วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558

สามมิติการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ

ชื่อเรื่อง                              สามมิติการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
ชื่อ นามสกุล                     นางศศิฉาย  สุคนธฉายา
ตำแหน่ง                             นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด                                สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคลองเขื่อน  จังหวัดฉะเชิงเทรา
กรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงโดยน้อมนำแนวคิดปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเป็นแนวทางปฏิบัติโดยตั้งแต่ปี 2552 ในการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ มีการขยายผลส่งเสริมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบจากบ้านพี่สู่บ้านน้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นต้นแบบใน 3 ระดับ (พออยู่พอกัน อยู่ดีกินดี มั่งมีศรีสุข) มีหลักเกณฑ์ในการประเมินความสำเร็จผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ จำนวน 23 ตัวชี้วัด
เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น ในการพัฒนาหมู่บ้านแต่ละระดับเปรียบเสมือนการขึ้นบันไดจะมีชานพัก ให้เห็นภาพเป็นมิติ ๆ ไป ซึ่งสามารถแยกเป็นชานพักเป็น 3 ชานพัก ใน 3 มิติ คือ มิติด้านสังคม มิติด้านเศรษฐกิจ และมิติด้านอนุรักษ์และเรียนรู้
1.        หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับพออยู่พอกิน มิติด้านสังคม มีการสามัคคีและร่วมมือกันของคนในหมู่บ้าน สามารถจัดเวทีประชาคมเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้มีข้อปฏิบัติร่วมกันให้คนในชุมชนปฏิบัติ รู้จักรักษาสิทธิและหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย มิติด้านเศรษฐกิจ ครัวเรือนส่วนใหญ่มีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน มิติด้านอนุรักษ์ มีข้อมูลของชุมชนที่จัดเก็บเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและเรียนรู้ มีการวางแผนอนุรักษ์ จัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยใช้กลุ่มองค์กร
2.        หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับอยู่ดีกินดี จะต้องมีตัวชี้วัดเพิ่มเติม ดังนี้ มิติด้านสังคม มีกองทุนสวัสดิการชุมชน การส่งเสริมด้านคุณธรรม จริยธรรม ที่เป็นรูปธรรม มิติด้านเศรษฐกิจ มีกิจกรรมลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ส่งเสริมการออมที่เห็นผลชัดเจน มิติด้านอนุรักษ์ มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลหรือแผนชุมชนไปปฏิบัติจริง สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ และเรียนรู้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง และมีการใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสมในพื้นที่

3.        หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับมั่งมีศรีสุข ต้องมีตัวชี้วัดเพิ่มขึ้นอีก คือ มิติด้านสังคม ชุมชนเป็นชุมชนเข้มแข็ง ปลอดยาเสพติด มีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติได้จริง มิติด้านเศรษฐกิจ มีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สามารถส่งเสริมผลิตภัณฑ์และกิจกรรมในชุมชนที่ชัดเจน มิติด้านอนุรักษ์ มีการค้นหาและนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างคุณค่า สร้างภาคีเครือข่าย และเรียนรู้การพัฒนาที่ชัดเจน และสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่ชุมชนได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น