วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เดือนละวัน ฉันและเธอ ร่วมใจพัฒนา สร้างสรรค์ชุมชน “บ้านสนามช้าง”



สถานการณ์ที่ทำให้ต้องศึกษา... เนื่องจากสภาพสังคมของจังหวัดฉะเชิงเทราเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต บ้านสนามช้างเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 20 ของพื้นที่หมู่บ้าน ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับมีถนนสาย 304 (ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) ผ่านกลางหมู่บ้าน ทำให้หมู่บ้านแบ่งออกเป็นสองฝั่ง สองส่วน ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนงานและกิจกรรมเป็นไปด้วยความยากต่อการติดต่อประสานการทำงานในชุมชน แต่มีวิธีการจัดการชุมชนให้กิจกรรมพัฒนาชุมชนสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่องและเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชน

บริบทของบ้านสนามช้าง...
บ้านสนามช้าง หมู่ที่ 4 ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีประชากร 1,023 คน จำนวนครัวเรือน 286 ครัวเรือน อาชีพหลักของประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา เลี้ยงกุ้ง ทำสวน ค้าขาย และรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม อาชีพรองคือปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เช่น เพาะเห็ด แปรรูปเนื้อสัตว์ เป็นต้น โดยพื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้าน แยกเป็นทางด้านการเกษตร (ทำนา เลี้ยงกุ้ง ปลูกไม้ผล เลี้ยงสัตว์) ร้อยละ 60 เป็นพื้นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 20 และอื่น ๆ ร้อยละ 20

ความสำเร็จในการทำงานพัฒนาชุมชน... บ้านสนามช้างประสบความสำเร็จในด้านการบริหารจัดการชุมชน และกองทุนต่างๆ ของหมู่บ้านเป็นอย่างดี  ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กลุ่มออมทรัพย์ฯ กองทุนสัจจะวันละบาท กองทุนแม่ของแผ่นดิน ชมรมผู้สูงอายุ และกลุ่มอาชีพที่โดดเด่น ได้แก่ กลุ่มอาชีพเพาะเห็ด กลุ่มแปรรูปเนื้อสัตว์ เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ

การเรียนรู้ของชาวบ้านสนามช้าง...
มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพาะเห็ด มีการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาให้เกิดรายได้ เช่น ปลูกมะม่วง เพาะเห็ด ปลูกผัก  โดยประสานกับโรงเรียนในพื้นที่ (โรงเรียนบ้านสนามช้าง) มาศึกษาเรียนรู้ในศูนย์เรียนรู้ และที่สำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนในหมู่บ้าน โดยกำหนดวันประชุมร่วมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง คือทุกวันที่ 9 ของเดือน เพื่อติดตามการดำเนินงานในเดือนที่ผ่านมา แก้ไขปัญหาของชุมชน แจ้งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ร่วมวางแผนการทำงานในรอบเดือน และมอบหมายการปฏิบัติงานตามแผนที่กำหนด จึงเป็นที่มาของคำว่า “เดือนละวัน ฉันและเธอ ร่วมใจพัฒนา สร้างสรรค์ชุมชน

วิธีการทำงานพัฒนาชุมชนของผู้นำชุมชน... มีที่สำคัญ 5 ข้อ ดังนี้
1. ด้านการสื่อสารและประสานงาน

การประสานงานประชาชนในหมู่บ้านสนามช้างให้มีความทั่วถึง ได้แบ่งหน้าที่การประสานตามอาณาเขตการปกครอง ออกเป็น 4 คุ้ม ได้แก่ คุ้มศาลาเขียว คุ้มสนามช้าง คุ้มสาวชะโงก และคุ้มสะพานโค้ง นอกจากนี้จะเป็นการส่งหนังสือพร้อมเซ็นรับหนังสือ พร้อมการประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย เพื่อเตือนความจำและให้ทั่วถึงอีกครั้ง เนื่องจากการประกอบอาชีพของชาวบ้านไม่ตรงกัน ทำให้เวลาไม่ตรงกัน ในวันประชุมประจำเดือน หากตัวแทนครัวเรือนไม่สามารถเข้าร่วมประชุมไม่ได้ให้ไปแจ้งหัวหน้าคุ้มในปัญหา ความต้องการและความประสงค์ของตนเอง เพื่อให้หัวหน้าคุ้มเป็นตัวแทนและเป็นหน่วยประสานงานของกรรมการหมู่บ้าน

2.
ด้านการมีส่วนร่วม
ชาวบ้านสนามช้าง ได้มีการประชุมเพื่อสร้างข่าวสาร ร่วมกันคิด วางแผน ปฏิบัติงาน และหาทางออกในการทำงานร่วมกัน ทุกวันที่ 9 ของเดือน การจัดทำแผนชุมชน การจัดกิจกรรมวันสำคัญ เช่น วันเด็กแห่งชาติ การแข่งกีฬาโรงเรียน/ชุมชน วันที่ 12 สิงหาคม และวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี
การร่วมคิด วางแผนและดำเนินการ... หมู่บ้านได้มีการจัดระเบียบหมู่บ้าน (กฎหมู่บ้าน) ในการมีส่วนร่วมของสมาชิกในหมู่บ้าน โดยการใช้วัดสนามช้าง วัดหัวสวน และองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้เป็นศูนย์กลางในการร่วมคิด วางแผนและดำเนินการต่าง ๆ ในหมู่บ้าน

แหล่งเงินทุนหมู่บ้านสนามช้าง...
เป็นการบริหารการจัดการของคนในชุมชน และร่วมกันกำหนดแผนการดำเนินงานในการบริหารและจัดการแหล่งเงินทุนหมู่บ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิก โดยคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าบำรุงคิดในอัตราร้อยละ 6 ดอกเบี้ยและค่าบำรุงของแหล่งเงินทุนหมู่บ้านนำมาจัดสรรประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านสนามช้าง ได้แก่

  1. เป็นทุนการศึกษาบุตรของสมาชิก
  2. สวัสดิการในการรักษาพยาบาล
  3. ฌาปนกิจสงเคราะห์ของหมู่บ้าน
  4. สาธารณประโยชน์

3.การจัดการปัญหาในหมู่บ้าน
บ้านสนามช้าง เป็นหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งโรงงานและเป็นทางผ่าน จึงมีปัญหาที่เกิดแต่ทั้งนี้ก็ได้จัดการกับปัญหาปัญหาในหมู่บ้าน/ชุมชน ดังนี้


ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน..
หากเป็นปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่หมู่บ้านเดียวกันจะดำเนินการผู้ใหญ่บ้านและผู้อาวุโสเป็นผู้ ไกล่เกลี่ย คู่กรณี ให้ลดปัญหาหรือขจัดปัญหาให้หมดไป หากเป็นปัญหาข้ามหมู่บ้านตำบล จะมีการเจรจาระหว่างผู้นำชุมชน พูดคุยก่อน หากเกิดความสามารถจึงจะส่งต่อ กำนัน อบต. อำเภอ หรือศาลแล้วแต่กรณีต่อไป หากเป็นปัญหาของวัยรุ่นต้องให้บิดามารดาและญาติพี่น้องของคู่กรณีเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในกรณีของบุตรหลานของตนประพฤติไม่ดี


ปัญหาด้านยาเสพติด...บ้านสนามช้างเป็นหมู่บ้านที่มีการเชื่อมต่อและทางผ่านหลายสาย ประกอบกับพื้นที่มีประชากรแฝง และโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทางหมู่บ้านได้การป้องกันและแก้ไขอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีการตรวจฉี่ครัวเรือน ดำเนินการโดยกรรมการหมู่บ้านและร่วมตำรวจในพื้นที่ และมีการลงประชามติในทางลับ และส่งบำบัดต่อไป

ปัญหาจากโรงงานอุตสาหกรรม..
ในพื้นที่หมู่บ้านเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม ทุกคนในหมู่บ้านต้องมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแล เช่น การทิ้งของเสียจากโรงงาน หากพบปัญหาจะแจ้งกรรมการหมู่บ้าน และกรรมการหมู่บ้านปรึกษาร่วมกัน เข้าพบผู้บริหารของโรงงานเพื่อแจ้งให้ทราบและพูดคุยกันในปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข


บ้านสนามช้างประสพความสำเร็จในการบริหารจัดการชุมชนโดยมีผู้นำชุมชนมีหลักการดำเนินการ... โดยใช้พรหมวิหาร 4 อยู่การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ให้ความร่วมมือร่วมใจกัน ความซื่อสัตย์สุจริต มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีน้ำใจ ความไม่เห็นแก่ตัว  สร้างความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และการยึดหลักประชาธิปไตยในการดำเนินงาน

เจ้าหน้าที่มีวิธีการทำงานอย่างไรบ้าง...
การทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพอันดับแรกคือการสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในพื้นที่ สร้างความเข้าใจในทุกกิจกรรม ใช้คนให้เป็นและเน้นคุณธรรม โดยใช้คนให้ถูกกับงาน และต้องมีคุณธรรม โดยพัฒนากรต้องเป็นต้นแบบในการพัฒนา ทั้งด้านการแต่งกาย การพูดจา มีปิยวาจา มีความ การปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามสถานการณ์ เช่น การเป็นผู้นำ และเป็นผู้ตามในบางเวลาและโอกาสที่เหมาะสม ให้ความสำคัญกับกลุ่มองค์กร ผู้นำชุมชน ทุกคนมีความสำคัญเท่ากันหมด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น