วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการทำงานในชุมชนอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมเพื่อสร้างความผาสุกในหมู่บ้าน “บ้านชวดชะโด”



สถานการณ์ที่ทำให้ต้องศึกษา... บ้านชวดชะโด เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นฐานทางด้านเกษตรกรรม เนื่องจากสภาพสังคมปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ซึ่งเมื่อก่อนนี้สภาพสังคมเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันการประกอบอาชีพทุกครัวเรือนประกอบอาชีพทำนา แต่สมาชิกบางส่วนในครัวเรือนคือบุตรหลานไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้านจะไม่ครอบคลุม และไม่ทั่วถึง ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่มีเวลาทำงานที่แน่นอนเนื่องจาการเข้ากะหรือเช้าไปเย็นกลับ หยุดเฉพาะวันอาทิตย์ ร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านน้อยลง

เหตุผลที่เลือกพื้นที่บ้าน
ชวดชะโดเพื่อถอดบทเรียนการทำงาน... บ้านชวดชะโดมีผู้นำชุมชนและแกนนำของหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็ง ชาวบ้านในหมู่บ้านให้ความร่วมมือการทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่อย่างดี มีข้อตกลงร่วมกันในการทำงาน มีการประชุมร่วมกันทุกเดือนและตรงต่อเวลา ซึ่งบ้านชวดชะโดจะมีความแตกต่างในเรื่องเวลาของชาวบ้านแต่สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ สร้างความร่วมมือ สร้างความสามัคคีกันในชุมชน ประกอบกับพื้นที่ของหมู่บ้านได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ก็ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การทำงานเช่นกัน โดยใช้หลักการประโยชน์ร่วมกันในชุมชน

บริบทของบ้านชวดชะโด...
บ้านชวดชะโด หมู่ที่ 5 ตำบลก้อนแก้ว อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา มี ประชากรอยู่จริง 509 คน จำนวนครัวเรือน 127 ครัวเรือน อาชีพของชาวบ้าน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา อาชีพเสริมคือปลูกข่า และมีส่วนหนึ่งรับจ้างทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม สภาพการปลูกบ้านของครัวเรือนในหมู่บ้านในลักษณะรวมกลุ่ม ญาติพี่น้องจะปลูกบ้านอยู่ใกล้เคียงกัน

ความสำเร็จในการทำงานพัฒนาชุมชน... บ้านชวดชะโดประสบความสำเร็จในด้านการบริหารจัดการกองทุนต่างๆ ของหมู่บ้านเป็นอย่างดี การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านมีสมาชิกบางรายที่ส่งคืนเงินกู้ไม่ตรงตามกำหนด แต่กรรมการสามารถดำเนินการบริหารจัดการอย่างราบรื่นไม่มีปัญหาหนี้สินค้างชำระ ซึ่งการบริหารจัดการของแต่ละกองทุนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี มีประสิทธิภาพ มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ของชุมชน กิจกรรมเกษตรแบบพอเพียง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาสู่เยาวชนรุ่นหลัง
วิธีการทำงานพัฒนาชุมชนบ้านชวดชะโดของผู้นำชุมชน... มีที่สำคัญ 5 ข้อ ดังนี้
1. ด้านการสื่อสารและการประสานงาน

ในการแจ้งข้อมูลข่าวสารที่ทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำกัน ได้แบ่งหน้าที่การทำงานตามผู้นำชุมชนตามโซน เพื่อให้การประสานทั่วถึง แบ่งความรับผิดชอบในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร โดยมีหลักการการประสานคือ การใช้โทรศัพท์ หากกิจกรรมนั้นไม่สำคัญหรือเร่งด่วน หากเป็นกิจกรรมที่สำคัญจะมีการออกหนังสือเชิญประชุม ต้องมีการแจ้งกันล่วงหน้า และการประชุมประจำเดือนจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนที่ทำงานในโรงงาน ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าเพื่อจะได้ลางานหรือจะจัดกิจกรรมในวันหยุด (วันอาทิตย์) เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าร่วมกิจกรรม สร้างความสามัคคีในชุมชน


2. ด้านการมีส่วนร่วม
ชาวบ้านชวดชะโด ได้มีการร่วมกันคิดและหาทางออกในการทำงานร่วมกัน เช่น การบริหารงานกองทุนหมู่บ้าน การประชุมประจำเดือน การจัดทำแผนชุมชน การจัดกิจกรรมวันสำคัญ การแข่งกีฬาชุมชน โดยเน้นการประชุมต้องมีตัวแทนครัวเรือนทุกครัวเรือนเข้าร่วมประชุม และจะเน้นการจัดกิจกรรมในวันหยุด หากมีการจัดกิจกรรมในวันธรรมจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

3. กิจกรรมการพัฒนาชุมชนบ้านชวดชะโด

บ้านชวดชะโด มีกิจกรรมของหมู่บ้านเพื่อเป็นการสร้างความสามัคคี และพัฒนาหมู่บ้าน มีการจัดกิจกรรม ดังนี้ การจัดกิจกรรมวันสำคัญ เช่น 12 สิงหาคม และวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี กิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมวันผู้สูงอายุ การฝึกอาชีพ การทำบุญขวัญข้าว การทำบุญสวนตะปุโต (ขอฝน) และการร่วมกันกำจัดวัชพืชในคูคลองต่าง ๆ

4. การจัดการปัญหาในหมู่บ้าน
บ้านชวดชะโด เป็นพื้นที่เกษตรกรรม อยู่กันแบบรวมกลุ่ม แต่ก็มีข้อขัดแย้งในหมู่บ้าน จากการถอดบทเรียน มีแนวทางการจัดการปัญหา ดังนี้
ปัญหายาเสพติด
จะมีการแบ่งครัวเรือนที่รับผิดชอบดูแล สอดส่อง เพื่อให้ครอบคลุมและทั่วถึง ไม่ปิดบังข้อมูลกัน ใช้หลักการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งนี้หมู่บ้านได้หารายได้จากการทอดผ้าป่าสมทบกองทุน เพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อ
ปัญหาอื่น ๆ
  ปัญหาที่เป็นของหมู่บ้านจะใช้เวทีประชาคมในการแก้ไขปัญหา ตัดสินปัญหา โดยใช้มติเสียงส่วนใหญ่ ปัญหาในครัวเรือนใช้คนที่เป็นที่เคารพตักเตือนกันเอง ทั้งนี้หากเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นมา จะใช้หลักการไกล่เกลี่ย โดยผู้นำชุมชน/คณะกรรมการหมู่บ้าน ที่ใกล้ชิดกับคู่กรณี ไกล่เกลี่ย ซึ่งที่ผ่านมาจะจบลงด้วยดี


เจ้าหน้าที่มีวิธีการทำงานอย่างไรบ้าง...
เพื่อให้การบริหารงาน บริหารเวลาเป็นไปตามสถานการณ์ และมีประสิทธิภาพ พัฒนากรมีแนวทางการทำงาน ดังนี้
1.
การเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการทำงานพัฒนาชุมชนในปัจจุบันจะเน้นเอกสาร การรายงาน ต้องมีเวลาในการเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จะใช้วันที่มีการประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านเพื่อจะได้พบปะผู้นำชุมชน และเข้าร่วมทุกครั้ง ทุกเดือน
2. การบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานภาคี
ต้องมีการประสานกับหน่วยงานอื่น ร่วมมือกันทำงาน และบูรณาการกิจกรรมในพื้นที่
3. ใช้โทรศัพท์ในการประสานงานเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว
ถึงแม้จะเป็นข้อเสียแต่ก็จำเป็น แต่อย่างไรก็ตามก็มีการใช้โทรศัพท์บ้าง ประสานเองบ้างตามความเหมาะสม

เทคนิคการทำงานพัฒนาชุมชนบนความต่างทางวัฒนธรรม “บ้านทุ่งส่าย”



สถานการณ์ที่ทำให้เราต้องไปศึกษา... บ้านทุ่งส่าย หมู่ที่ 12 ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่หมู่บ้านที่มีการโยกย้ายถิ่นฐานจากที่อื่นมาอาศัยอยู่ โดยเฉพาะจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีความหลากหลายทางสังคม การดำเนินชีวิตของชาวบ้านทุ่งส่ายจึงมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ ทางด้านวัฒนธรรมประเพณี และภาษาพูด

เหตุผลที่เลือกพื้นที่
ทุ่งส่ายเพื่อถอดบทเรียนการทำงาน... บ้านทุ่งส่ายเป็นหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ปี 2554 มีวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ความสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้านการเกษตรอย่างเห็นได้ชัดเจน การดำเนินงานกองทุนต่างๆ และการพัฒนาหมู่บ้านด้านอื่น ๆ ก็เป็นไปด้วยความราบรื่น เรียบร้อย ชาวบ้านให้ความร่วมมือดีมาก ที่สำคัญคือที่นี่มีชาวบ้านบ้านทุ่งส่ายมีวัฒนธรรมที่หลากหลายและภาษาพูดที่แตกต่างกัน ได้แก่ ภาษาลาว(ภาคอีสาน) ร้อยละ 54 รองลงมาภาษาภูไท ร้อยละ 30 ภาษาไทย ร้อยละ 5 และภาษาเขมร ร้อยละ 1 แต่ชาวบ้านสามารถอยู่ด้วยกันอย่างรักใคร่ สามัคคี ร่วมมือ ร่วมใจกันพัฒนาหมู่บ้าน จึงต้องการศึกษาว่าทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชน เขามีเทคนิควิธีการทำงานอย่างไร เพื่อจะได้นำเอาวิธีการเหล่านี้ไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีสภาพของหมู่บ้านใกล้เคียงกันได้บ้าง
วิธีการทำงานพัฒนาชุมชนของผู้นำชุมชน... มีที่สำคัญ 5 ข้อ ดังนี้
1. ด้านการประสานงาน
/การสื่อสาร
การประสานงานของหมู่บ้านที่มีความห่างไกล ในการเข้าร่วมประชุม แจ้งข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เพื่อให้ทราบได้อย่างทั่วถึง โดยใช้เทคนิคในการประสานงาน คือ แจ้งสิทธิที่จะได้รับ และประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อให้รู้และเข้าใจในการเข้าร่วมกิจกรรมของหมู่บ้าน
การสื่อสารของหมู่บ้านทุ่งส่าย เนื่องจากชาวบ้านมีภาษาพูดที่แตกต่างกัน ซึ่งมีอยู่ 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาลาวอีสาน ภูไท ส่วย เขมร และภาษาไทย การสื่อสารจึงต้องใช้ภาษากลางคือ ภาษาไทยในการสื่อสารภาพรวมของหมู่บ้าน
ทั้งนี้การติดต่อสื่อสารเพื่อการประสานงาน ได้มีการใช้โทรศัพท์ การบอกต่อ ประชาสัมพันธ์ตามเสียงตามสายของหมู่บ้าน และเพื่อความคล่องตัวและทั่วถึงของชาวบ้าน ได้มีการแบ่งหน้าที่การประสานงานเป็นคุ้ม โดยแต่ละคุ้มมีหัวหน้าคุ้มเป็นผู้ประสานงาน
2. กิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน
บ้านทุ่งส่ายได้มีกิจกรรมเพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน สร้างการมีส่วนร่วม ความร่วมมือร่วมใจกัน สร้างความสามัคคีกันในหมู่บ้าน โดยมีกิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
1. กิจกรรมวันสำคัญ ได้แก่ วันแม่แห่งชาติ วันพ่อแห่งชาติ เป็นต้น และกิจกรรมสำคัญทางศาสนา เช่น แห่เทียนเข้าพรรษา วันพระ
2. กิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการปลูกหญ้าแฝก ปลูกต้นไม้ในที่สาธารณประโยชน์ และแจกชาวบ้านเพื่อนำไปปลูกในพื้นที่บ้านเรือนของตนเอง และทำความสะอาดหมู่บ้าน วัด และโรงเรียน
3. กิจกรรมที่เป็นประเพณีวัฒนธรรมของหมู่บ้าน ได้แก่ การทำบุญกลางบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมทำบุญ และรับประทานอาหารร่วมกัน การทำบุญข้าวจี่ จะจัดทุกปีในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 และวัฒนธรรมที่โดดเด่น คือ การทำบุญบั้งไฟ โดยดำเนินการร่วมกับหมู่บ้านอื่น
4. กิจกรรมการสร้างอาชีพเสริม โดยการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพเสริม ทางด้านเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมในครัวเรือน
5. กิจกรรมโรงสีข้าวและโรงนวดข้าว เป็นกิจกรรมของหมู่บ้านดำเนินการโดยชุมชนเพื่อชุมชน ซึ่งโรงนวดข้าวผลตอบแทนจากการดำเนินการเป็นข้าวเปลือก และกิจกรรมโรงสีข้าวเพื่อให้ชาวบ้านนำข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสาร ผลตอบแทนจากการดำเนินงานเป็นรำและข้าวสาร ซึ่งรำจำหน่ายให้แก่ครัวเรือนในหมู่บ้านเพื่อนำไปเลี้ยงหมู สำหรับข้าวสารจะนำมาจำหน่ายให้ชาวบ้านในหมู่บ้านในราคาถูก และส่วนหนึ่งนำไปใช้ในกิจกรรมส่วนรวมของหมู่บ้าน
3. ด้านการสร้างมีส่วนร่วม
ชาวบ้านทุ่งส่าย ได้มีการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในหมู่บ้าน โดยการรวมกลุ่มเพื่อรวมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในกลุ่ม ทั้งด้านกลุ่มอาชีพ/กลุ่มสังคม ได้แก่ กลุ่มเลี้ยงหมู กลุ่มเพาะเห็ดฟาง กลุ่มปลูกผัก กลุ่มขนมไทย กลุ่มทำนา โดยเน้นการทำเพื่อกิน กลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยรวมกับหมู่บ้านอื่นเพื่อบริหารการจัดการน้ำในพื้นที่ และอื่น ๆ อีกมากมาย
การร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน ร่วมติดตาม ร่วมประเมินผลและร่วมแก้ไขปัญหาของหมู่บ้าน โดยใช้เวทีประชาคมหมู่บ้าน แผนพัฒนาหมู่บ้านจะใช้ประชาคมเป็นหลัก และการประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน โดยจะมีการจัดประชุมเป็นประจำทุกเดือน โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในหมู่บ้าน


4. เครื่องมือการพัฒนาหมู่บ้าน
บ้านทุ่งส่าย ได้มีเครื่องมือการพัฒนาหมู่บ้าน ได้แก่ ข้อมูลเพื่อการพัฒนาชนบท (จปฐ. / กชช.2ค) ข้อมูลหมู่บ้าน แผนชุมชนโดยจากชุมชนเพื่อชุมชน การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อรู้ตนเอง รู้รายจ่ายที่ไม่จำเป็น และมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ของชุมชนเพื่อการเรียนรู้และสืบทอดภูมิปัญญาแก่ชนรุ่นหลัง


5.การจัดการปัญหาในหมู่บ้าน

ปัญหายาเสพติด
มีแนวทางการดำเนินการ คือ ป้องกัน บำบัด และรักษา โดยแนวทางการป้องกัน โดยการช่วยกันสอดส่องดูแล เฝ้าระวัง ติดตามกลุ่มเสี่ยง มีการสร้างความรู้ความเข้าใจโทษของยาเสพติด และกิจกรรมการต่อต้านยาเสพติดให้โทษ ส่งตัวผู้เสพยาเข้ารับการบำบัด และการรักษา จะดำเนินการโดย อสม. ในการควบคุมดูแลผู้ป่วย ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน
ปัญหาอื่น ๆ
  ปัญหาที่เป็นของหมู่บ้านจะใช้เวทีประชาคมในการแก้ไขปัญหา ตัดสินปัญหา โดยใช้มติเสียงส่วนใหญ่ ปัญหาการทะเลาวิวาท จะใช้หลักการไกล่เกลี่ย โดยผู้นำชุมชน/คณะกรรมการหมู่บ้าน ซึ่งที่ผ่านมาจะจบลงด้วยดี


บ้านทุ่งส่ายมีความสำเร็จโดยผู้นำชุมชนมีเทคนิคการดำเนินการ... การดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่แบ่งแยก ทั้งนี้การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี สร้างความร่วมมือร่วมใจกัน ความไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เป็นพรรคเป็นพวก สร้างความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง และการยึดหลักประชาธิปไตยในการดำเนินงาน โดยมีนำเทคนิคมาใช้ในการทำงานของหมู่บ้าน ได้แก่ AAR AIC ใช้หลักการประสานงาน หลักการมีส่วนร่วม และใช้ปฏิทินฤดูกาล เพื่อรู้อดีต รู้ปัจจุบัน นำมาแก้ไขและพัฒนาหมู่บ้าน

เทคนิคการทำงานของพัฒนากรสู่ความสำเร็จของหมู่บ้าน...
จากการถอดบทเรียนพบว่า สิ่งที่พัฒนากรต้องปฏิบัติคือการเข้าถึงชุมชน โดยเฉพาะการพบปะผู้นำชุมชน ซึ่งผู้นำชุมชนจะรู้ข้อมูลของหมู่บ้านและประชาชนในหมู่บ้านอย่างดี ต้องเป็นมิตรกับชาวบ้าน ให้ความสำคัญกับกิจกรรมของชุมชนโดยเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเข้าใจ เข้าถึง สู่การพัฒนาชุมชนที่เป็นไปตามความต้องการของชุมชนเพื่อชุมชน

เทคนิคการทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน “บ้านตลาดดงน้อย”

บริบทของบ้านตลาดดงน้อย... ตามประวัติของหมู่บ้านนั้นเป็นชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนจากการทำศึกสงครามได้อพยพมาตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มเดียวกันที่ตำบลดงน้อย ซึ่งเดิมทีก็มีคนไทยอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว และต่อเมามีชาวจีนเข้ามาค้าขายและตั้งบ้านเรือน/ร้านค้าจนกลายเป็นแหล่งตลาดในการซื้อขาย ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ “ตลาดดงน้อย” บ้านตลาดดงน้อย หมู่ที่ 1 ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น มีจำนวนครัวเรือน 160 ครัวเรือน ประชากร 507 คน แยกเป็นเพศหญิง 263 คน เพศชาย 244 คน มีพื้นที่ของหมู่บ้าน 750 ไร่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา อาชีพรอง รับจ้าง ค้าขาย และเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ เป็นป่าชุมชน “โคกโพธิสัตว์” ซึ่งเป็นที่สาธารณะหมู่บ้าน

สถานการณ์ที่ทำให้เราต้องไปศึกษา... จากประวัติหมู่บ้านจะพบว่าบรรพบุรุษ และการสืบทอดมา ณ ปัจจุบันนี้ ก็มีทั้งคนเชื้อชาติเขมร เชื้อชาติจีน เชื้อชาติไทย และไทยอีสาน การนับถือศาสนาและวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีทั้งศาสนาพุทธ การไว้จ้าวของคนเชื้อชาติจีน การนับถือผีจ้าวเข้าทรงของคนเชื้อชาติเขมร ส่วนการประกอบอาชีพก็มีทั้งค้าขาย ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ช่างไม้ ข้าราชการ รับจ้างทั่วไป และรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม และมีการเคลื่อนย้ายแรงงาน คือ ไปทำงานนอกพื้นที่ของหมู่บ้าน ตำบล ซึ่งทำงานในบริษัท/โรงงงานเกือบทุกครัวเรือน มีประเพณีวัฒนธรรมสืบทอดต่อกันมา ได้แก่ งานบวช งานแต่ง ทำบุญกลางบ้าน งานบุญต่าง ๆ ได้แก่ งานศพ งานลอยกระทง งานสงกรานต์ งานบุญทางศาสนาในวันสำคัญต่าง ๆ งานประเพณีศาลจ้าว/เข้าทรง และการเซ่นไหว้ผี

เหตุผลที่เลือกพื้นที่ บ้านตลาดน้อยเพื่อถอดบทเรียนการทำงาน... เนื่องจากบ้านตลาดน้อยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และวัฒนธรรม แต่ผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชนในพื้นที่หมู่บ้านที่เด่นและเป็นแบบอย่างได้ ทั้งเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เป็นศูนย์เรียนรู้กองทุนแม่ของแผ่นดินระดับอำเภอ และเป็นหมู่บ้านปลอดยาเสพติด เป็นหมู่บ้านที่ได้ผ่านการคัดเลือกจากอำเภอเป็นหมู่บ้านเกรด A ในการประชาคมหมู่บ้าน พร้อมกับมีเงินค่าตอบแทนในการประชุมประชาคมหมู่บ้านทุกหมู่บ้านทุกเดือน เป็นหมู่บ้านที่จัดทำแผนชุมชนดีเด่น ผ่านประเมินมาตรฐานแผนชุมชน 2 ปี และที่สำคัญการบริหารงานของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านตลาดน้อย สมาชิกได้รับความร่วมมืออย่างดี ไม่มีนี้สินค้างชำระ จึงต้องการศึกษาว่าทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชน เขามีเทคนิควิธีการทำงานอย่างไร เพื่อจะได้นำเอาวิธีการเหล่านี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีสภาพของหมู่บ้านใกล้เคียงกันได้บ้าง

วิธีการทำงานพัฒนาชุมชนของผู้นำชุมชนบ้านตลาดน้อย... ความหลากหลายทางสังคมที่มีอยู่ในหมู่บ้านส่งผลต่อการสร้างการมีส่วนร่วม วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ความขัดแย้งจากการทะเลาะเบาะแว้ง ปัญหายาเสพติด วัยรุ่น มีวิธีการทำงานของผู้นำชุมชนที่สำคัญ ดังนี้
1. การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน... ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพ และการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมขาดการสืบสานภูมิปัญญา และเกิดเครือข่ายของยาเสพติดจากโรงงานสู่ชุมชน มีแนวทางการดำเนินงานคือ จัดกิจกรรมของหมู่บ้านในวันหยุด เพื่อผู้ทำงานในโรงงานได้เข้าร่วม มีศูนย์เรียนรู้ชุมชน สามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ด้านยาเสพติดใช้แนวทางของกองทุนแม่ของแผ่นดิน
2. การจัดการกับปัญหาด้านประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นอยู่...
ประชาชนในหมู่บ้านมีคนเชื้อสายจีน เชื้อสายเขมร และอีสาน มีปัญหาในเรื่องการดูหมิ่นดูแคลน เกิดความแตกแยกทางด้านความคิดและการยอมรับ ต้องสร้างความรู้เรื่องประชาธิปไตย สิทธิส่วนบุคคล สร้างความสามัคคี และการยอมรับของคนทุกคนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะผู้นำต้องเข้ากับทุกฝ่าย ให้สามารถอยู่ร่วมกันและสมานฉันท์ ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข  

การดำเนินงานของพัฒนากรในพื้นที่มีความหลากหลาย... ทำให้การประสานการทำงานในพื้นที่ติดต่อลำบาก และการมีส่วนร่วมในกิจกรรม ในการพัฒนาระบบกลไก/องค์กรชุมชน เครือข่ายการทำงาน ทั้งนี้ได้มีแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้
1) ใช้การสื่อสารทางโทรศัพท์ในการนัดหมาย พูดคุย หรือส่งเป็นข้อความอ่านเข้าใจชัดเจน ในการเข้าร่วมกิจกรรมต้องมีความเสียสละเวลาที่นอกเหนือจากเวลาราชการ (ช่วงเย็นหรือวันหยุด) โดยยึดความพร้อมของประชาชน/ผู้นำเป็นหลัก
2) เพื่อให้การพัฒนากลไกการทำงาน ให้คนรุ่นใหม่ได้สืบสาน ได้มีการจัดการความรู้ให้ครบวงจร จัดทำศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

3) การประสานครัวเรือนเข้าร่วมการประชุม เพื่อให้ครบตามกลุ่มเป้าหมายต้องมีการสื่อสารหลายทาง จะได้ทราบอย่างทั่วถึงและไม่หลงลืม
4) โครงการ/กิจกรรมที่ทางราชการดำเนินการในพื้นที่หมู่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องอุปสรรคของการไม่มีเวลาของประชาชนที่จะเข้ามาร่วมประชุม/อบรม จึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจและประโยชน์ที่จะได้รับ ความคุ้มค่า ความยั่งยืนแก่ผู้นำและประชาชนของหมู่บ้าน ในการอยู่ร่วมกันต้องมีกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อหมู่บ้าน และท้ายสุดก็เกิดประโยชน์สุขส่งผลดีต่อครัวเรือนและประชาชนในหมู่บ้าน


เทคนิคการทำงานของพัฒนากรผู้ประสานงานตำบลดงน้อย... จากการถอดบทเรียนพัฒนากรผู้ประสานงานตำบลในเทคนิคการทำงานให้มีความสำเร็จ จะพบว่ามีเทคนิคและหลักการทำงาน ดังนี้

  1. ใช้หลักพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่พัฒนากร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2508 และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต
  2. การทำงานต้องสอดคล้องเป้าหมาย วิสัยทัศน์กรมการพัฒนาชุมชน
  3. มีเครื่องมือในการทำงาน เช่น จปฐ. กชช.2ค ฯลฯ และรวบรวมข้อมูลทุกด้านของหมู่บ้าน และนำข้อมูลมาศึกษาวิเคราะห์ 
  4. ร่วมวางแผนการดำเนินงานกับทีมงานพัฒนาชุมชน คณะกรรมการหมู่บ้านและภาครัฐ/กลุ่มองค์กร/เอกชน 
  5. พัฒนาระบบกลไก การมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ของคนในชุมชนและตัวพัฒนากรเองก็ร่วมเรียนรู้ในความสามารถ/ความคิดและภูมิปัญญาของชาวบ้านด้วย
  6. นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการบริหารงานที่ดี
  7. สร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจ ความเป็นกันเองแบบพี่น้อง (กินง่าย อยู่ง่าย) ยึดพื้นที่เป็นหลัก (รู้ตน รู้คน รู้พื้นที่)
  8. เข้าร่วมกิจกรรม งานสังคม งานประเพณีของชุมชน
  9. ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาในสิ่งที่จำเป็น/เดือนร้อนของชาวบ้าน ไม่เลือกแบ่งฝ่ายแบ่งพรรคแบ่งพวก มีใจเป็นกลางในการทำงาน
  10. พร้อมเป็นผู้รู้ สามารถให้คำปรึกษาได้ทุกเรื่อง (รับฟัง/ประสานงานกับผู้รู้) คือ ไม่ปฏิเสธในการปรับทุกข์ของชาวบ้าน

เดือนละวัน ฉันและเธอ ร่วมใจพัฒนา สร้างสรรค์ชุมชน “บ้านสนามช้าง”



สถานการณ์ที่ทำให้ต้องศึกษา... เนื่องจากสภาพสังคมของจังหวัดฉะเชิงเทราเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต บ้านสนามช้างเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 20 ของพื้นที่หมู่บ้าน ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับมีถนนสาย 304 (ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) ผ่านกลางหมู่บ้าน ทำให้หมู่บ้านแบ่งออกเป็นสองฝั่ง สองส่วน ซึ่งทำให้การขับเคลื่อนงานและกิจกรรมเป็นไปด้วยความยากต่อการติดต่อประสานการทำงานในชุมชน แต่มีวิธีการจัดการชุมชนให้กิจกรรมพัฒนาชุมชนสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่องและเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของคนในชุมชน

บริบทของบ้านสนามช้าง...
บ้านสนามช้าง หมู่ที่ 4 ตำบลเสม็ดใต้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา มีประชากร 1,023 คน จำนวนครัวเรือน 286 ครัวเรือน อาชีพหลักของประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา เลี้ยงกุ้ง ทำสวน ค้าขาย และรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม อาชีพรองคือปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงไก่ และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เช่น เพาะเห็ด แปรรูปเนื้อสัตว์ เป็นต้น โดยพื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้าน แยกเป็นทางด้านการเกษตร (ทำนา เลี้ยงกุ้ง ปลูกไม้ผล เลี้ยงสัตว์) ร้อยละ 60 เป็นพื้นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 20 และอื่น ๆ ร้อยละ 20

ความสำเร็จในการทำงานพัฒนาชุมชน... บ้านสนามช้างประสบความสำเร็จในด้านการบริหารจัดการชุมชน และกองทุนต่างๆ ของหมู่บ้านเป็นอย่างดี  ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กลุ่มออมทรัพย์ฯ กองทุนสัจจะวันละบาท กองทุนแม่ของแผ่นดิน ชมรมผู้สูงอายุ และกลุ่มอาชีพที่โดดเด่น ได้แก่ กลุ่มอาชีพเพาะเห็ด กลุ่มแปรรูปเนื้อสัตว์ เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ

การเรียนรู้ของชาวบ้านสนามช้าง...
มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพาะเห็ด มีการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาพัฒนาให้เกิดรายได้ เช่น ปลูกมะม่วง เพาะเห็ด ปลูกผัก  โดยประสานกับโรงเรียนในพื้นที่ (โรงเรียนบ้านสนามช้าง) มาศึกษาเรียนรู้ในศูนย์เรียนรู้ และที่สำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนในหมู่บ้าน โดยกำหนดวันประชุมร่วมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง คือทุกวันที่ 9 ของเดือน เพื่อติดตามการดำเนินงานในเดือนที่ผ่านมา แก้ไขปัญหาของชุมชน แจ้งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ร่วมวางแผนการทำงานในรอบเดือน และมอบหมายการปฏิบัติงานตามแผนที่กำหนด จึงเป็นที่มาของคำว่า “เดือนละวัน ฉันและเธอ ร่วมใจพัฒนา สร้างสรรค์ชุมชน

วิธีการทำงานพัฒนาชุมชนของผู้นำชุมชน... มีที่สำคัญ 5 ข้อ ดังนี้
1. ด้านการสื่อสารและประสานงาน

การประสานงานประชาชนในหมู่บ้านสนามช้างให้มีความทั่วถึง ได้แบ่งหน้าที่การประสานตามอาณาเขตการปกครอง ออกเป็น 4 คุ้ม ได้แก่ คุ้มศาลาเขียว คุ้มสนามช้าง คุ้มสาวชะโงก และคุ้มสะพานโค้ง นอกจากนี้จะเป็นการส่งหนังสือพร้อมเซ็นรับหนังสือ พร้อมการประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย เพื่อเตือนความจำและให้ทั่วถึงอีกครั้ง เนื่องจากการประกอบอาชีพของชาวบ้านไม่ตรงกัน ทำให้เวลาไม่ตรงกัน ในวันประชุมประจำเดือน หากตัวแทนครัวเรือนไม่สามารถเข้าร่วมประชุมไม่ได้ให้ไปแจ้งหัวหน้าคุ้มในปัญหา ความต้องการและความประสงค์ของตนเอง เพื่อให้หัวหน้าคุ้มเป็นตัวแทนและเป็นหน่วยประสานงานของกรรมการหมู่บ้าน

2.
ด้านการมีส่วนร่วม
ชาวบ้านสนามช้าง ได้มีการประชุมเพื่อสร้างข่าวสาร ร่วมกันคิด วางแผน ปฏิบัติงาน และหาทางออกในการทำงานร่วมกัน ทุกวันที่ 9 ของเดือน การจัดทำแผนชุมชน การจัดกิจกรรมวันสำคัญ เช่น วันเด็กแห่งชาติ การแข่งกีฬาโรงเรียน/ชุมชน วันที่ 12 สิงหาคม และวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี
การร่วมคิด วางแผนและดำเนินการ... หมู่บ้านได้มีการจัดระเบียบหมู่บ้าน (กฎหมู่บ้าน) ในการมีส่วนร่วมของสมาชิกในหมู่บ้าน โดยการใช้วัดสนามช้าง วัดหัวสวน และองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดใต้เป็นศูนย์กลางในการร่วมคิด วางแผนและดำเนินการต่าง ๆ ในหมู่บ้าน

แหล่งเงินทุนหมู่บ้านสนามช้าง...
เป็นการบริหารการจัดการของคนในชุมชน และร่วมกันกำหนดแผนการดำเนินงานในการบริหารและจัดการแหล่งเงินทุนหมู่บ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สมาชิก โดยคิดอัตราดอกเบี้ยและค่าบำรุงคิดในอัตราร้อยละ 6 ดอกเบี้ยและค่าบำรุงของแหล่งเงินทุนหมู่บ้านนำมาจัดสรรประโยชน์ให้กับชุมชนบ้านสนามช้าง ได้แก่

  1. เป็นทุนการศึกษาบุตรของสมาชิก
  2. สวัสดิการในการรักษาพยาบาล
  3. ฌาปนกิจสงเคราะห์ของหมู่บ้าน
  4. สาธารณประโยชน์

3.การจัดการปัญหาในหมู่บ้าน
บ้านสนามช้าง เป็นหมู่บ้านที่เป็นที่ตั้งโรงงานและเป็นทางผ่าน จึงมีปัญหาที่เกิดแต่ทั้งนี้ก็ได้จัดการกับปัญหาปัญหาในหมู่บ้าน/ชุมชน ดังนี้


ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน..
หากเป็นปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่หมู่บ้านเดียวกันจะดำเนินการผู้ใหญ่บ้านและผู้อาวุโสเป็นผู้ ไกล่เกลี่ย คู่กรณี ให้ลดปัญหาหรือขจัดปัญหาให้หมดไป หากเป็นปัญหาข้ามหมู่บ้านตำบล จะมีการเจรจาระหว่างผู้นำชุมชน พูดคุยก่อน หากเกิดความสามารถจึงจะส่งต่อ กำนัน อบต. อำเภอ หรือศาลแล้วแต่กรณีต่อไป หากเป็นปัญหาของวัยรุ่นต้องให้บิดามารดาและญาติพี่น้องของคู่กรณีเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในกรณีของบุตรหลานของตนประพฤติไม่ดี


ปัญหาด้านยาเสพติด...บ้านสนามช้างเป็นหมู่บ้านที่มีการเชื่อมต่อและทางผ่านหลายสาย ประกอบกับพื้นที่มีประชากรแฝง และโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทางหมู่บ้านได้การป้องกันและแก้ไขอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยมีการตรวจฉี่ครัวเรือน ดำเนินการโดยกรรมการหมู่บ้านและร่วมตำรวจในพื้นที่ และมีการลงประชามติในทางลับ และส่งบำบัดต่อไป

ปัญหาจากโรงงานอุตสาหกรรม..
ในพื้นที่หมู่บ้านเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม ทุกคนในหมู่บ้านต้องมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแล เช่น การทิ้งของเสียจากโรงงาน หากพบปัญหาจะแจ้งกรรมการหมู่บ้าน และกรรมการหมู่บ้านปรึกษาร่วมกัน เข้าพบผู้บริหารของโรงงานเพื่อแจ้งให้ทราบและพูดคุยกันในปัญหาและแนวทางแก้ไข เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข


บ้านสนามช้างประสพความสำเร็จในการบริหารจัดการชุมชนโดยมีผู้นำชุมชนมีหลักการดำเนินการ... โดยใช้พรหมวิหาร 4 อยู่การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ให้ความร่วมมือร่วมใจกัน ความซื่อสัตย์สุจริต มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีน้ำใจ ความไม่เห็นแก่ตัว  สร้างความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และการยึดหลักประชาธิปไตยในการดำเนินงาน

เจ้าหน้าที่มีวิธีการทำงานอย่างไรบ้าง...
การทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพอันดับแรกคือการสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในพื้นที่ สร้างความเข้าใจในทุกกิจกรรม ใช้คนให้เป็นและเน้นคุณธรรม โดยใช้คนให้ถูกกับงาน และต้องมีคุณธรรม โดยพัฒนากรต้องเป็นต้นแบบในการพัฒนา ทั้งด้านการแต่งกาย การพูดจา มีปิยวาจา มีความ การปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามสถานการณ์ เช่น การเป็นผู้นำ และเป็นผู้ตามในบางเวลาและโอกาสที่เหมาะสม ให้ความสำคัญกับกลุ่มองค์กร ผู้นำชุมชน ทุกคนมีความสำคัญเท่ากันหมด