วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการทำงานพัฒนาชุมชนบนความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม “บ้านสระไม้แดง”


สถานการณ์ที่ทำให้เราต้องไปศึกษา... บ้านสระไม้แดง  เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนความหลากหลายทางสังคม ทางด้านการเกษตร ชาวบ้านในชุมชน มีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมประเพณี ภาษาพูด ความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และทางศาสนา    ทำให้การดำเนินชีวิตของชาวบ้านสระไม้แดงจึงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ ด้านศาสนา ทางด้านวัฒนธรรมประเพณี และภาษาพูด ชาวบ้านจะประกอบอาชีพการเพาะเห็ดฟาง ทำนา และรับจ้าง 
 
เหตุผลที่เลือกพื้นที่ สระไม้แดงเพื่อถอดบทเรียนการทำงาน... เนื่องจากบ้านสระไม้แดงเป็นพื้นที่ที่มีผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชนค่อนข้างโดดเด่น เป็นหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลดีเด่นระดับจังหวัดมากมาย มีวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (ลงแขกถือแรง) ด้านการเกษตรอย่างเห็นได้ชัดเจน การดำเนินงานกองทุนต่างๆ และการพัฒนาหมู่บ้านด้านอื่นๆ ก็เป็นไปด้วยความราบรื่น เรียบร้อย ชาวบ้านให้ความร่วมมือดีมาก ที่สำคัญคือที่นี่มีชาวบ้านนับถือศาสนาหลายศาสนา ได้แก่ศาสนาพุทธ ร้อยละ 60 ศาสนาคริสต์ ร้อยละ 30 และศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 10 ประกอบกับประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลายและภาษาพูดที่แตกต่างกัน ได้แก่ ลาว(ภาคอีสาน) ร้อยละ 40 ภูไท ร้อยละ 30 เขมร ร้อยละ 20 และลาวพวน ร้อยละ 10 อิสลาม แต่ชาวบ้านสามารถอยู่ด้วยกันอย่างรักใคร่ สามัคคี ร่วมมือ ร่วมใจกันพัฒนาหมู่บ้าน จึงต้องการศึกษาว่าทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชน เขามีเทคนิควิธีการทำงานอย่างไร เพื่อจะได้นำเอาวิธีการเหล่านี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีสภาพของหมู่บ้านใกล้เคียงกันได้บ้าง 
วิธีการทำงานพัฒนาชุมชนของผู้นำชุมชน... มีที่สำคัญ 4 ข้อ ดังนี้

1. ด้านการประสานงาน แบ่งหน้าที่การทำงานตามผู้นำชุมชนโดยการนำผู้นำของศาสนาของตนเองเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้านทุก ๆ ด้าน เช่น ด้านการบริหารชุมชน  ด้านการบริหารกองทุนหมู่บ้าน  ด้านการบริหารคณะกรรมการหมู่บ้าน ด้านการบริหารการจัดการป้องกันยาเสพติดในชุมชน โดยเลือกผู้นำชุมชน ประกอบไปด้วย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาพัฒนาชุมชน รวมทั้งอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน  จึงทำให้การทำงานของศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์ อยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข 
  
2. ด้านการสื่อสาร... ชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์มีการสื่อสารประสานงาน โดยใช้แกนนำของผู้นำ/กรรมการแต่ละศาสนาที่แต่งตั้งในการบริหารชุมชน แยกเป็นสาย ๆ  หรือคุ้มต่าง ๆ ในการสื่อสารติดต่อประสานงาน เช่น หากมีหนังสือจากทางราชการ กรรมการหมู่บ้านจะเดินบอกตามบ้าน (ในกรณีที่เป้าหมายไม่มากนัก ประมาณ 10-20 คน)  หากเป้าหมายมีจำนวนมากจะออกเสียงตามสาย หรือใช้การสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือ เป็นการลดระยะทางในการเดินทางไปแจกหนังสือให้กับชุมชน อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คณะกรรมการหมู่บ้าน และอาสาพัฒนาชุมชนในหมู่บ้าน ได้รับผิดชอบในการเรียกชาวบ้านมาประชุมประจำเดือน และโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการ  ในอัตรา 1 ต่อ 15 ครัวเรือน 
  
3. ด้านการมีส่วนร่วม... ชาวบ้านสระไม้แดง ได้มีการร่วมกันคิดและหาทางออกในการทำงานร่วมกัน เช่น การบริหารงานกองทุนหมู่บ้าน การประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านทุกวันที่ 5 ของเดือน การจัดทำแผนชุมชน การจัดกิจกรรมวันสำคัญ เช่น วันเด็กแห่งชาติ การแข่งกีฬาโรงเรียน/ชุมชน วันที่ 12 สิงหาคม และวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี กิจกรรมทางศาสนา มีการเชิญผู้นำทั้ง 2 ศาสนาเข้าร่วมกิจกรรม 
  
การร่วมคิด วางแผนและดำเนินการ... หมู่บ้านได้มีการจัดระเบียบหมู่บ้านในการมีส่วนร่วมของทั้งสองศาสนา โดยการใช้โรงเรียนบ้านสระไม้แดงเป็นศูนย์กลางในการร่วมคิด วางแผนและดำเนินการต่าง ๆ ของกิจกรรมในหมู่บ้าน เช่นการจัดกิจกรรมวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม และวันที่เฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นต้น 
  
กองทุนหมู่บ้านฯของชุมชน... เป็นการบริหารการจัดการของคนในชุมชน และร่วมกันกำหนดแผนการดำเนินงานในการบริหารและจัดการกองทุนหมู่บ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิก โดยคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าบำรุงคิดในอัตราร้อยละ 6 ดอกเบี้ยและค่าบำรุงของกองทุนหมู่บ้าน นำมาจัดสรรประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านสระไม้แดง ได้แก่
  • เป็นทุนการศึกษาบุตรของสมาชิก
  • สวัสดิการในการรักษาพยาบาล ในกรณีนอนโรงพยาบาล วันละ 350 บาท
  • ฌาปนกิจสงเคราะห์ของหมู่บ้าน
  • อสม.ดูแลสุขภาพคนในชุมชน 
4. การจัดการปัญหาในหมู่บ้าน... ชาวบ้านสระไม้แดง มีการจัดการปัญหาในหมู่บ้าน/ชุมชน ดังนี้
  1. ให้ผู้ใหญ่บ้าน ไกล่เกลี่ย ให้ผู้นำชุมชน/คณะกรรมการหมู่บ้าน ที่ใกล้ชิดกับคู่กรณี ไกล่เกลี่ย
  2. ให้บิดา มารดา และญาติพี่น้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในกรณีของบุตรหลานของตนประพฤติไม่ดี
  3. หากเกิดกรณีของคนในทางศาสนาใดศาสนาหนึ่งประพฤติไม่ดี ก็ให้ผู้นำศาสนานั้น ๆ มาไกล่เกลี่ย
  4. เรียกประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านของทั้งสองศาสนา มาประชุมแก้ไขปัญหา หาทางออกร่วมกันในกรณีข้อ 1-4  ไม่สามารถตกลงกันได้ 
แนวคิดในการดำเนินการ 
  1. มีศาลาประชาคมหมู่บ้านใช้เป็นที่พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ของกลุ่ม องค์กร / ประชาชน ในและนอกตำบล อำเภอ จังหวัดต่าง ๆ 
  2. ระดมพลังความคิด กลุ่ม องค์กร ผู้นำ ประชาชน  กำหนดแนวทางการบริหารร่วมกัน 
  3. ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและถ่ายทอดความรู้ของชุมชนด้านเศรษฐกิจพอเพียง 
  4. ระดมทุนและทรัพยากร ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมในชุมชน 
บ้านสระไม้แดงมีความสำเร็จโดยผู้นำชุมชนมีหลักการดำเนินการ... อยู่การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ให้ความร่วมมือร่วมใจกัน ความซื่อสัตย์สุจริต มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา ความไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เป็นพรรคเป็นพวก สร้างความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และการยึดหลักประชาธิปไตยในการดำเนินงาน
เทคนิคการทำงานบนความแตกต่าง...
  • P1 : People การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มีผู้นำชุมชนเป็นผู้ใหญ่บ้าน ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมอย่างมาก ประกอบกับมีคณะทำงานบริหารกรรมการของหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง    สามารถเป็นตัวอย่าง และต้นแบบในการเผยแพร่ให้คนทั้งในและนอกชุมชนได้ดำเนินตามได้
  • P2 : Place การพัฒนาพื้นที่  ได้มีการยึดพื้นที่เป็นหลักในการทำให้ชุมชนน่าอยู่ มีการจัดการชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอาศัยความร่วมมือของผู้นำทั้งสองศาสนา
  • P3 : Product  การกำหนดอัตลักษณ์ของชุมชน Positioning ร่วมกันวิเคราะห์ ในรูปของการจัดเวทีประชาคม เพื่อหาแนวทางหรือทิศทางที่เป็นจุดแข็ง หรือจุดเด่นของชุมชน ซึ่งบ้านสระไม้แดง หมู่ที่  5 ได้กำหนดอัตลักษณ์ เป็นศาสนาพุทธและคริสต์ ชาวภูไทและพวน เขมรและลาว มีการบูรณาการในการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน และการรักษาประเพณีวัฒนธรรมของศาสนาทั้งสองได้อย่างดี
  • P4 : Planning  การพัฒนาแผนชุมชน  ได้มีการจัดประชุมประจำเดือนทุกวันที่ 5 ของเดือน และมีการประชาคมทำแผนชุมชน มีครัวเรือนเข้าร่วมในการจัดทำแผน โดยมีเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลคู้ยายหมี สำนักงานพัฒนาชุมชนและหน่วยงานราชการต่าง ๆ  เข้าร่วมตั้งแต่ต้น  มีแผนชุมชนเป็นรูปเล่มในหมู่บ้าน 
เทคนิคการทำงานของพัฒนากรสู่ความสำเร็จของหมู่บ้าน... จากการถอดบทเรียนพบว่า สิ่งที่พัฒนากรต้องปฏิบัติมี ดังนี้  ตรงต่อเวลา มีวาจาสุภาพ อ่อนหวาน ต้องเป็นมิตรกับชาวบ้าน ให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของแต่ละคน ยอมรับฟังเหตุผลเสมอ และคิดก่อนพูดเสมอ

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ1 สิงหาคม 2556 เวลา 21:36

    ชุมชนตัวอย่างที่ดี

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ2 สิงหาคม 2556 เวลา 09:56

    ผู้นำชุมชน และแกนนำชุมชนมีความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ ทำให้ประชาชนพร้อมที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนในทุก ๆ ด้าน

    ตอบลบ