สถานการณ์ที่ทำให้ต้องศึกษา... เนื่องจากสภาพสังคมของจังหวัดฉะเชิงเทราเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ซึ่งเมื่อก่อนนี้สภาพสังคมในจังหวัดฉะเชิงเทราจะเป็นสังคมเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา มีเวลาพบปะพูดคุยกันอยู่เสมอ มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้าน ต่อมาราวปี พ.ศ.2540 เริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามามากขึ้นในพื้นที่อำเภอบางปะกง บ้านโพธิ์ และแปลงยาว ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีเวลาทำงานที่แน่นอน เช้าไปเย็นกลับ หยุดเฉพาะวันอาทิตย์ พบปะกันน้อยลง พูดคุยในเรื่องของชุมชนน้อยลง ร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านน้อยลง
สถานการณ์ที่มีผู้คนเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมนี้... ไม่ใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะในอำเภอบางปะกง บ้านโพธิ์ และแปลงยาว แต่ขยายวงไปยังทุกอำเภอ ถึงแม้นว่าจะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมแต่ก็มีรถของโรงงานไปรับ-ส่งถึงที่บ้าน สถานการณ์เช่นนี้ทำให้การทำงานพัฒนาชุมชนนั้นต้องเปลี่ยนแปลงไป ผู้นำชุมชนที่ไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงก็จะปล่อยไปตามยถากรรม ไม่มีคนก็ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องประชุม ไม่ต้องมีกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน ส่วนผู้นำชุมชนที่สนใจการพัฒนาหมู่บ้านก็จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาหมู่บ้านให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เปลี่ยนแปลงไป
เหตุผลที่เลือกบ้านดอนควายโทนเป็นพื้นที่ศึกษา... เนื่องจากบ้านดอนควายโทนเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านถึง 3 โรงงาน ได้แก่ โรงงานผลิตเสาเข็ม โรงงานผลิตไฟเบอร์กล๊าส และโรงงานผลิตเบาะรถยนต์ ชาวบ้านของบ้านดอนควายโทนมีอาชีพทั้งรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมและประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ด้วยกัน แต่ก็ปรากฏว่ากิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากชาวบ้าน ไม่มีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น ระหว่างชาวบ้าน ผู้นำชุมชน โรงงาน และผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ความอยู่กันได้ด้วยความเรียบร้อยดีระหว่างคนในสังคมเกษตรกรรมและสังคมอุตสาหกรรมนี้ เป็นเหตุผลที่ทำให้บ้านดอนควายโทนเป็นพื้นที่ที่น่าศึกษาเพื่อถอดบทเรียนไปใช้เป็นแบบอย่างให้กับหมู่บ้านอื่นๆ ที่มีสภาพสังคมที่คล้ายคลึงกัน
ความสำเร็จในการทำงานพัฒนาชุมชน... บ้านดอนควายโทนประสบความสำเร็จในด้านการบริหารจัดการกองทุนต่างๆ ของหมู่บ้านเป็นอย่างดี การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านมีการบริหารจัดการอย่างราบรื่นไม่มีปัญหาหนี้สินค้างชำระ กองทุนหมู่บ้านเป็นแหล่งเงินทุนในระบบให้กับชาวบ้าน มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกกองทุน เช่น สวัสดิการผู้เสียชีวิต รายละ 2,500 บาท มีกองทุนสาธารณประโยชน์ ช่วยเหลือวัด ช่วยเหลือการกุศล เป็นต้น การดำเนินงานกองทุน SML ได้ร่วมกันทำเวทีประชาคมนำเสนอโครงการซื้อท่อและเครื่องสูบน้ำ บริการให้ชาวบ้านเช่าไปใช้ในราคาถูก ค่าเช่าที่เก็บครั้งละ 100 บาท นำไปใช้ในการบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีกองทุนกลุ่มสตรี และกลุ่มสัจจะกองทุนหมู่บ้าน ใช้เป็นแหล่งเงินทุนให้กับชาวบ้านอีกด้วย ซึ่งการบริหารจัดการของแต่ละกองทุนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี มีประสิทธิภาพ
ชาวบ้านดอนควายโทนให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งแก่ผู้นำชุมชน... มีการประชุมและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง พูดถึงการพัฒนาด้านสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน จะมี อสม.รับผิดชอบดูแลสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน 15 ครัวเรือนต่อ อสม. 1 คน มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ด้วยการดูแลการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย กิจกรรมการกำจัดลูกน้ำยุงลายเพื่อลดโอกาสเกิดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีบริการคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ตรวจเลือด ตรวจมะเร็งปากมดลูกให้กับชาวบ้านด้วย
บ้านดอนควายโทนยังมีความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งนั่นคือเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม... โดยดูแลแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียซึ่งเกิดจากการหมักหมมของหญ้า วิธีแก้ไขคือการใช้ลูกบอลจุลินทรีย์ใส่ลงไปในแหล่งน้ำ และใช้ผักตบชวาดูดซับสิ่งสกปรกและบำบัดน้ำเสีย สำหรับเรื่องความสำเร็จของการอยู่ร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว... นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านที่นี่ค่อนข้างภาคภูมิใจ เพราะเขาสามารถดูแลได้ตั้งแต่การขออนุญาต การบำบัดของเสีย เช่น ขยะ ขยะพิษ การระบายน้ำเสียที่บำบัดแล้ว เป็นต้น ทำให้แทบไม่มีผลกระทบกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเลย สามารถเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาได้ตามปกติ
หลักคิดในการบริหารจัดการชุมชนของผู้นำชุมชน... จากการพูดคุยกับนายก อบต.สิบเอ็ดศอก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนแล้ว เราพบว่าที่นี่ยึดหลักคิดในการพัฒนาหมู่บ้าน ได้แก่ การใช้แผนชุมชนในการขับเคลื่อนกิจกรรมของหมู่บ้าน ใช้กรรมการหมู่บ้านเป็นกลไกในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ มีเวทีพบปะพูดคุย ปรึกษาหารือกันเป็นประจำระหว่างผู้นำชุมชน การประชุมอย่างเป็นทางการนั้นมีน้อยครั้ง แต่จะใช้วิธีพูดคุยกันนอกรอบอย่างไม่เป็นทางการแล้วนำไปบอกต่อๆ กันไป รวมทั้งใช้หอกระจายข่าวในการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ของหมู่บ้าน
วิธีการทำงานพัฒนาชุมชนของผู้นำชุมชน... สำหรับชาวบ้านที่ไปทำงานโรงงานจะออกเดินทางไปทำงาน ตั้งแต่ประมาณ 07.00 น. และจะกลับมาประมาณ 17.00 น. หากทำงานล่วงเวลาก็จะกลับช้ากว่านี้ ส่วนวันหยุดก็คือวันอาทิตย์ สำหรับชาวบ้านที่มีอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา จะออกไปทำงานให้อาหารกุ้ง ปลา เวลา 06.00 – 07.00 น. เสร็จประมาณ 08.00 น. และเย็นเริ่มเวลา 15.00 น. ส่วนเวลาที่เหลือก็จะทำงานอื่นๆ ในฟาร์ม ดังนั้น หากต้องการประชุมหรือทำกิจกรรมส่วนรวม ก็จะต้องนัดหมายในเวลาที่ว่างตรงกัน นั่นคือวันอาทิตย์ สำหรับเจ้าหน้าที่ของทางราชการ หากมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการในหมู่บ้านนี้ ก็ต้องมาประชุมหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในวันอาทิตย์ เช่นเดียวกัน
การสื่อสารข้อมูลข่าวสารของผู้นำชุมชนกับชาวบ้านที่นี่... ผู้นำชุมชนจะใช้วิธีโทรศัพท์ไปประสานกับแกนนำชุมชน และให้แกนนำชุมชนกระจายข่าวต่อ โดยแกนนำชุมชน 1 คน บอกต่อประมาณ 10 – 15 ครัวเรือน การประชุมหากต้องมี จะนัดประชุมเวลา 13.00 น. ของวันอาทิตย์ เนื่องจากเป็นเวลาว่างของทุกกลุ่มเป้าหมาย ข้าราชการจะมาพบกับชาวบ้านก็ต้องมาวันอาทิตย์เช่นกัน
เจ้าหน้าที่มีวิธีการทำงานอย่างไรบ้าง... เมื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เกษตร สาธารณสุข พัฒนากร และองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว พบว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานที่นี่ทำงานโดยใช้หลักความสัมพันธ์กับผู้นำชุมชน สร้างความรู้สึกที่เป็นมิตร เป็นกันเอง เป็นพวกเดียวกันกับผู้นำชุมชน การประชุมของ อบต.สิบเอ็ดศอก จะเชิญข้าราชการทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมประชุมด้วย ให้ความรู้สึกของการทำงานเป็นทีมเกิดขึ้นในชุมชน ไม่มีบรรยากาศของความขัดแย้งกันระหว่าง อบต. กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และข้าราชการที่ทำงานในพื้นที่ เมื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำชุมชนแล้ว เจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็จะนัดประชุมหรือทำกิจกรรมส่วนรวมร่วมกับชาวบ้านในเวลาที่ชาวบ้านว่าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือวันอาทิตย์
ปัญหาอุปสรรคของบ้านดอนควายโทนที่ต้องแก้ไขกันต่อไป... ก็คือปัญหายาเสพติด ผู้นำชุมชนจะใช้วิธีตักเตือนให้เลิกการกระทำนั้นเสีย ซึ่งก็ได้ผลดีระดับหนึ่ง อีกปัญหาหนึ่งคือ การที่โรงงานไปเอาคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในพื้นที่ ก็ทำให้เกิดปัญหาลักเล็กขโมยน้อยขึ้น ทรัพย์สินที่เสียหายส่วนใหญ่เป็นพวกของกิน เช่น กล้วย ปลา ผลผลิตการเกษตรต่างๆ เป็นต้น วิธีแก้ไขปัญหาของชุมชน ก็คือ การประสานงานไปยังเจ้าของโรงงานให้ช่วยตักเตือนห้ามปราม ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากเจ้าของโรงงาน สิ่งที่ผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่นี่อยากจะทำต่อไป... ก็คือ การส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้าน อยากให้มีกลุ่มอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดียิ่งขึ้น
บทเรียนที่ได้จากบ้านดอนควายโทน... คือ ถ้าผู้นำชุมชนมีความสามัคคีกัน ไม่แตกแยก แบ่งฝ่ายกันแล้ว จะทำให้การพัฒนาชุมชนมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น และถ้าผู้นำชุมชนมีการประชุม ปรึกษาหารือกันอย่างสม่ำเสมอแล้ว จะทำให้กิจกรรมของชุมชนดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย สำหรับ ในประเด็นเรื่องการทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมนั้น บทเรียนที่ได้รับก็คือ ถ้าสามารถจัดกิจกรรมส่วนรวมต่างๆ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเวลาว่างของขาวบ้านได้ ก็จะทำให้การทำงานพัฒนาชุมชนเป็นไปด้วยความราบรื่น...
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239
ขอขอบคุณ
ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
นายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลสิบเอ็ดศอก
ผู้นำชุมชนและชาวบ้านดอนควายโทนทุกท่าน
นายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลสิบเอ็ดศอก
ผู้นำชุมชนและชาวบ้านดอนควายโทนทุกท่าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น