วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การขับเคลื่อนกิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต

ชื่อเรื่อง                         การขับเคลื่อนกิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
ชื่อ นามสกุล                  นายวีรพล   โพธิ์ชัย
ตำแหน่ง                             พัฒนาการอำเภอคลองเขื่อน
สังกัด                                สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคลองเขื่อน  จังหวัดฉะเชิงเทรา

หลักการเหตุผล
          กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นภารกิจหนึ่งของกรมการพัฒนาชุมชน  โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ประชาชนในชนบทรวมกลุ่มช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันละกันในด้านเงินทุน มีกิจกรรมหลัก คือ การออม เมื่อออมได้จำนวนหนึ่งก็เปิดโอกาสให้สมาชิกกู้ไปประกอบอาชีพ เน้นประกอบอาชีพการผลิต อาจจะเป็นสินค้า หรือการบริการ ก็ได้ ส่วนกิจกรรมอื่นได้แก่ ร้านค้า (ศูนย์สาธิตการตลาด ฝึกประชาชนให้รู้จักค้าขาย) ยุ้งฉาง (การลงทุนเพื่อกำไร)  ธนาคารข้าว (เพื่อการสงเคราะห์) ฯลฯ

วิกฤตการดำเนินงานกลุ่มออทรัพย์เพื่อการผลิต
          1. การก่อเกิดกองทุนหมู่บ้าน(1 ล้านบาท) กำหนดให้ทุกกองทุนต้องสร้างความเข้มแข็งให้กองทุนหมู่บ้าน โดยทุกกองทุนต้องให้สมาชิกออมเงินในรูปเงินสัจจะ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกลุ่มออทรัพย์เพื่อการผลิต และผู้ไปแนะนำส่งเสริมก็คือ พัฒนากร
          2. ความเข้าใจคลาดเคลื่อนของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน (พัฒนากร) และกระแสนโยบายทางการเมือง ทำให้พัฒนากร ส่วนหนึ่งละเลยกิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต แต่ไปส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการออมทรัพย์(กลุ่มสัจจะ)ของกองทุนหมู่บ้าน เพราะเข้าใจว่าต่อไปกองทุนหมู่บ้านจะเป็นภารกิจหนึ่งของกรมการพัฒนาชุมชน

การกู้วิกฤตการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต
          1. เจ้าหน้าที่ (พัฒนากร) ใช้หลักการทำงานมีส่วนร่วมกับชาวบ้าน เช่น ร่วมประชุมกลุ่มออมทรัพย์ฯ ทุกเดือน ร่วมเก็บเงินสัจจะสะสม เพื่อให้คณะกรรมการ สมาชิก มองว่าพัฒนากรยังเป็นพี่เลี้ยงอยู่เหมือนเดิม
          2. ให้เจ้าหน้าที่(พัฒนากร) เข้มงวดต่อขั้นตอนวิธีการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์ฯ เช่น การเก็บเงินสัจจะสะสมต้องเก็บทุกเดือน ต้องมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีทุกปี การดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ เมื่อครบวาระต้องเลือกตั้งใหม่
          3. ต้องเข้มงวดการดำเนินงานการเงิน และบัญชี เช่น การกู้เงินต้องมีสัญญา และมีการค้ำประกัน การกู้เงินต้องผ่านธนาคาร บัญชีต้องทำให้เป็นปัจจุบัน ต้องมีการตรวจสอบบัญชีทุกปี ต้องทำงบดุลทุกปี การทำงบดุลต้องผ่านการตรวจสอบจากอำเภอ (สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ)
          4. ต้องมีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีทุกปี โดยต้องมีเรื่องเข้าที่ประชุม เช่น การดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการ การแก้ไขระเบียบและการปฏิบัติตามระเบียบ การจ่ายเงินปันผลประจำปี การดำเนินธุรกิจและการขยายการลงทุนของกลุ่ม ฯลฯ

สรุป การดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จะคงอยู่หรือขยายผล ขึ้นอยู่ที่เจ้าหน้าที่(พัฒนากร) ให้ความสำคัญกับงานมากน้อยขนาดไหน คลุกคลีกับคณะกรรมการเพียงใด ความศรัทธา  ความเชื่อมั่น ของชาวบ้านอยู่ที่ตัวเจ้าหน้าที่  การขับเคลื่อนกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จะเป็นไปด้วยดีหรือขยายขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น