วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การขับเคลื่อนการตรวจสุขภาพเงินกองทุน กข.คจ.


ชื่อ-สกุลผู้ถอดบทเรียน นางสาวปนัฐวรรณ  เสงี่ยมจิตร์
ตำแหน่ง     นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
บันทึกเมื่อ   เมษายน ๒๕๕๕
สถานที่       จังหวัดฉะเชิงเทรา

ที่มาขององค์ความรู้ที่เลือก (ทำไมถึงเลือกองค์ความรู้นี้)      
โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) เป็นทุนชุมชน ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนเงินทุนให้หมู่บ้านๆ ละ 280,000 บาท เพื่อให้ครัวเรือนเป้าหมายยืมไปประกอบอาชีพ และมอบอำนาจให้คณะกรรมการกองทุน กข.คจ. ประจำหมู่บ้าน บริหารจัดการเงินทุน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหารและการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. 2536 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2539 และได้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบดังกล่าว ในปัจจุบันใช้ฉบับ พ.ศ. 2553 ในส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทรามีหมู่บ้านเป้าหมายตามโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ทุกอำเภอ  จำนวน 218 หมู่บ้าน

กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ “เสริมสร้างธรรมาภิบาลและความมั่นคงของทุนชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีความมั่นคงทางด้านทุนชุมชน เป็นการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากจะดำเนินกิจกรรมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต, โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.),กองทุนหมู่บ้าน, และการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน เพื่อยกระดับรายได้ในชุมชนต่างๆแล้ว ยังต้องทำงานพัฒนาทุนชุมชนในด้านอื่นๆด้วย ได้แก่ การพัฒนาคน สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ และปัจจัยทางกายภาพ ให้เป็นไปตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ด้วยเหตุผลจากแนวคิดที่ว่า การดำรงชีวิตของประชาชนในชุมชน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของทุนชุมชน ปัญหาของชุมชนไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน ปัญหาที่ยังไม่เกิดแต่มีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหาในอนาคต หรือแม้แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว หรือปัญหาตามฤดูกาล ทุกชุมชนต่างมีโอกาสประสบทั้งสิ้น แนวทางและความสามารถในการจัดการกับปัญหาแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน ชุมชนจะเลือกใช้แนวทางใด และสามารถประสบความสำเร็จในการจัดการมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับจำนวนและความแข็งแรงของทุนชุมชนที่มีอยู่

ในปี พ.ศ.๒๕๕๕  กรมการพัฒนาชุมชน  ได้จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพทางการเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ขึ้น เพื่อให้กองทุนโครงการ กข.คจ. ได้รับการตรวจสุขภาพทางการเงินและได้รับการแนะนำในการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่เงินทุนโครงการ กข.คจ.

บันทึกขุมความรู้ (วิธีปฏิบัติงานที่ผู้สนใจสามารถนำไปปฏิบัติได้)
มีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ศึกษาสถานะการดำเนินงานโครงการ กข.คจ. เป้าหมาย จำนวน ๓๕ กองทุน (ตรวจสอบภาวะหนี้สิน/การบริหารงานของกรรมการกองทุน) เพื่อตรวจสอบและพัฒนาฐานข้อมูลให้ถูกต้อง สามารถนำไปใช้เป็นฐานในการพัฒนาให้เกิดความเข็มแข็ง
 
มีขั้นตอนการดำเนินงานอย่างไรบ้าง
  • ตรวจสอบสถานะการดำเนินงานโครงการ กข.คจ. เป้าหมาย  จำนวน ๓๕ กองทุน (ตรวจสอบภาวะหนี้สิน/การบริหารงานของกรรมการกองทุน) เพื่อตรวจสอบและพัฒนาฐานข้อมูลให้ถูกต้อง สามารถนำไปใช้เป็นฐานในการพัฒนาให้เกิดความเข็มแข็ง 
  • ประชุมชี้แจงสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และคณะกรรมการเครือข่าย ให้ดียิ่งขึ้น  และเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการตรวจสุขภาพทางการเงิน
  • นำเครื่องมือตรวจสุขภาพ (สมุดตรวจสุขภาพฯ) ประเมินสุขภาพกองทุนชุมชนโดยการพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมาย
  • ทีมผู้ตรวจสุขภาพฯ และกลุ่มเป้าหมายร่วมกันวิเคราะห์ผลการประเมินสุขภาพกองทุนการเงินชุมชน
  • นำผลการวิเคราะห์จัดลำดับความสำคัญร่วมกับกลุ่มเป้าหมาย
  • ร่วมกันค้นหาสาเหตุสุขภาพกองทุนชุมชนที่เป็นปัญหา/ไม่ผ่านเกณฑ์
  • นำสาเหตุมากำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อผ่านเกณฑ์
  • นำเสนอรายงานผลการดำเนินงานต่อผู้บังคับบัญชาทราบและหาแนวทางแก้ไขปัญหา
  • ศึกษาระเบียบการดำเนินงานโครงการ กข.คจ.ที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจกับคณะกรรมการและสมาชิก หาข้อยุติของแต่ละปัญหา

แก่นความรู้ (เทคนิคสำคัญที่ทำให้งานสำเร็จและผลที่เกิดขึ้นจริงกับผลที่คาดว่าจะได้รับ)
  1. การศึกษาระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจ
  2. การขอคำปรึกษาจากผู้บังคับบัญชาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา
  3. การสร้างความสัมพันธ์อันดีของพัฒนากรกับคณะกรรมการ/สมาชิกครัวเรือนเป้าหมาย
  4. ติดตามประเมินผล

มีกลยุทธ์ในการทำงานอย่างไร  
  1. การหาข้อมูลของกองทุน กข.คจ. โดยจัดเก็บข้อมูลจากแบบรายงานเพื่อให้คณะกรรมการได้รายงานภาวะหนี้สินและการบริหารจัดการกองทุน กข.คจ.  
  2. การศึกษาระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจถ่องแท้เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับคณะกรรมการและสมาชิกได้ทราบเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

สรุปบทเรียน
ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
ในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้สำเร็จลุล่วงได้ผลดี นั้นสิ่งสำคัญคือการได้การสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาโดยต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา ทั้งในรูปแบบการให้คำปรึกษา การออกแบบจัดเก็บข้อมูล การจัดประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา

ข้อสังเกต/ข้อควรคำนึงถึง
เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พัฒนากรผู้รับผิดชอบประสานงานตำบลต้องปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบ โดยติดตาม สนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

กลเม็ดเคล็ดลับ
  1. การสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาโดยต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา ทั้งในรูปแบบการให้คำปรึกษา การออกแบบจัดเก็บข้อมูล การจัดประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา
  2. การสร้างความสัมพันธ์อันดีและสร้างความคุ้นเคยกับประชาชนในพื้นที่ โดยเข้าไปเยี่ยมเยียน  
  3. มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ และจริงใจที่จะเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาด้วยความยุติธรรม

กฎระเบียบ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)
  1. ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการบริหารและการใช้จ่ายเงินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. ๒๕๕๓
  2. แนวทางการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน
  3. แบบประเมินสุขภาพเงินทุนโครงการ กข.คจ. เพื่อตรวจสุขภาพหมู่บ้าน กข.คจ.
  4. บทบาทเจ้าหน้าที่พัฒนากรผู้รับผิดชอบประจำตำบล ระเบียบข้อ 17 และ ข้อ 24
  5. หลักการดำเนินงานพัฒนาชุมชน        
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น