดทำหนังสือเชิญเป็นทางการ การโทรศัพท์ประสานอีกครั้ง การสร้างความคุ้นเคย และการให้ความร่วมมือกับส่วนราชการอื่นๆ 
             2.การปฏิบัติงานในพื้นที่ ทีมปฏิบัติการประจำตำบลมีส่วนสำคัญในการพูดคุย ทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ครัวเรือนยากจน จีงต้องมีความเข้าใจ เข้าถึง จริงใจ จริงจัง อดทน เสียสละ ให้การช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน เสริมสร้างกำลังใจ และติดตามอย่างต่อเนื่อง

แก่นความรู้
             1.ความยากจนไม่ได้เกิดจากรายได้น้อยเพียงอย่างเดียว การแก้ไขปัญหาความยากจนจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆไปพร้อมกันด้วย เช่น ด้านสุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัย ความรู้ความสามารถ
             2.ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ และงบประมาณที่จำกัด
ควรให้ระยะเวลาและงบประมาณที่ต่อเนื่องมากกว่าครั้งเดียวหรือปีเดียว
             3.ควรสนับสนุนให้ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.)เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน
แก้ไขปัญหาความยากจน เนื่องจากมีความคุ้นเคยในพื้นที่และครัวเรือนยากจน ทำให้ทราบรายละเอียดและความไว้ใจให้แก่ครัวเรือนยากจน
             4.สร้างเครือข่ายบูรณาการแก้จน เพราะการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ดี ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนรอบด้าน ในการช่วยดูแล เอาใจใส่
             5.โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูณาการ เน้นการบูรณาการจากทุกภาคส่วน และทุกระดับ ซึ่งมีตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน  สมาชิก อบต. ผู้นำชุมชน  คณะกรรมการพัฒนาสตรี และคนในชุมชน คอยดูแลช่วยเหลือ เอาใจใส่ครัวเรือนยากจน ระดับตำบล  ทีมปฏิบัติการระดับตำบลมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ ให้ครัวเรือนยากจนปฏิบัติจนเกิดผลงาน สามารถสร้างรายได้ให้ครัวเรือนยากจนได้ ระดับอำเภอมีคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการปฎิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอำเภอ และจังหวัด (ศจพ.อ.) และ(ศจพ.จ.) ทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน วางแผน ติดตาม แนะนำ การดำเนินงานพร้อมแก้ไขปัญหา ดังนั้นในแต่ละระดับจึงต้องรวมพลังจัดให้มีการประชุมวางแผนขับเคลื่อนโครงการร่วมกัน และเชื่อมโยงระหว่างระดับ

อย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีการติดตาม สรุปผลการดำเนินงานและประเมินผลงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น