วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การแก้ไขปัญหาความยากจน



ชื่อ-นามสกุล  นายสิทธิชัย ปาหุไณยกุล
ตำแหน่ง 
นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
สังกัด
  กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
สพจ.จังหวัดฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์
  0897712587
ชื่อเรื่อง
  การแก้ไขปัญหาความยากจน
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ
 ปี พ.ศ. 2554
สถานที่
  อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา

ปัญหาความยากจน...
เป็นปัญหาที่มีมานานในสังคมไทย และแม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไป สาเหตุเนื่องมาจากการที่ประชาชนขาดโอกาสในการได้รับการส่งเสริมอาชีพ การขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ตลอดจนขาดโอกาสในการได้รับการศึกษา/การเรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนาอาชีพ นอกจากนี้ จากการที่ประชาชนขาดการเรียนรู้ตนเอง และขาดการวางแผนการใช้จ่ายอย่างสมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์นำความเจริญมาสู่สังคม ประชาชนได้มีความนิยมทางด้านวัตถุมากขึ้น มีการใช้จ่ายเงินมากกว่ารายได้ที่หามา จึงทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินจากเงินกู้นอกระบบเพื่อมาใช้จ่ายในครอบครัว และเมื่อมีรายได้จากการประกอบอาชีพ ก็ต้องนำเงินนั้นไปชำระเงินคืนเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงเวียนแห่งความจนได้


สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา... ได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และขจัดความยากจนในชนบทให้หมดสิ้นไป ข้าพเจ้าจึงได้ลงมือปฏิบัติการแก้จน โดยมีกระบวนการดำเนินงาน ดังนี้


1.การชี้เป้าชีวิต...
โดยใช้ข้อมูลครัวเรือนที่ไม่ผ่านเกณฑ์รายได้ จปฐ. เป็นเกณฑ์ในการค้นหาครัวเรือนที่มีความยากจน และออกสำรวจกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่(เคาะประตูบ้าน) โดยข้าพเจ้าจะจำแนกครัวเรือนที่สำรวจออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1. ครัวเรือนยากจนที่ต้องได้รับการสงเคราะห์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองประกอบอาชีพได้ 2. ครัวเรือนยากจน  ที่สามารถประกอบอาชีพหรือพัฒนาอาชีพได้หากได้รับการส่งเสริม โดยในขั้นตอนนี้ ข้าพเจ้าจะจัดทำข้อมูลของครัวเรือนที่เป็นประโยชน์สำหรับให้การส่งเสริมต่อไป


2.การจัดทำเข็มทิศชีวิต... โดยข้าพเจ้าจะส่งเสริมให้ครัวเรือนยากจนได้เรียนรู้ตนเอง รู้จักการวางแผนชีวิต และแผนการใช้จ่ายเงินอย่างเป็นระบบ เช่น การทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ครัวเรือนสามารถควบคุมการใช้จ่ายได้อย่างสมดุล

3.การบริหารจัดการชีวิต...
ในขั้นตอนนี้ อำเภอจะให้การสนับสนุนวัสดุที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพแก่ครัวเรือนยากจน ตลอดจนให้การศึกษา/ความรู้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ โดยอาจเชิญวิทยากรจากหน่วยงานที่มีความชำนาญในเรื่องที่เกี่ยวข้องอาชีพนั้นๆ มาให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง สำหรับครัวเรือนประเภทที่ต้องได้รับการสงเคราะห์เพียงอย่างเดียว ข้าพเจ้าจะประสานงานกับผู้ใหญ่บ้าน/ผู้นำชุมชนที่อยู่บ้านใกล้เคียงเพื่อให้การดูแล ตลอดจนประสานงานกับ อบต. เพื่อให้การช่วยเหลือในระยะต่อไป


4.การดูแลชีวิต... เป็นขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมหรือพัฒนาอาชีพของครัวเรือนยากจน โดยข้าพเจ้าจะออกติดตามครัวเรือนยากจน ว่าประสบกับปัญหาจากการประกอบอาชีพอะไรบ้าง และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร โดยข้าพเจ้าจะทำหน้าที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือในปัญหาที่ครัวเรือนไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองตามลำพัง เพื่อให้ครัวเรือนนั้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวต่อไป


จากการดำเนินงานพบว่า...
ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง สำหรับการแก้ไขปัญหาความยากจน มีดังนี้
1.ครัวเรือนขาดความรู้ในการประกอบอาชีพ...
กล่าวคือ บางครัวเรือนไม่มีทักษะ/ความรู้ในอาชีพนั้นๆมาก่อน เมื่อได้รับการส่งเสริม ก็ไม่สามารถบริหารดูแลอาชีพดังกล่าวได้

2.ครัวเรือนนำวัสดุ/ปัจจัยที่ได้รับจากการส่งเสริมอาชีพไปขาย...
เนื่องมาจากการมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้ต้องนำวัสดุบางส่วนไปจำหน่ายเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ ทำให้ไม่มีวัสดุสำหรับการประกอบอาชีพต่อไป


3.ครัวเรือนขาดจิตสำนึกในการดำรงชีวิตแบบพอเพียง... กล่าวคือ บางครัวเรือนมีสภาพยากจน แต่กลับนิยมเล่นการพนันเป็นนิจ ดังนั้น แม้จะมีรายได้จากการส่งเสริมอาชีพ ก็จะนำไปเล่นการพนันจนหมดสิ้น


4.ครัวเรือนยากจนพร้อมรับการสนับสนุนวัสดุในการประกอบอาชีพ...
แต่ไม่พร้อมทำบัญชีครัวเรือน (ไม่อยากทำ)


5. ครัวเรือนจนไม่จริง... หรือ ไม่แน่ใจว่าจนหรือไม่ เช่น จากข้อมูล จปฐ. พบว่า ครัวเรือนตกเกณฑ์รายได้ เนื่องจากอยู่ลำพังและไม่มีการประกอบอาชีพ แต่จากการสำรวจในพื้นที่   กลับพบว่า ครัวเรือนนั้นมีบ้านหลังใหญ่โต และมีทรัพย์สินในบ้านมากมาย


ข้าพเจ้าคิดว่า... การจะดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นไปอย่างแท้จริงนั้น ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และไม่ลดความพยายาม ในการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีกระบวนการวิเคราะห์และรู้จักตนเอง รู้จักประหยัด รู้จักเก็บออมเงิน มีความรู้ในการประกอบอาชีพ ตลอดจนมีคุณธรรมในการดำรงชีวิต ตามตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พ่อสอนไว้
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น