ชื่อ – สกุล สิรีภรณ์ ยงศิริ
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคลองเขื่อน
งานพัฒนาชุมชนเป็นงานที่ทำโดยประชาชน
เพื่อประชาชนจากการสนับสนุนช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม
โดยการประสานความร่วมมือทั้งนี้กิจกรรมต่าง ๆ จะยั่งยืนได้นั้นต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการของชาวบ้านซึ่งพวกเขาเหล่านั้นต้องตระหนักว่ากิจกรรมนั้น
ๆ จะช่วยลดทอน หรือยับยั้งปัญหาที่เผชิญอยู่ และช่วยให้ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นดีขึ้นจริง
ๆ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งประสบความสำเร็จ ก้าวหน้า เจริญเติบโต
คุณภาพชีวิตของสมาชิก และชาวบ้านโดยรวมดีขึ้น
ขณะเดียวกันอีกหลายกิจกรรมที่ต้องยุติ
และล้มเลิกไปในที่สุดเพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้ ซึ่งเหตุของความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนั้น
อาจมาจากตัวบุคคลเช่น เจ้าหน้าที่ ผู้นำท้องถิ่น
จากชาวบ้านเองหรือเป็นปัจจัยร่วมกันก็เป็นได้
หากพิจารณาแยกย่อยแล้วสามารถสรุปได้ดังนี้
เจ้าหน้าที่
- มุ่งให้เกิดกิจกรรม ทั้งที่ชาวบ้านยังไม่มีฐานความรู้และความเข้าใจ และความต้องการในกิจกรรม
- เมื่อตั้งกลุ่มกิจกรรมแล้ว ขาดการประสานงานและติดตามอย่างต่อเนื่อง
ผู้นำกลุ่มกิจกรรม
- ขาดความรู้และความเข้าใจ ในการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ อย่างถ่องแท้
- ขาดภาวะความเป็นผู้นำ ระเบียบกฎเกณฑ์ของกลุ่มไม่เที่ยงธรรมไม่โปร่งใส ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมเกิดความเบื่อหน่าย และขาดความน่าเชื่อถือ
- การปรับเปลี่ยนตัวผู้นำตามวาระ หรือการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงของ ระเบียบกฎเกณฑ์กลุ่มโดยพลการ ทำให้สมาชิกในกลุ่มเกิดความไม่พอใจ
ชาวบ้าน
- ขาดความรู้และความเข้าใจ ในประโยชน์ของกิจกรรมนั้นๆ
- ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เคารพเชื่อถือระเบียบกฎเกณฑ์ของกลุ่ม ทำให้กิจกรรมไม่ก้าวหน้า
กลุ่มกิจกรรมจะยั่งยืน
เจ้าหน้าที่จะต้องทำความเข้าใจกับผู้นำและชาวบ้านให้ตระหนักถึงปัญหาและความจำเป็นที่แท้จริงซึ่งจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับประโยชน์สูงสุดจากกิจกรรมนั้นๆ
โดยเจ้าหน้าที่อย่ายึดความต้องการและเหตุผลของตนเป็นหลัก ต้องทำหน้าที่ด้วยความจริงใจมีวินัยในตนเอง
ดังนั้นการตั้งกลุ่มกิจกรรมจะยั่งยืนควรมีการดำเนินการดังนี้
- เจ้าหน้าที่ต้องติดตาม ตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลือ อย่างต่อเนื่องและมีความจริงใจ เพื่อให้ชาวบ้านมีกำลังใจและความเชื่อมั่นที่จะดำเนินกิจกรรมของกลุ่มต่อไปได้
- สร้างศรัทธาและการยอมรับให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อถือและเห็นความสำคัญของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่จริง
- ใช้เวลาในการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการรวมกลุ่มกิจกรรม ทำให้เกิดการยอมรับและควรยึดความต้องการของชาวบ้านส่วนรวมเป็นหลักไม่เห็นแก่ความคิดส่วนตัวของใครเป็นหลัก
- ทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงขั้นตอน การดำเนินกิจกรรม การบริหารจัดการตลอดจนการแก้ไขปัญหาในการดำเนินกิจกรรม
- มีการประสานความร่วมมือล่วงหน้า ในเรื่องของขั้นตอนการศึกษาดูงาน อบรมเพิ่มพูนองค์ความรู้ การสนับสนุนงบประมาณ จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
- ขณะกลุ่มกิจกรรมยังไม่เข้มแข็งเจ้าหน้าที่ต้องวางแนวทางเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กลุ่มสามารถยืดหยัด และเติบโตได้โดยให้การอบรม การศึกษาดูงานเป็นการเปิดโลกทัศน์เพื่อให้กลุ่มเกิดแนวคิดใหม่ๆในการบริหารจัดการกลุ่มได้
กลุ่มกิจกรรมต่างๆ
หากดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องและเป็นระบบ
เชื่อได้ว่ากลุ่มกิจกรรมจะมีความก้าวหน้าและสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืน และสนองตอบความต้องการและเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกกลุ่มได้อย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น