วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กระบวนการบูรณาการแผนชุมชนอำเภอ

การส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำ ทบทวนและปรับปรุงแผนชุมชน เป็นกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในการมีส่วนร่วมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และเชื่อมโยงสู่การวางแผนพัฒนาจังหวัด โดยการสนับสนุนให้ประชาชนในหมู่บ้าน ชุมชน รวมตัวกันนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตในหมู่บ้าน ชุมชนมากำหนดเป็นกิจกรรม จัดทำเป็นแผนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นรากฐานของการวางแผนพัฒนาท้องถิ่น และแผนพัฒนาจังหวัด โดยยึดหลักการพึ่งพาตนเอง สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม ในหมู่บ้านชุมชน และท้องถิ่น

กระบวนการสำคัญในการปรับปรุงทบทวนแผนชุมชนระดับอำเภอ จะต้องมีแนวทางการเชื่อมประสานการแก้ไขปัญหากับภาคีการพัฒนาและหน่วยงานต่างๆ สามารถกำหนดขั้นตอนสำคัญในการ บูรณาการแผนชุมชนระดับอำเภอ ดังนี้

1. ศึกษาข้อมูลระดับอำเภอ
- ผลการวิเคราะห์ข้อมูล จปฐ. กชช.๒ค ระดับอำเภอ
- ภาคีการพัฒนา นำเสนอข้อมูลอื่นๆ
- ตำบลต่าง ๆ เสนอแผนชุมชนระดับตำบลที่มีการบูรณาการแล้ว
- เชื่อมโยงการจัดทำแผนในแต่ละตำบล

2. การวิเคราะห์ศักยภาพของอำเภอ
- การวิเคราะห์
SWOT เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก เพื่อค้นหาจุดแข็ง (จุดเด่น) จุดอ่อน (จุดด้อย) โอกาสและอุปสรรค หรือสิ่งที่อาจเป็นปัญหาสำคัญในการดำเนินงานสู่สภาพที่ต้องการในอนาคต
- ปัญหาที่สำคัญของอำเภอ (เรียงลำดับความสำคัญ)
- อัตลักษณ์
- กำหนดวิสัยทัศน์ของอำเภอ คือ กำหนดภาพในอนาคตที่ต้องการจะเป็น โดยจะต้องมีทิศทางที่ชัดเจน มีความเป็นไปได้ และเป็นที่ยอมรับ
- ตำแหน่งการพัฒนาและการพัฒนาอาชีพของตำบล/ อำเภอ

3. บูรณาการสาเหตุ แนวทาง และโครงการ
- วิเคราะห์ศึกษาจากแผนของทุกพื้นที่
- เรียงลำดับความสำคัญแผนงาน/โครงการ
- บูรณาการสาเหตุ/แนวทาง/โครงการ

4. การบูรณาการแผนชุมชนระดับอำเภอ
- จัดทำโครงการ/กิจกรรม สนับสนุนในภาพของอำเภอ (ภาคี/หน่วยงาน)
- จัดกลุ่มแผนงานโครงการตามงบประมาณที่สนับสนุน เป็น แผนชุมชนทำเอง แผนท้องถิ่นสนับสนุน แผนหน่วยงานราชการสนับสนุนตาม
Function

5. แนวทางการขับเคลื่อนแผนชุมชน อย่างมีประสิทธิภาพ
6. แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอำเภอ คือ การกำหนดทิศทางการพัฒนาอำเภอในอนาคต และแผนงานโครงการที่มารองรับ มีความสำคัญในการขยายผลสู่การปฏิบัติ

7. ประชาพิจารณ์แผนชุมชนระดับอำเภอ
- นำเสนอแผนชุมชนระดับอำเภอให้แก่ตัวแทนประชาคมอำเภอ/ภาคีพัฒนา พิจารณาให้ความเห็นชอบ

บันทึกขุมความรู้ (Knowledge Assets)
- การบูรณาการแผนชุมชนระดับอำเภอ สามารถสะท้อนปัญหาความต้องการของประชาชนในหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอ ซึ่งมาจากกระบวนการกลั่นกรองและบูรณาการแผนชุมชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล จนถึงระดับอำเภอ (
Bottom-Up) รวมทั้งสอดรับกับแนวทางการพัฒนาประเทศและจังหวัด

แก่นความรู้ ( Core Competency)
- ภาคประชาชน และชุมชนจะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในการแก้ปัญหาของตนเองผ่านกระบวนการแผนชุมชนในทุกระดับ โดยประชาชนสามารถ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาของตนเอง ปัญหาที่ไม่เกินความสามารถจะแก้ไขด้วยตนเอง การเรียนรู้ในการแก้ปัญหาและพึ่งตนเองเป็นสำคัญอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

กลยุทธ์ในการทำงาน
การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคราชการ เริ่มตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ จะเป็นกลไกสำคัญในการบูรณาการแผนชุมชนระดับอำเภอ ให้ประสบความสำเร็จ ดังนี้

- คณะกรรมการหมู่บ้านร่วมกับประชาคมหมู่บ้าน เป็นองค์กรสำคัญในการจัดทำทบทวนแผนชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนแผนชีวิตของประชาชน นอกจากเป็นแผนเพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภายนอกแล้วยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนากระบวนการพึ่งตนเองของประชาชน โดยประชาชนสามารถผนึกกำลังร่วมคิดร่วมทำเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน/หมู่บ้าน ร่วมกันเป็นพื้นฐาน ซึ่งก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนเป็นการระเบิดจากข้างใน (inside – out) ลดการพึ่งพาจากภายนอก หันมาพึ่งพาตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเองอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

- ชุดปฏิบัติการตำบล และภาคีการพัฒนา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำภาคประชาชน และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลั่นกรอง บูรณาการแผนชุมชนระดับตำบล เพื่อจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหาความต้องการของชุมชน/หมู่บ้าน เพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนจากภายนอก

- คณะอนุกรรมการระดับอำเภอ (อ.ก.อ.) กลั่นกรอง บูรณาการแผนชุมชนระดับอำเภอ ที่ต้องการขอรับการสนับสนุน

กฎระเบียบ/แนวคิด/ทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง
1. ระเบียบ กระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๑๐(๒) กำหนดหน้าที่ของคณะพัฒนาท้องถิ่นในการร่วมจัดทำร่างแผนพัฒนา เสนอแนะแนวทางการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดทำร่างแผนพัฒนา

2. ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเป็นกรรมการหมู่บ้าน การปฏิบัติหน้าที่และการประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ๓๒(๓) คณะทำงานด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน ประสานการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้าน ประสานการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านกับคณะทำงานด้านต่างๆ

3. คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๕๓๗/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนการจัดทำแผนชุมชน

4. บทบาทของประชาคมที่กรมการปกครองส่งเสริมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาอำเภอมี ๓ ระดับ ได้แก่ ประชาคมหมู่บ้าน ประชาคมตำบล และประชาคมอำเภอ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนในประชาคม มีภาคประชาชนเป็นประธานและเป็นองค์ประกอบสำคัญในประชาคม โดยประชาคมมีบทบาทหลักในการสะท้อนและจัดลำดับปัญหาความต้องการของชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ตามลำดับขึ้นมาถึงอำเภอ แผนชุมชนที่ได้จึงสอดรับกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

นางพัชรินทร์ อ่องบางน้อย
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแปลงยาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น