วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

การส่งเสริมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ

เจ้าของความรู้   กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
สังกัด             สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
วันที่บันทึก       วันที่ 15 มิถุนายน 2558
ชื่อเรื่อง           การส่งเสริมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
เนื้อเรื่อง
                    หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ คำคำนี้ได้ถูกพูดถึงมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว และได้มีความพยามยามที่จะหาคำจำกัดความ และความแตกต่างระหว่างหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
                   กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีการวัดระดับของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ออกเป็น 3 ระดับ คือ           
                     1. ระดับพออยู่พอกิน หมู่บ้านที่ถูกจัดอยู่ในระดับนี้ อย่างน้อยจะต้องสามารถสะท้อนถึงความเป็นอยู่อย่างพอเพียงภาคครัวเรือนในภาพรวมของหมู่บ้านได้
                     2. ระดับอยู่ดีกินดี ในระดับนี้ จะมุ่งเน้นหมู่บ้านที่มีการขับเคลื่อนการทำงานในรูปแบบกลุ่มที่ดี มีประสิทธิภาพ 
                     3. ระดับมั่งมีศรีสุข เป็นระดับสูงสุดของการวัดผล ซึ่งหมู่บ้านที่ถูกจัดอยู่ในระดับนี้ จะต้องมีการเชื่อมโยงการดำเนินงานของกลุ่มต่างๆในชุมชนเข้าด้วยกันในรูปแบบของเครือข่าย รวมถึงเชื่อมโยงกับกลุ่ม/เครือข่ายอื่นที่อยู่ภายนอกชุมชน
                    หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ทั้ง 3 ระดับข้างต้น ต่างสามารถเป็นต้นแบบในระดับของตนเองได้ เช่น เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับพออยู่พอกินต้นแบบ หรือ เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับอยู่ดีกินดีต้นแบบ หรือ หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับมั่งมีศรีสุขต้นแบบ แต่ในความเป็นต้นแบบนั้น หมู่บ้านจะต้องมี 2 สิ่งคือ 1. มีศูนย์เรียนรู้ชุมชน/แหล่งเรียนรู้ของชุมชน 2. มีวิทยากรในการให้ความรู้ เพราะความเป็นต้นแบบนั้น จะต้องสามารถให้การเรียนรู้แก่บุคคลอื่นได้ หากไม่สามารถให้การเรียนรู้ได้ ก็คงจะเรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น แต่ยังไม่ใช่ต้นแบบ
                   มาถึงประเด็นที่ว่า แล้วอย่างไรจึงถือได้ว่าหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงมีศูนย์เรียนรู้ชุมชน/  แหล่งเรียนรู้ของชุมชน ในกรณีนี้ หากหมู่บ้านมีการบริหารจัดการด้านใดด้านหนึ่งที่ดีและประสบผลสำเร็จ          จนสามารถเป็นตัวอย่างและถ่ายทอดให้กับหมู่บ้านอื่นทำตามได้ ก็นับได้ว่าหมู่บ้านมีแหล่งเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆแล้ว เช่น แหล่งเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการกลุ่มออมทรัพย์ แหล่งเรียนรู้เรื่องการจัดสวัสดิการชุมชน     แหล่งเรียนรู้เรื่องกลุ่มอาชีพ แหล่งเรียนรู้เรื่องการพัฒนาอาชีพ แหล่งเรียนรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ แหล่งเรียนรู้เรื่องเกษตรผสมผสาน แหล่งเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมชุมชน แหล่งเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชุมชน ฯลฯ
                   การดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การส่งเสริมและกำกับดูแลของกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน จึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการยกระดับหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงแห่งการเรียนรู้ กล่าวคือ เป็นหมู่บ้านที่มีศูนย์เรียนรู้ชุมชน/แหล่งเรียนรู้ของชุมชน และมีบุคคลในหมู่บ้านที่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ ด้วยอาศัยการดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน มาเป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อน ดังนี้
                   1. ขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ด้วยกำหนดให้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง     ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน จะต้องยกระดับหมู่บ้านให้มีศูนย์เรียนรู้ชุมชน/แหล่งเรียนรู้ของชุมชน เรียกว่าบ้านพี่ เพื่อเป็นต้นแบบให้หมู่บ้านอื่นในตำบลหรือนอกตำบลได้เข้ามาเรียนรู้ต่อไปในภายภาคหน้า
                   2. ประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงและกิจกรรมงานพัฒนา โดยหมู่บ้านที่เข้าร่วมประกวดจะต้องนำเสนอความเป็นต้นแบบของการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้   ยังต้องมีศูนย์เรียนรู้/แหล่งเรียนรู้ของหมู่บ้าน ตลอดจนมีวิทยากรนำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการที่เข้าไป ตรวจเยี่ยม       
                   3. ศูนย์เรียนรู้ชุมชนสมบูรณ์แบบ ด้วยส่งเสริมให้หมู่บ้านที่มีความพร้อม ได้มี/ยกระดับ   ศูนย์เรียนรู้เดิมให้เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนสมบูรณ์แบบ และร่วมออกหน่วยเคลื่อนที่ในระดับจังหวัด เพื่อเผยแพร่ความรู้ของศูนย์ไปสู่สาธารณะชน
                   4. ระบบมาตรฐานการพัฒนาชุมชน ด้วยกำหนดให้หมู่บ้านที่เข้าสู่ระบบมาตรฐานการพัฒนา จะต้องมีการพัฒนาให้มีศูนย์เรียนรู้ชุมชน และมีการจัดการความรู้ชุมชน ที่มีคุณภาพ ผ่านการประเมินและการรับรองจากคณะกรรมการระดับอำเภอและระดับจังหวัด

                   จากการดำเนินงานข้างต้น ทำให้ปัจจุบันจังหวัดฉะเชิงเทรามีหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เกินกว่าร้อยละ 25 ของหมู่บ้านทั้งหมดในจังหวัด ซึ่งมีความโดดเด่นทั้งในเรื่องการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ชุมชน/แหล่งเรียนรู้ชุมชน และการมีวิทยากรสำหรับให้ความรู้แก่ผู้ศึกษาดูงาน เช่น แหล่งเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่บ้านอ่างตะแบก ตำบลทุ่งพระยา อำเภอสนามชัยเขต แหล่งเรียนรู้ 1 ไร่ 1 แสนบ้านบางพุทรา ตำบล     เมืองใหม่ อำเภอราชสาส์น แหล่งเรียนรู้กลุ่มอาชีพไผ่ตงบ้านอ่างเตย ตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ แหล่งเรียนรู้กองทุนชุมชนบ้านคลอง 18 ตำบลหมอนทอง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว เป็นต้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น