วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต


ชื่อ-นามสกุล นายอนิรุธ ชาตะวราหะ
ตำแหน่ง พัฒนาการอำเภอสนามชัยเขต
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชน อ.สนามชัยเขต
เบอร์โทรศัพท์ 086-009-7700
ชื่อเรื่อง กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
เป็นการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ ความยากจน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ปีพ.ศ.2553
สถานที่ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านกระบกเตี้ย หมู่ที่ 5 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา เริ่มจัดตั้งในปีพ.ศ.2546 มีสมาชิกร่วมก่อตั้ง 48 คน สาเหตุในการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์สืบเนื่องมาจากผู้นำได้เข้าร่วมฝึกอบรมโครงการ “เรียนรู้ ดำรงชีวิต ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง” ที่จัด โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ผู้นำได้นำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอด แลกเปลี่ยนกับราษฎรในหมู่บ้าน ซึ่งมีราษฎรจำนวน 48 คน มีความคิดในแนวทางเดียวกันว่าควรมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตขึ้นเพื่อพัฒนาคนในหมู่บ้าน ให้เรียนรู้ความพอเพียง ความพอดีของแต่ละครอบครัว ลด ละ เลิก ความฟุ่มเฟือย เรียนรู้ที่จะใช้เงินที่หามาได้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความขยันในการประกอบอาชีพ มีการอดออม ยึดถือสัจจะคำสัญญาและทำตามสัญญาที่ให้ไว้

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง จนก้าวเดินมาถึงปัจจุบัน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านกระบกเตี้ย เป็นเสมือนหนึ่งศูนย์เรียนรู้ในการพัฒนาคนให้มีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น มีความเสียสละเห็นประโยชน์ส่วนรวมสำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อครอบครัว มีความเห็นใจซึ่งกันและกัน เอื้ออารีต่อกัน มีความเชื่อถือ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งการพัฒนาคนโดยกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านกระบกเตี้ย เป็นต้นทางของเหตุที่นำไปสู่ผลคือความ “รู้รัก สามัคคี” ของคนในหมู่บ้าน ทำให้คนในหมู่บ้านเป็นเสมือนหนึ่ง คนในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งมีขนาดของครอบครัวขนาดใหญ่ ทุกคนเป็น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา มีความห่วงใย เอื้ออารี ดูแล ซึ่งกันและกัน และยังเป็นรากฐานที่นำไปสู่กลุ่มอาชีพ ที่สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับราษฎรในหมู่บ้าน ช่วยเสริมสร้างลักษณะนิสัยอันพึงประสงค์ให้เกิดขึ้น แก่คนในหมู่บ้านที่เป็นสมาชิกของกองทุนหมู่บ้าน ครัวเรือนเป้าหมายโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน กลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ของหมู่บ้าน ให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์ในการที่จะนำเงินที่กู้/ยืม ไปใช้ในการประกอบอาชีพตามที่เสนอโครงการต่อคณะกรรมการจริงเมื่อมีผลกำไรเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็นำไปออม ส่วนหนึ่งก็นำไปใช้คืนให้กับกลุ่ม ครบและตรงตามกำหนดเวลาที่สัญญาไว้ตลอดมา

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านกระบกเตี้ย ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 325 คน มียอดเงินสัจจะสะสมของสมาชิกจำนวน 1,185,900 บาท มีครัวเรือนในหมู่บ้านที่เป็นสมาชิก 76% เป็นกลุ่มที่นับวันจะพัฒนา จะเติบโต เป็นศูนย์รวมจิตใจหลักของคนในหมู่บ้านที่จะเป็นศูนย์เรียนรู้ตลอดชีวิต ในการพัฒนาคน พัฒนาสังคม พัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย ช่วยสร้างความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน และสร้างความเจริญความมั่นคงให้เกิดแก่สมาชิกของกลุ่มทุกคน ส่งผลต่อความเจริญและความมั่นคงที่ยั่งยืนของชุมชน ตลอดไป

บันทึกขุมความรู้ (Knowledge Assets) การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
· แนวทางการดำเนินงานของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน
· กรรมการต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก
· บทบาทหน้าที่ของกรรมการ ต้องมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน และคณะกรรมการปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่
· คณะกรรมการมีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน มีการจดบันทึกการประชุมเป็นหลักฐาน
· การส่งเงินสัจจะสะสมของสมาชิกส่งประจำทุกเดือน และในแต่ละปีมีการเพิ่มเงินสัจจะสะสม
· ระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม กำหนดขึ้นโดยเวทีประชาคม บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และมีการปรับปรุง ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา สถานการณ์
· สมาชิกปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของกลุ่ม มีมาตรการทางสังคมของกลุ่มที่จะดำเนินการกับสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ควบคู่กันกับระเบียบข้อบังคับ
· มีการวางแผนการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม และปฏิบัติตามแผน
· มีการจัดทำทะเบียน/เอกสารของกลุ่มครบถ้วน
· มีความโปร่งใสในการบริหารจัดการ เช่น มีการรายงานสถานะทางการเงิน และรายงานให้สมาชิกทราบ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง มีการตรวจสอบบัญชีโดยฝ่ายตรวจสอบอย่างน้อย ปีละ 4 ครั้ง
· มีการจัดสวัสดิการแก่สมาชิก แก่ชุมชน
· มีการจัดสรรผลกำไร เช่น การปันผล/เฉลี่ยคืนให้กับสมาชิกทุกปี

แก่นความรู้/กลยุทธ์ในการทำงาน (Core Competency)
· ศึกษาสภาพปัญหา ความยากจน ของคนในหมู่บ้าน
· วิเคราะห์ปัญหาร่วมกับคนในหมู่บ้าน
· หาข้อยุติ เหตุผลความจำเป็นของการเก็บออมเงินโดยกระบวนการเวทีประชาคม
· ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
· สำรวจความพึงพอใจ จากการแสดงความคิดเห็น ขอมติจากเวทีควรมีการจัดตั้งหรือไม่
· การจัดตั้งกลุ่มไม่ควรมุ่งเน้นปริมาณสมาชิก ควรเน้นคุณภาพ สมาชิกที่ร่วมจัดตั้งกลุ่มต้องมีความเข้าใจชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ แนวทางการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มีอุดมการณ์ที่จะผลักดันให้เกิดธนาคารของชุมชนเพื่ออนาคตที่ดีของคนในชุมชนติดตามสนับสนุน พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อทราบปัญหาการดำเนินงาน วางแผนพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต อย่างสม่ำเสมอ

1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นเทคนิคการสร้างกลุ่มออมทรัพย์ฯ ที่ดี ให้แก่น้อง ๆ ครับ...

    ตอบลบ