วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การประชาคม

ชื่อ - สกุล    นายศิริชัย  ตันตระกูล
ตำแหน่ง      นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด          กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
ชื่อเรื่อง        การประชาคม

        พ.ศ.2504 ผู้ใหญ่ลีตีกองประชุม .......หลายคนอาจจะเคยได้ยินเสียงเพลงนี้ แต่มันนานมากแล้วละ ลองบวกลบคูณหาร (2558-2504  ได้ 54 ) นี่ว่ากันตามพ.ศ. เอาสัก 20- 30 ปี ก็นับว่านานพอดู แต่สำหรับผมแล้ว ผมจะใช้เป็นบทนำก่อนการประชาคมในชุมชน เพราะนั้นมันก็คือประชุมหรือประชาคมนั่นเอง  การประชาคมเป็นวิธีการหนึ่งของงานพัฒนาชุมชนที่ใช้ในการทำงาน เพราะเราสามารถที่ใช้สื่อสารการเรียนรู้กับกลุ่มเป้าหมายได้ในปริมาณที่มากและการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมาย พัฒนากรต้องทำได้ทุกอย่างสมดังที่เปรียบเทียบว่าเหมือนเป็ด ทำตั้งแต่ภารโรง วิทยากร ให้ความบันเทิง(หมายถึงร้องเพลงประกอบจังหวะ,เล่านิทาน เป็นต้น)
ทีนี่มาพูดถึงการประชาคม การจะดำเนินการประชาคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัด  ให้เกิดประสิทธิภาพ มีองค์ประกอบที่หลากหลายก็ขอพูดคุยในประสบการณ์ที่ผ่านมาและปัจจุบันก็ยังคงใช้อยู่เมื่อมีโอกาสเสมอๆ ได้แก่
1.สถานที่ประชาคม วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมืออำนวยความสะดวกในการจัด เราไม่สามารถจะกำหนดอะไรที่แน่นอนว่าต้องอย่างอย่างนี้ ที่จะบอกก็คือรับได้ทุกสถานการณ์นั่นคือพัฒนาชุมชน ในกรณีที่มีสถานที่แน่นอน เช่นศาลากลางบ้าน ศาลาประชาคม ศูนย์เรียนรู้ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี่ ก็สุดแต่จะเรียก ถ้าอย่างนี้ถือว่าดีเพราะมีหลังคาป้องกันแดด ป้องกันฝนได้ ความจุก็ไม่มาก เพราะงานพัฒนาชุมชนคนมากไปก็เอาสาระไม่ได้ ถ้าอยู่ประมาณ 50-60 คนก็โอเค
2.การเตรียมความพร้อมของที่ประชาคม โดยเฉพาะ คนเข้าร่วมประชุม เราต้องจัดการควบคุมกลุ่มเป้าหมายให้นิ่งให้ได้ เทคนิคก็อยู่ที่เราต้องสร้างความเป็นกันเอง ตรวจสอบจำนวนยอด บ้านอะไร หมู่ที่ ตำบล จนถึงอำเภอ และในขณะเดียวกันการเรียกความสนใจของกลุ่มเป้าหายเพราะโดยเฉพาะผู้หญิงเจอกันเมื่อไรเหมือนตลาดนัด ก็ต้องทำให้เงียบให้ได้ วิธีการที่ผมใช้ก็คือการเรียกชื่อหมู่บ้านแล้วลงท้ายด้วยคำว่าจ้า  ตัวอย่างบ้านหลุมมะขาม ก็เรียกว่าหลุมมะขามจ้า แล้วก็ต้องให้กลุ่มเป้าหมายบ้านหลุมมะขามตอบด้วยว่าจ้า ถ้าตอบไม่ดังก็เรียกให้ตอบใหม่
3.การบริหารความขัดแย้ง เป็นเรื่องปกติของมนุษย์เมื่ออยู่รวมกัน  ถ้าถามเรื่องความคิดเมื่อไร กลุ่มคนที่เสียประโยชน์ก็จะไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ก็ยอมรับได้  ดังนั้นหากเราเป็นผู้ดำเนินการ  เราก็ต้องจัดการกับความขัดแย้ง และให้ที่ประชาคมดำเนินการต่อไป  ให้ได้ข้อยุติหรือข้อสรุปให้ได้ การหาแนวทางสยบบรรยากาศในขณะขัดแย้งเป็นแต่ละเรื่องผู้ดำเนินการต้องมีไหวพริบ ทักษะแต่ละเรื่องอาจไม่เหมือนกัน เช่น การประชาคมเพื่อทำกิจกรรมบ้างอย่าง ก็ต้องดูวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนั้นแล้วย้อนถามที่ประชุม เพื่อเรียกความสามัคคีกลับคืนมา

การประชาคมผู้ดำเนินการต้องฝึกทำอยู่บ่อยๆครั้ง เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาที่จะเกิดขึ้นโดยความเรียบร้อย  ต้องเป็นคนที่แสวงหาความรู้  ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน มีความรู้รอบตัวดี  สื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย  ตลอดจนไม่ถือตัว พูดคุยกับคนทุกเพศ ทุกวัยได้  เหล่านี้ก็จะทำให้ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้ดำเนินการจัดเวทีประชาคม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น