วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการทำงานพัฒนาชุมชนบนพื้นฐานอาชีพเกษตรกรรม “บ้านหนองแหน”



บริบทของบ้านหนองแหน... บ้านหนองแหน หมู่ที่ 12 ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ ประชากรประมาณ 1,048 คน โดยมีพื้นที่ทำนา 498 ไร่ ทำสวนทำไร่ 1,000 ไร่ และเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 90 ไร่ จำนวนครัวเรือน 258 ครัวเรือน อาชีพของชาวบ้าน ส่วนใหญ่ทำนา ทำสวน ทำไร่ ค้าขาย รับจ้าง และส่วนหนึ่งทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม
 
การประสานงาน/การสื่อสารข้อมูลข่าวสารของผู้นำชุมชนกับชาวบ้านที่นี่... บ้านหนองแหนมีอาชีพทางด้านทำนา ทำสวน ทำไร่ และทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเวลาพบปะจะพบแตกต่างกัน ใช้วิธีการประสานงานโดยการแจกหนังสือ ในหนังสือต้องระบุความสำคัญ รายละเอียดของการจัดประชุม/เวทีประชาคม โดยระบุผู้รับ(เจ้าบ้าน เลขที่บ้าน) และแบ่งให้คณะกรรมการเป็นผู้จัดส่ง แจ้งข้อมูลข่าวสารที่เป็นทางการภายในหมู่บ้านเมื่อมีวาระการประชุม นอกจากนี้แล้วยังมีการกระจายข่าวโดยการบอกต่อ โทรศัพท์ หอกระจายข่าว การติดประกาศ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทางอินเตอร์เนต ทาง Facebook 
 
สำหรับเรื่องของการมีส่วนร่วมกิจกรรมของหมู่บ้าน... การสร้างวิสัยทัศน์ให้กับแกนนำชุมชนในเรื่องการมีส่วนร่วม โดยคณะกรรมการหมู่บ้านต้องเป็นแกนนำในหมู่บ้าน เป็นแบบอย่างที่ดีในการด้านการมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชาคมได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี โดยยึดหลักการมีเหตุผล การประชุมคณะกรรมการการ หมู่บ้าน จะจัดในช่วงระยะเวลาที่นอกเหนือจากเวลาการประกอบอาชีพการเกษตร คือ ช่วงกลางคืน เวลา 18.0020.00 น. 
สร้างการมีส่วนร่วมด้วยการรวมกลุ่มที่หลากหลายภายในชุมชน...ได้แก่
  1. กลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เป็นการรวมกลุ่มของผู้ที่มีวัยใกล้เคียงกัน ได้ทำกิจกรรมร่วมกันทางด้านสังคม สุขภาพอนามัย การจัดองค์ความรู้ในหมู่บ้าน เป็นที่เคารพของคนในหมู่บ้าน
  2. กลุ่มสถาบันการเงิน ได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนฌาปนกิจ เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนและบริการในเรื่องการเงิน
  3. กลุ่มอาชีพ บ้านหนองแหนได้รวมกลุ่มตามอาชีพการเกษตรในพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มทำไร่ (ปาล์ม/ยางพารา) กลุ่มทำสวนผลไม้ (มะม่วง/มะละกอ/ขนุน) กลุ่มเลี้ยงสัตว์ (หมู/ไก่) เพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านการเกษตร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเป็นการสร้างรายได้ให้มากขึ้น

เครื่องมือและกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน... บ้านหนองแหนใช้แผนชุมชนเป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการร่วมคิด และแก้ไขปัญหาของชุมชน โดยมีข้อมูลหมู่บ้าน ได้แก่ ข้อมูล กชช.2ค เป็นต้น ทั้งนี้คณะกรรมการหมู่บ้าน แกนนำหมู่บ้านตลอดจนประชาชนเป็นผู้ร่วมดำเนินการ มีการดำเนินกิจกรรมในหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ วันสำคัญทางศาสนา วันสำคัญของชาติ วันสำคัญทางวัฒนธรรมประเพณี ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ วันลอยกระทง พิธีไว้ศาลปู่ เซิ้งนางแมว สู่ขวัญข้าว และมีการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น การปลูกป่า การบวชป่า 

การจัดการปัญหาในบ้านหนองแหน... ก็คือ
  1. ปัญหายาเสพติด ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยาเสพติดมีอยู่ทั่วไป โดยสิ่งแรกที่ดำเนินการคือการให้ความรู้ถึงโทษภัยของยาเสพติดแก่ประชาชนในชุมชนทุกเพศทุกวัย ในสถานศึกษาครูจะเป็นผู้ให้ความรู้ เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมในเวทีประชาคมและร่วมเป็นวิทยากรในการส่งเสริมความรู้เรื่องยาเสพติด  การรณรงค์ในวันสำคัญต่าง ๆ และการดำเนินกิจกรรมกองทุนแม่ของแผ่นดิน โดยการเฝ้าระวัง / 25 ตาสับปะรด / การเข้าค่ายบำบัด / การให้โอกาสโดยใช้กระบวนการ 9 ขั้นตอนของ ปปส.
  2. ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน  จะมีปัญหาความขัดแย้งทั้งด้านการกระทำและความคิด การจัดการปัญหาใช้แนวทางไกล่เกลี่ยโดยมีผู้นำชุมชน กรรมการหมู่บ้านร่วม แต่ส่วนใหญ่ปัญหาจะจบลงโดยการไกล่เกลี่ย ส่วนน้อยจะมีประเด็นที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องส่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการโดยตรง สำหรับความขัดแย้งในเรื่องความคิด ในการสร้างความสมานฉันท์ปรองดองในชาติ ต้องหลีกเลี่ยงการพูดเรื่องการเมือง โดยเน้นการพัฒนาชุมชนเป็นหลัก สร้างการมีส่วนร่วมกิจกรรมในชุมชนทุกเพศทุกวัย

การเลือกผู้นำ... เนื่องจากผู้นำมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนบ้านหนองแหนให้ความสำคัญกับการเลือกผู้นำ โดยใช้วิธีการเสนอชื่อผู้นำชุมชนที่มีคุณวุฒิ วัยวุฒิเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปในชุมชน มีการรับรองจากคนในเวทีประชาคม ใช้หลักการประชาธิปไตยโดยใช้เสียงส่วนใหญ่ โดยคุณสมบัติที่ใช้ในการเลือกผู้นำชุมชน ได้แก่ มีวิสัยทัศน์ แนวคิดดี เป็นที่น่านับถือ มีความรู้ รับผิดชอบ กล้าแสดงออก มีความเสียสละต่อส่วนรวม ทำงานร่วมกับชุมชนได้ไม่ถือตัว และมีฐานะอยู่ในระดับดี เนื่องจากผู้นำต้องทำงานเสียสละทั้งกำลังเวลาและกำลังเงินในส่วนรวม 

บทเรียนที่ได้จากบ้านหนองแหน... คือ การพัฒนาชุมชนใช้หลักการพัฒนาชุมชนแบบเดิม คือ การมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ของประชาชนในชุมชนอันที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการช่วยให้ประชาชนสามารถคิดเอง ทำเอง รวมตลอดถึง กระบวนการพัฒนาชุมชน คือ
  1. การให้เรียนรู้ข้อมูล ปัญหาของชุมชน
  2. การวิเคราะห์ข้อมูล
  3. การวางแผนดำเนินการ
  4. การดำเนินการตามแผนที่วางไว้
  5. การแก้ไขปัญหาอุปสรรค
  6. การติดตามประเมินผล

การจัดการกับเวลา... โดยเหตุจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจทำให้คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ต้องไประกอบอาชีพนอกพื้นที่ การดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชนต้องเปลี่ยนแปลงเวลาบ้าง ทั้งนี้ เพื่อให้คนในชุมชนที่ต้องออกไปประกอบอาชีพนอกพื้นที่ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรมดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น