วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน “บ้านตลาดดงน้อย”

บริบทของบ้านตลาดดงน้อย... ตามประวัติของหมู่บ้านนั้นเป็นชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนจากการทำศึกสงครามได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มเดียวกันที่ตำบลดงน้อย ซึ่งเดิมทีก็มีคนไทยอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว และต่อเมามีชาวจีนเข้ามาค้าขายและตั้งบ้านเรือน/ร้านค้าจนกลายเป็นแหล่งตลาดในการซื้อขาย ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ “ตลาดดงน้อย” บ้านตลาดดงน้อย หมู่ที่ 1 ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น มีจำนวนครัวเรือน 160 ครัวเรือน ประชากร 507 คน แยกเป็นเพศหญิง 263 คน เพศชาย 244 คน มีพื้นที่ของหมู่บ้าน 750 ไร่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา อาชีพรอง รับจ้าง ค้าขาย และเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ เป็นป่าชุมชน “โคกโพธิสัตว์” ซึ่งเป็นที่สาธารณะหมู่บ้าน

สถานการณ์ที่ทำให้เราต้องไปศึกษา... จากประวัติหมู่บ้านจะพบว่าบรรพบุรุษ และการสืบทอดมา ณ ปัจจุบันนี้ ก็มีทั้งคนเชื้อชาติเขมร เชื้อชาติจีน เชื้อชาติไทย และไทยอีสาน การนับถือศาสนาและวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีทั้งศาสนาพุทธ การไว้จ้าวของคนเชื้อชาติจีน การนับถือผีจ้าวเข้าทรงของคนเชื้อชาติเขมร ส่วนการประกอบอาชีพก็มีทั้งค้าขาย ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ช่างไม้ ข้าราชการ รับจ้างทั่วไป และรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม และมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน คือ ไปทำงานนอกพื้นที่ของหมู่บ้าน ตำบล ซึ่งทำงานในบริษัท/โรงงงานเกือบทุกครัวเรือน มีประเพณีวัฒนธรรมสืบทอดต่อกันมา ได้แก่ งานบวช งานแต่ง ทำบุญกลางบ้าน งานบุญต่าง ๆ ได้แก่ งานศพ งานลอยกระทง งานสงกรานต์ งานบุญทางศาสนาในวันสำคัญต่าง ๆ งานประเพณีศาลจ้าว/เข้าทรง และการเซ่นไหว้ผี

เหตุผลที่เลือกพื้นที่ บ้านตลาดน้อยเพื่อถอดบทเรียนการทำงาน... เนื่องจากบ้านตลาดน้อยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และวัฒนธรรม แต่ผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชนในพื้นที่หมู่บ้านที่เด่นและเป็นแบบอย่างได้ ทั้งเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เป็นศูนย์เรียนรู้กองทุนแม่ของแผ่นดินระดับอำเภอ และเป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติด เป็นหมู่บ้านที่ได้ผ่านการคัดเลือกจากอำเภอเป็นหมู่บ้านเกรด A ในการประชาคมหมู่บ้าน พร้อมกับมีเงินค่าตอบแทนในการประชุมประชาคมหมู่บ้านทุกหมู่บ้านทุกเดือน เป็นหมู่บ้านที่จัดทำแผนชุมชนดีเด่น ผ่านประเมินมาตรฐานแผนชุมชน 2 ปี และที่สำคัญการบริหารงานของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านตลาดน้อย สมาชิกได้รับความร่วมมืออย่างดี ไม่มีนี้สินค้างชำระ จึงต้องการศึกษาว่าทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชน เขามีเทคนิควิธีการทำงานอย่างไร เพื่อจะได้นำเอาวิธีการเหล่านี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีสภาพของหมู่บ้านใกล้เคียงกันได้บ้าง

วิธีการทำงานพัฒนาชุมชนของผู้นำชุมชนบ้านตลาดน้อย... ความหลากหลายทางสังคมที่มีอยู่ในหมู่บ้านส่งผลต่อการสร้างการมีส่วนร่วม วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ความขัดแย้งจากการทะเลาะเบาะแว้ง ปัญหายาเสพติด วัยรุ่น มีวิธีการทำงานของผู้นำชุมชนที่สำคัญ ดังนี้
1. การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน... ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพ และการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมขาดการสืบสานภูมิปัญญา และเกิดเครือข่ายของยาเสพติดจากโรงงานสู่ชุมชน มีแนวทางการดำเนินงานคือ จัดกิจกรรมของหมู่บ้านในวันหยุด เพื่อผู้ทำงานในโรงงานได้เข้าร่วม มีศูนย์เรียนรู้ชุมชน สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ด้านยาเสพติดใช้แนวทางของกองทุนแม่ของแผ่นดิน
2. การจัดการกับปัญหาด้านประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นอยู่...
ประชาชนในหมู่บ้านมีคนเชื้อสายจีน เชื้อสายเขมร และอีสาน มีปัญหาในเรื่องการดูหมิ่นดูแคลน เกิดความแตกแยกทางด้านความคิดและการยอมรับ ต้องสร้างความรู้เรื่องประชาธิปไตย สิทธิส่วนบุคคล สร้างความสามัคคี และการยอมรับของคนทุกคนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะผู้นำต้องเข้ากับทุกฝ่าย ให้สามารถอยู่ร่วมกันและสมานฉันท์ ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข  

การดำเนินงานของพัฒนากรในพื้นที่มีความหลากหลาย... ทำให้การประสานการทำงานในพื้นที่ติดต่อลำบาก และการมีส่วนร่วมในกิจกรรม ในการพัฒนาระบบกลไก/องค์กรชุมชน เครือข่ายการทำงาน ทั้งนี้ได้มีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
1) ใช้การสื่อสารทางโทรศัพท์ในการนัดหมาย พูดคุย หรือส่งเป็นข้อความอ่านเข้าใจชัดเจน ในการเข้าร่วมกิจกรรมต้องมีความเสียสละเวลาที่นอกเหนือจากเวลาราชการ (ช่วงเย็นหรือวันหยุด) โดยยึดความพร้อมของประชาชน/ผู้นำเป็นหลัก
2) เพื่อให้การพัฒนากลไกการทำงาน ให้คนรุ่นใหม่ได้สืบสาน ได้มีการจัดการความรู้ให้ครบวงจร จัดทำศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

3) การประสานครัวเรือนเข้าร่วมการประชุม เพื่อให้ครบตามกลุ่มเป้าหมายต้องมีการสื่อสารหลายทาง จะได้ทราบอย่างทั่วถึงและไม่หลงลืม
4) โครงการ/กิจกรรมที่ทางราชการดำเนินการในพื้นที่หมู่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องอุปสรรคของการไม่มีเวลาของประชาชนที่จะเข้ามาร่วมประชุม/อบรม จึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจและประโยชน์ที่จะได้รับ ความคุ้มค่า ความยั่งยืนแก่ผู้นำและประชาชนของหมู่บ้าน ในการอยู่ร่วมกันต้องมีกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้าน และท้ายสุดก็เกิดประโยชน์สุขส่งผลดีต่อครัวเรือนและประชาชนในหมู่บ้าน


เทคนิคการทำงานของพัฒนากรผู้ประสานงานตำบลดงน้อย... จากการถอดบทเรียนพัฒนากรผู้ประสานงานตำบลในเทคนิคการทำงานให้มีความสำเร็จ จะพบว่ามีเทคนิคและหลักการทำงาน ดังนี้

  1. ใช้หลักพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่พัฒนากร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2508 และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต
  2. การทำงานต้องสอดคล้องเป้าหมาย วิสัยทัศน์กรมการพัฒนาชุมชน
  3. มีเครื่องมือในการทำงาน เช่น จปฐ. กชช.2ค ฯลฯ และรวบรวมข้อมูลทุกด้านของหมู่บ้าน และนำข้อมูลมาศึกษาวิเคราะห์ 
  4. ร่วมวางแผนการดำเนินงานกับทีมงานพัฒนาชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้านและภาครัฐ/กลุ่มองค์กร/เอกชน 
  5. พัฒนาระบบกลไก การมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ของคนในชุมชนและตัวพัฒนากรเองก็ร่วมเรียนรู้ในความสามารถ/ความคิดและภูมิปัญญาของชาวบ้านด้วย
  6. นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการบริหารงานที่ดี
  7. สร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจ ความเป็นกันเองแบบพี่น้อง (กินง่าย อยู่ง่าย) ยึดพื้นที่เป็นหลัก (รู้ตน รู้คน รู้พื้นที่)
  8. เข้าร่วมกิจกรรม งานสังคม งานประเพณีของชุมชน
  9. ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาในสิ่งที่จำเป็น/เดือนร้อนของชาวบ้าน ไม่เลือกแบ่งฝ่ายแบ่งพรรคแบ่งพวก มีใจเป็นกลางในการทำงาน
  10. พร้อมเป็นผู้รู้ สามารถให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่อง (รับฟัง/ประสานงานกับผู้รู้) คือ ไม่ปฏิเสธในการปรับทุกข์ของชาวบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น