วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิธีการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนโดยใช้เศรษฐกิจพอเพียง

ในปีงบประมาณ พ.ศ.2555 สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 11 หมู่บ้าน (อำเภอละ 1 หมู่บ้าน) และจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 22 หมู่บ้าน (อำเภอละ 2 หมู่บ้าน) และดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ ทั้ง 2 โครงการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนไปดำเนินการขับเคลื่อน

จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างการสัมมนาของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 ณ โรงแรมแกรนด์ รอยัล พลาซ่า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา ทำให้เราได้องค์ความรู้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ในประเด็น “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงช่วยเหลือครัวเรือนยากจนได้อย่างไร” มีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยใช้เศรษฐกิจพอเพียง ทำสำเร็จมาแล้ว จากเวทีเราได้ข้อสรุป ดังนี้

วิธีการทำงานในการช่วยเหลือครัวเรือนยากจน
1. ต้องมีการส่งเสริมการออม
2. ต้องให้ครัวเรือนยากจนทำแผนชีวิต ชี้เป้าชีวิต และบริหารจัดการชีวิต
3. ต้องมีติดตาม สนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้อง
4. ต้องมีการถอดบทเรียนความสำเร็จ
5. ต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
6. ต้องมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน
7. ต้องทำ Family Folder
8. ต้องมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

เทคนิคการช่วยเหลือครัวเรือนยากจน
1. ให้ทำบัญชีครัวเรือน
2. กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน
3. ให้ใช้หัวใจแห่งความพอเพียง
4. ให้ขยายผลไปยังครัวเรือนใกล้เคียงด้วย

เคล็ดลับที่ทำให้สำเร็จ
1. ให้ส่งเสริมอาชีพตามความต้องการของครัวเรือนยากจน
2. อย่าให้เกิดการชี้นำทางความคิด
3. เอาปัญหาของครัวเรือนยากจนบรรจุในแผนของหมู่บ้าน/ตำบล
4. ติดตามเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจแก่ครัวเรือนยากจนบ่อยๆ สม่ำเสมอ
5. ทุกฝ่ายต้องเข้าไปช่วยเหลือส่งเสริม สนับสนุน
6. มีการสร้างแรงจูงใจให้แก่หมู่บ้าน เช่น รางวัล หรืองบประมาณสนับสนุน

ข้อพึงระวัง
1. เจ้าหน้าที่อย่าคิดแทนครัวเรือนยากจน (ช่วยกันคิดได้แต่อย่าคิดแทน)
2. การนำเสนอแนวคิด หลักการ วิธีการต่างๆ ของวิทยากรและเจ้าหน้าที่ต้องชัดเจน

ถ้าเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนของเรานำไปปฏิบัติ ก็จะแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับครัวเรือนยากจนในหมู่บ้านได้ครับ


นายสุรเดช  วรรณศิริ
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
โทร.081-2993477

วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การทำหนังสือเชิญประชุมหรืออบรม


ชื่อ-สกุล  นายสุริยน โอมวัฒนา
ตำแหน่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอราชสาส์น
บันทึกเมื่อ 30 พฤษภาคม 2555
สถานที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอราชสาส์น
ชื่อองค์ความรู้ การประทับ “ด่วนมาก” หรือ “ด่วนที่สุด” ด้วยหมึกสี่แดงที่หนังสือเชิญประชุมทุกฉบับ

การเขียนเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อความหมาย ซึ่งเป็นการแสดงความรู้ ความคิด ความรู้สึก หรือข้อมูล เพื่อถ่ายทอดไปยังผู้อ่าน การเขียนจึงเป็นสื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นสื่อของความต้องการ และเป็นตัวแทนของการติดต่อ จึงต้องเขียนโดยคำนึงถึงการเขียน เพื่อให้เข้าใจความหมาย บรรลุวัตถุประสงค์ และเขียนในเชิงบวก เมื่อเขียนหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องรู้กลุ่มเป้าหมาย ต้องวางแผนในการเขียน แล้วจึงลงมือเขียน เมื่อเสร็จจึงควรสอบทาน ย้อนกลับไปอ่านทวนอีกครั้งหนึ่งจนมั่นใจ เพื่อส่งถึงผู้บังคับชา

ข้าพเจ้าเห็นว่าหนังสือที่เชิญประชุมส่งให้กับผู้เข้าร่วมประชุมแล้ว ตัวเราเองยังไม่สะดุดตาเลย จึงนึกได้ว่าสี่แดงเป็นสีที่เข้าตาตามที่ทุกคนรู้กัน และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 และแก้ไขเพิ่มเติม ก็มีเครื่องมือนี้อยู่แล้ว จึงนำมาใช้เมื่อปีที่แล้ว

การทำหนังสือเชิญประชุมกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมประชุมอบรมโครงการของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ เมื่อส่งให้ผู้อบรมแล้วหรือให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยแจกแล้ว กลุ่มเป้าหมายมาอบรมน้อยไม่ครบจำนวนเป้าหมาย ข้าพเจ้าจึงได้แก้ไขด้วยการใช้การประทับ “ด่วนมาก” หรือ “ด่วนที่สุด” ด้วยหมึกสี่แดงที่หนังสือเชิญประชุมทุกฉบับ เพราะ สีแดงทำให้ผู้อ่านสะดุดสายตาทำให้ต้องอ่านหนังสือฉบับนั้น บวกกับคำว่า ด่วนมาก หรือ ด่วนที่สุด จะต้องเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างรีบด่วน ทำให้ผู้อ่านต้องจดจำได้ดี  ทำให้ไม่ลืมว่าเรามีนัดหมายกับใครไว้ และโทรบอกด้วยในกรณีเป็นเรื่องสำคัญ

การส่งหนังสือเชิญประชุมก็ต้องส่งถึงผู้ร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 5 วัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบและเตรียมความพร้อม  ซึ่งผลปรากฏว่า จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก

บันทึกขุมความรู้
  1. ศึกษาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ. 2526 และแก้ไขเพิ่มเติม
  2. เทคนิคการเขียนหนังสือราชการ
กลยุทธ์ในการทำงาน
  1. ต้องวางแผนการส่งหนังสือให้ผู้รับอบรมได้รับทราบ โดยทำเป็นหนังสือและโทรบอกด้วย
  2. หนังสือเชิญประชุมก็ต้องส่งถึงผู้ร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 5 วัน
  3. ประทับ “ด่วนมาก” หรือ “ด่วนที่สุด” ด้วยหมึกสี่แดงที่หนังสือเชิญประชุมทุกฉบับ
  4. ข้อความในหนังสือต้องสื่อความหมายได้อย่างเข้าใจว่าประชุมที่ไหน เวลาเท่าไร
   

ส่งเสริมให้ดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง


ชื่อ นามสกุล นายอภินันท์  เกิดสุข
ตำแหน่ง  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด   สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอราชสาส์น        

ในการปฏิบัติงานในพื้นที่นั้น ได้ทำงานกับผู้นำ ประชาชนในหมู่บ้าน/ตำบล เรื่องที่เข้าไปส่งเสริมให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมอีกอย่างหนึ่งก็ในเรื่องของการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยได้นำหลักการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาอธิบายให้ผู้นำ และประชาชนได้เข้าใจ วิธีการที่จะให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายนั้น ต้องให้ประชาชนได้เรียนรู้และเห็นของจริงที่ประสบความสำเร็จแล้ว โดยจากการศึกษาดูงาน หรือได้เห็นจากเครือข่ายใกล้เคียงในหมู่บ้าน/ตำบล จึงจะทำให้ประชาชนเห็นพ้องต้องตาม และยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ที่ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ครบวงจร  จึงจะทำให้ประชาชนเมื่อได้ยินได้ฟังแล้วเล็งเห็นเป็นรูปธรรม  ประชาชนก็จะเกิดความตระหนักและจะได้ดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเมื่อประชาชนทุกคนได้ดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ย่อมส่งผลให้ครอบครัว  หมู่บ้าน ตำบล  อำเภอ จังหวัด และประเทศชาติ มั่นคงแข็งแรงอย่างยั่งยืน

ขุมความรู้
เทคนิคการส่งเสริมให้ดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
  1. การศึกษาดูงาน
  2. เครือข่ายในหมู่บ้าน/ตำบล ที่ใกล้เคียง
  3. ยกปัญหาต่างๆที่ได้แก้ไขตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงแล้วสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครบวงจร         
แก่นความรู้
การทำให้ชุมชนเข้มแข็งนั้น กลไกของชุมชนส่วนที่สำคัญก็คือ ประชาชน เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนพึ่งตนเองได้และไม่สร้างปัญหาในระดับครอบครัว หมู่บ้าน/ชุมชน  ตำบล  อำเภอ จังหวัด และประเทศ ดังนั้นต้องใช้เครื่องมือคือให้ประชาชนดำเนินวิถีชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยให้ประชาชนเห็นการปฏิบัติที่เกิดผลจริง เห็นปัญหาที่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง  ประชาชนถึงจะเข้าใจและปฏิบัติตามด้วยความมุ่งมั่นเต็มใจ ประชาชนก็จะได้เห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม
   

ทำอย่างไรกลุ่มกิจกรรมจะยั่งยืน


ชื่อ สกุล       สิรีภรณ์  ยงศิริ
ตำแหน่ง          นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
สังกัด             สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคลองเขื่อน

งานพัฒนาชุมชนเป็นงานที่ทำโดยประชาชน เพื่อประชาชนจากการสนับสนุนช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยการประสานความร่วมมือทั้งนี้กิจกรรมต่าง ๆ จะยั่งยืนได้นั้นต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการของชาวบ้านซึ่งพวกเขาเหล่านั้นต้องตระหนักว่ากิจกรรมนั้น ๆ จะช่วยลดทอน หรือยับยั้งปัญหาที่เผชิญอยู่ และช่วยให้ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นดีขึ้นจริง ๆ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งประสบความสำเร็จ ก้าวหน้า  เจริญเติบโต  คุณภาพชีวิตของสมาชิก และชาวบ้านโดยรวมดีขึ้น

ขณะเดียวกันอีกหลายกิจกรรมที่ต้องยุติ และล้มเลิกไปในที่สุดเพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้ ซึ่งเหตุของความล้มเหลวที่เกิดขึ้นนั้น อาจมาจากตัวบุคคลเช่น เจ้าหน้าที่ ผู้นำท้องถิ่น จากชาวบ้านเองหรือเป็นปัจจัยร่วมกันก็เป็นได้ หากพิจารณาแยกย่อยแล้วสามารถสรุปได้ดังนี้

เจ้าหน้าที่
  • มุ่งให้เกิดกิจกรรม ทั้งที่ชาวบ้านยังไม่มีฐานความรู้และความเข้าใจ และความต้องการในกิจกรรม
  • เมื่อตั้งกลุ่มกิจกรรมแล้ว ขาดการประสานงานและติดตามอย่างต่อเนื่อง
ผู้นำกลุ่มกิจกรรม
  • ขาดความรู้และความเข้าใจ ในการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ อย่างถ่องแท้
  • ขาดภาวะความเป็นผู้นำ ระเบียบกฎเกณฑ์ของกลุ่มไม่เที่ยงธรรมไม่โปร่งใส ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมเกิดความเบื่อหน่าย และขาดความน่าเชื่อถือ
  • การปรับเปลี่ยนตัวผู้นำตามวาระ หรือการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงของ ระเบียบกฎเกณฑ์กลุ่มโดยพลการ ทำให้สมาชิกในกลุ่มเกิดความไม่พอใจ
ชาวบ้าน
  • ขาดความรู้และความเข้าใจ ในประโยชน์ของกิจกรรมนั้นๆ
  • ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เคารพเชื่อถือระเบียบกฎเกณฑ์ของกลุ่ม ทำให้กิจกรรมไม่ก้าวหน้า
กลุ่มกิจกรรมจะยั่งยืน เจ้าหน้าที่จะต้องทำความเข้าใจกับผู้นำและชาวบ้านให้ตระหนักถึงปัญหาและความจำเป็นที่แท้จริงซึ่งจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับประโยชน์สูงสุดจากกิจกรรมนั้นๆ โดยเจ้าหน้าที่อย่ายึดความต้องการและเหตุผลของตนเป็นหลัก ต้องทำหน้าที่ด้วยความจริงใจมีวินัยในตนเอง ดังนั้นการตั้งกลุ่มกิจกรรมจะยั่งยืนควรมีการดำเนินการดังนี้

  1. เจ้าหน้าที่ต้องติดตาม ตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลือ อย่างต่อเนื่องและมีความจริงใจ เพื่อให้ชาวบ้านมีกำลังใจและความเชื่อมั่นที่จะดำเนินกิจกรรมของกลุ่มต่อไปได้
  2. สร้างศรัทธาและการยอมรับให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อถือและเห็นความสำคัญของปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่จริง
  3. ใช้เวลาในการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการรวมกลุ่มกิจกรรม ทำให้เกิดการยอมรับและควรยึดความต้องการของชาวบ้านส่วนรวมเป็นหลักไม่เห็นแก่ความคิดส่วนตัวของใครเป็นหลัก
  4. ทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงขั้นตอน การดำเนินกิจกรรม การบริหารจัดการตลอดจนการแก้ไขปัญหาในการดำเนินกิจกรรม
  5. มีการประสานความร่วมมือล่วงหน้า ในเรื่องของขั้นตอนการศึกษาดูงาน อบรมเพิ่มพูนองค์ความรู้ การสนับสนุนงบประมาณ จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
  6. ขณะกลุ่มกิจกรรมยังไม่เข้มแข็งเจ้าหน้าที่ต้องวางแนวทางเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กลุ่มสามารถยืดหยัด และเติบโตได้โดยให้การอบรม การศึกษาดูงานเป็นการเปิดโลกทัศน์เพื่อให้กลุ่มเกิดแนวคิดใหม่ๆในการบริหารจัดการกลุ่มได้

กลุ่มกิจกรรมต่างๆ หากดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องและเป็นระบบ เชื่อได้ว่ากลุ่มกิจกรรมจะมีความก้าวหน้าและสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืน  และสนองตอบความต้องการและเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกกลุ่มได้อย่างแท้จริง
   

ความพอเพียง


ชื่อ – นามสกุล   นายสมเดช   พันแอ
ตำแหน่ง  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด     สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคลองเขื่อน

เนื้อเรื่อง
ความพอเพียง  ในที่นี้ข้าพเจ้าได้น้อมนำมาจาก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล  รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีภูมิคุ้มกัน
ในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ความพอเพียง  ในการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ

การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในระดับต่างๆ นั้น ต้องมีพื้นฐาน คือ การพึ่งตนเองได้ โดยพิจารณาถึงความพอเพียงในการดำเนินชีวิตทุกย่างก้าว ได้แก่
  • ด้านเศรษฐกิจ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่ลงทุนเกินขนาด คิดและวางแผนอย่างมีเหตุผลและคุณธรรม รอบรู้รอบคอบ ระมัดระวัง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมสัมฤทธิ์ผลและทันกาล
  • ด้านจิตใจ เข้มแข็ง กตัญญู มีความเพียร มีจิตสำนึกที่ถูกต้อง มีคุณธรรมอันมั่นคง สุจริต จริงใจ คิดดีทำดีแจ่มใส เอื้ออาทร แบ่งปัน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
  • ด้านสังคมและวัฒนธรรม ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานสัมพันธ์ รู้รัก สามัคคีเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและชุมชน รักษา เอกลักษณ์ภาษา ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมไทย
  • ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รู้จักใช้และจัดการอย่างฉลาด ประหยัดและรอบคอบ ฟื้นฟูทรัพยากรเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและคงอยู่ชั่วลูกหลาน
  • ด้านเทคโนโลยี รู้จักใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการและสภาพแวดล้อมตามภูมิสังคม พัฒนาเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาชาวบ้าน

การแก้ไขปัญหาความยากจน


ชื่อ – สกุล  นางจงธพรรณ ยงพฤกษา
ตำแหน่ง     นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ                  
สังกัด        สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอคลองเขื่อน             

เนื้อเรื่อง         
เนื่องด้วยกรมการพัฒนาชุมชนได้มีนโยบายการกระจายรายได้ และความเจริญ ไปสู่ส่วนภูมิภาค กระจายโอกาสให้คนยากจนระดับครัวเรือนในหมู่บ้านเป้าหมาย มีเงินทุนในการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนยากจนให้ดีขึ้น ตามเกณฑ์ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน(จปฐ.) คนยากจนได้มีโอกาสสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสามารถบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพได้ด้วยตนเอง

หลักการ
  1. การมีส่วนร่วมขององค์กรประชาชนและประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมายในการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบและร่วมรับผลประโยชน์ 
  2. การใช้ข้อมูลครัวเรือนยากจนเป้าหมายจากการจัดเก็บและตรวจสอบขององค์กรประชาชน ในหมู่บ้าน 
  3. การมอบอำนาจและหน้าที่ ความรับผิดชอบให้องค์กรประชาชนในหมู่บ้านเป้าหมาย คือ คณะกรรมการกองทุน กข.คจ.ประจำหมู่บ้าน ซึ่งเลือกตั้งโดยครัวเรือนยากจน เป็นผู้บริหารจัดการเงินทุนให้หมุนเวียนคงอยู่ในหมู่บ้านตลอดไป โดยมีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุน ตรวจสอบ ติดตามการดำเนินงานกองทุน กข.คจ.ให้มีประสิทธิภาพ 
  4. สนับสนุนเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพแก่ครัวเรือนจากจนเป้าหมาย หมู่บ้านละ 280,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย

ในปัจจุบันการดำเนินงานของกองทุนกข.คจ. เป็นเวลานานมากขึ้น  ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงไปได้ง่าย ถ้าการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่มีผลเสียหายแก่กองทุนฯ ก็ดีไป  แต่ที่เห็นจากการทำงานในปัจจุบันกองทุนฯเริ่ม มีปัญหาเช่น มีเงินขาดไปเป็นจำนวนน้อยบ้างมากบ้าง  การที่เงินหายมีด้วยกันหลายทาง คือ 
  1. ขาดเพราะคณะกรรมการเอาเงินไปใช้หลังจากสมาชิกนำเงินมาชำระคืน 
  2. จากผู้กู้ยืมเงินไม่ย่อมชำระคืน    
  3. จากผู้กู้ยืมเงินไปเสียชีวิต

วิธีการดำเนินงาน
  1. ติดตาม/ประสานงานและให้คำแนะนำช่วยกองทุนฯอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้คณะกรรมการบริหารงานเองจนอาจคิดว่าเป็นเงินของตนเอง
  2. เมื่อเจ้าหน้าที่พบว่ามีอาการหน้าสงสัยว่าจะมีเงินหายให้ติดตามตรวจสอบทันที เข้าไปทำความเข้าใจและสนิทสนมเพื่อให้ผู้ที่นำเงินไปกล้ารับผิดแล้วรับผิดชอบเงินที่หายไป และต้องใช้วิธีพูดจูงใจให้สมาชิกเห็นความจริงใจที่ต้องช่วยเหลือเพื่อยินยอมทำสัญญารับสภาพหนี้แล้วส่งชำระหนี้ตามกำหนด
  3. ให้มีผู้ค้ำประกันการกู้  จำนวน 2 คนทุกครั้ง และให้มีการส่งเสริมการออมเงินเพื่อเป็นการป้องกันเงินหายในกรณีผู้กู้เสียชีวิตและส่งเสริมนิสัยการออมให้มีการบริจาคเงินให้กลุ่มเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของกองทุนฯ เช่นค่าถ่ายเอกสาร , ค่าสมุดบัญชี,ค่าโอนเงิน ฯลฯ
    

วันพุธที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วิธีการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติฯ บ้านวังควาย


บ้านวังควาย หมู่ที่ 5 ตำบลคลองเขื่อน อำเภอคลองเขื่อน เป็นหมู่บ้านชนบทเหมือนกับหมู่บ้านโดยทั่วไป คือ อาชีพหลัก ได้แก่ การทำนา (ปีละ 2 ครั้ง) อาชีพเสริม ได้แก่ การเลี้ยงปลา ปลูกผักสวนครัว เช่น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด เวลาที่เหลือ สังสรรค์ กินเหล้า เล่นการพนัน

ปีงบประมาณ 2554 หมู่บ้านได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง ให้ดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเฉลิมพระเกียรติ โครงการขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเงิน 590,000 บาท แบ่งเป็น
1. กิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นเงิน 160,000 บาท
2. สนับสนุนกิจกรรมทางเลือกด้านอาชีพแก่ครัวเรือนเป้าหมาย จำนวน 46 ครัวเรือน เป็นเงิน 430,000 บาท

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หลังดำเนินการตามโครงการแล้ว
1. ชาวบ้านให้ความสำคัญกับการประชุมประชาคมของหมู่บ้านมากขึ้น
2. ชาวบ้านให้ความสำคัญกับอาชีพเสริม (เลี้ยงไก่ไข่,เป็ดไข่,เลี้ยงปลา,เลี้ยงกบ) มากขึ้น เนื่องมาจากเป็นที่มาของรายได้ที่เพิ่มขึ้น
3. อบายมุขลดลง ชาวบ้านพูดคุยเรื่องการทำมาหากินมากขึ้น
4. ชาวบ้านมีทัศนคติที่ดีกับข้าราชการ และมองข้าราชการเป็นที่พึ่ง รับฟังมากขึ้น

ปัญหาที่ยังพบ
1. อาชีพเสริมที่ชาวบ้านทำ บางช่วงผลผลิตออกมามาก ทำให้ล้นตลาด
2. ชาวบ้านไม่มีความสามารถในเรื่องการตลาด ขาดความรู้เรื่องตลาด ขาดบุคลากรเดินตลาด
3. เงินทุนในการรับซื้อผลผลิตของสมาชิกไม่เพียงพอ
4. ไม่มีสถานที่เก็บผลผลิต (ห้องเย็น)

วิธีการแก้ไขปัญหา
1. ใช้บ้านผู้ใหญ่บ้าน เป็นสถานที่รวบรวมผลผลิต และจัดสมาชิกนำผลผลิตออกไปจำหน่าย
2. ระดมเงินทุนรับซื้อผลผลิตของสมาชิก

ข้อเสนอ
1. ด้านความรู้ในการส่งเสริมชาวบ้านในการจัดทำตลาด
2. ต้องการสถานที่จัดเก็บผลผลิต (ห้องเย็น)
3. เงินทุนในการรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก

ความคาดหวัง
1. ชาวบ้านประกอบอาชีพที่หลากหลาย และมีรายได้เพิ่มขึ้น
2. ชาวบ้านพึ่งพาตนเอง และมีกิจกรรมพึ่งพาตนเองในหมู่บ้าน เช่น การดำเนินงานในรูปสหกรณ์ห้องเย็น

นายวีรพล  โพธิ์ชัย
พัฒนาการอำเภอคลองเขื่อน
จังหวัดฉะเชิงเทรา