วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เรื่องที่ควรรู้กับการทำงานร่วมกับอาสาสมัคร อช./ผู้นำ อช.


ชื่อ – นามสกุล   นายนิคม  นิรันดร์
ตำแหน่ง  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด  สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรที่สามารถติดต่อได้สะดวก  08-9753-2105
                                               
“งานอาสาพัฒนาชุมชน”  ก็คือ  การทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาชนบทได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่ง คือ การทำให้ประชาชนปวารณา ตนเองทำงานด้วยความเต็มใจ  และเสียสละเพื่อส่วนรวม  โดยการเป็นอาสาสมัครในการพัฒนาชนบท  หรือเป็นอาสาพัฒนาชุมชน  

ยังจำกันได้มั้ยครับคำกล่าวข้างต้นนั้น คืออะไร  แต่ถ้าจำไม่ได้หรือไม่รู้จะบอกให้คับ  คำกล่าวข้างต้นนั้นคือ แนวคิดในการทำงานกับอาสาพัฒนาชุมชน (อช.) หรือผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) ที่กรมการพัฒนาชุมชนได้กำหนดมาตั้งแต่เริ่มกำเนิดโครงการอาสาพัฒนาชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 เป็นต้นมา  หลายๆท่านคงลืมหลักการและแนวคิดตรงนี้ไปแล้วก็เป็นได้ 

แต่สำหรับผม ผมคิดว่าแนวคิดดังกล่าวนี้ ยังใช้ได้เสมอมา ประสบการณ์ในการทำงานกับอาสาพัฒนาชุมชน/ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนยังใช้ได้กับปัจจุบัน   ผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชนในการสร้างการมีส่วนร่วมยังปรากฎให้เห็นอยู่เนืองๆ  ...ผมยังจำภาพในอดีตที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกับ อช./ผู้นำ อช. ที่ร่วมมือ ร่วมใจกันในการพัฒนาหมู่บ้านของตนด้วยความเสียสละโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดใด และสิ่งที่พบในอดีตคือการทำงานด้วยจิตอาสาจริงๆ  ผมเชื่อว่าการสร้างจิตสำนึกของอาสาพัฒนาชุมชน/ผู้นำอ่าสาพัฒนาชุมชนนั้น สามารถสร้างขึ้นได้  แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ต้องเกิดจากอุดมการณ์ และหลักการทำงานของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนด้วย ที่จะสามารถปลุกจิตสำนึก และสามารถสร้างแรงศรัทธาให้ อช./ผู้นำ อช. ให้เกิดความตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบ ความเสียสละ และอุทิศตนด้วยจิตสาธารณะ เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม จึงจะประสบผลสำเร็จ

หลักการในการทำงานของผมคือการสร้างศรัทธาและสร้างจิตสำนึกของอาสาพัฒนาชุมชน/ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน  มีดังนี้

1.การสร้างความเชื่อถือ เชื่อมั่น โดยการเป็นที่ปรึกษาที่ดี สามารถสร้างความรู้ ความเข้าใจในการทำงานด้านต่างๆให้กับ อช./ผู้นำ อช.ได้อย่างชัดเจน เช่น ความรู้เกี่ยวกับระเบียบ ข้อบังคับต่างๆในงานพัฒนาชุมชน ระเบียบกองทุนหมู่บ้าน ระเบียบกลุ่มออมทรัพย์ ระเบียบ ศอช. ,กข.คจ. และอื่นๆ กล่าวคือ จะต้องศึกษาหาความรู้ต่างๆอย่างชัดเจน

2.การสร้างความไว้วางใจ โดยการประพฤติตน ในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางและเป็นธรรม ไม่เข้าใครออกใคร มีความเป็นกันเอง เข้าถึงชุมชน จนทำให้เกิดความไว้วางใจสามารถพูดคุยกับ อช./ผู้นำ อช. ได้ทุกเรื่อง  หัวใจสำคัญของการเข้าถึงคือ “พัฒนากร” ต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดแก่อาสาพัฒนาชุมชน/ผู้นำ อช. จึงจะส่งให้เกิดผลในทางปฏิบัติ หลักประชาธิปไตยในการทำงาน เป็นต้น

3.การสร้างจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อชุมชน  เป็นอีกกระบวนการหนึ่งในการกระตุ้นให้ อช./ผู้นำ อช. ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบและเสียสละต่อส่วนรวม วิธีการจัดกิจกรรม เช่น การจัดอบรมเกี่ยวกับการปลูกจิตสำนึก,การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การเป็นอาสาสมัคร การจัดกิจกรรมอื่นทางด้านการพัฒนาจิตใจ

ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการทำงานกับอาสาสมัคร ต่างๆนั้น จะต้องใช้ “ใจ” ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อสร้างศรัทธา และการมีส่วนร่วม  อันก่อให้เกิดประสิทธิภาพของการทำงาน ให้บรรลุผลตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น