วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

กองทุนหมู่บ้าน : ทุนชุมชนฐานรากที่เข้มแข็ง


"กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง" เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการมาแล้ว เป็นปีที่ 11 เป็นกองทุนที่สร้างโอกาสให้กับชาวบ้าน ที่จะร่วมกันคิด ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผนการบริหารจัดการชุมชน  โดยใช้เงินทุนจัดสรรจากรัฐบาล เริ่มต้นที่ 1 ล้านบาททุกหมู่บ้านและชุมชน กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในหมู่บ้าน/ชุมชน สู่กองทุนที่เข้มแข็งที่มีพลังในการสร้างหมู่บ้านชุมชนให้เข็มแข็ง  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 10 ปี  กองทุนได้มีการพัฒนามาโดยตลอด มีการประเมินประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุน เมื่อปี 2546 ต่อมามีการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง พ.ศ. 2547 เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง คือ ให้กองทุนที่มีความพร้อมด้านการบริหารกองทุน จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จุดประสงค์ คือต้องการยกระดับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้บริหารจัดการกองทุนได้ด้วยตนเอง  ปี 2552 รัฐบาลได้มีนโยบายของกองทุนสร้างความเข้มแข็งให้กองทุน ได้มีโอกาสเพิ่มทุนระยะที่ 2 สำหรับกองทุนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล  สามารถขอเพิ่มทุนระยะที่ 2 ได้  ตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 600,000 บาท 

ปรัชญาของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
  1. เสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและท้องถิ่น
  2. ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคต และจัดการหมู่บ้านและชุมชนด้วยคุณค่าและภูมิปัญญาของตนเอง
  3. เกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้านและชุมชน
  4. เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างชุมชน ราชการ เอกชนและประชาสังคม
  5. กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และพัฒนาประชาธิปไตยพื้นฐาน..

วัตถุประสงค์กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
  1. เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียน สำหรับการลงทุนพัฒนาอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ หรือเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย  บรรเทาเหตุฉุกเฉิน และจำเป็นเร่งด่วน
  2. ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีขีดความสามารถจัดระบบเงินกองทุนบริหารจัดการเงินกองทุน
  3. เสริมสร้างกระบวนการพึ่งพาตัวเองของหมู่บ้านและชุมชนเมือง  การเรียนรู้ การสร้างและพัฒนาความคิดริเริ่ม เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง
  4. กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
  5. เกิดศักยภาพ / ความเข้มแข็งของประชาชนในหมู่บ้าน / ชุมชนเมือง ด้านเศรษฐกิจ สังคม

การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา มีผลการดำเนินงานที่อยู่ในระดับที่ดีมีประสิทธิภาพซึ่งเกิดจากการมีเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในระดับจังหวัด อำเภอและตำบลที่เข้มแข็ง  มีการเชื่อมโยงประสานงานกันทุกระดับ  ประกอบกับคณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง  ได้มีการกำกับดูแล สนับสนุน ส่งเสริม การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับจังหวัด มีการประชุมกันทุก 2 เดือน ทำให้กองทุนหมู่บ้านทุกแห่งมีการเชื่อมประสานกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง

เครือข่ายเข้มแข็ง กองทุนยั่งยืน  ผลจากการทำงานของเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระดับจังหวัด  ได้ติดตามผลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านระดับอำเภอ/ตำบล ซึ่งสรุปรายงานผลการดำเนินงานเมื่อสิ้นปีบัญชี 2554  (31 ธันวาคม 2554) จากเป้าหมาย 913 กองทุน  มีเงินทุนที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลทั้งสิ้น 1,084.60 ล้านบาท  เงินสมทบ 79.46 ล้านบาท  เงินฝากบัญชี 2   175.41 ล้านบาท  สมาชิก 92,750 คน  กรรมการกองทุน 11,543 คน อาชีพที่กู้เงินไปประกอบอาชีพมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ การเกษตร ค้าขาย และด้านช่าง/บริการ  ตามลำดับ  ในจำนวนกองทุน 913 กองทุน จดทะเบียนเป็นนิติบุคลแล้ว  879 กองทุน  คิดเป็นร้อยละ 96.30  กองทุนที่พัฒนาเป็นสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน จำนวน 9 กองทุน
    
การทำบัญชีและการตรวจสอบกองทุนหมู่บ้าน
  1. คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านจัดทำบัญชีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด  จัดทำบัญชีรับ – จ่าย อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
  2. สรุปผลการดำเนินงานประจำปีรายงานต่อคณะกรรมการ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  3. กองทุนหมู่บ้านจะต้องจัดให้มีระบบการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงิน การบัญชี และการพัสดุ
  4. ตั้งผู้ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและการดำเนินงานของคณะกรรมการ
  5. จัดส่งผลประกอบการและงบการเงินให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ภายใน หกสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี
  6. การจัดสรรกำไรสุทธิบัญชีที่ 1 ให้จัดสรรเป็นเงินสมทบกองทุน เงินประกันความเสี่ยง และเงินอื่น  ห้ามนำไปจัดสรรตามสัดส่วนการถือหุ้น  สำหรับเงินสมทบกองทุนและเงินประกันความเสี่ยงให้คงไว้ในบัญชีที่ 1

นายชวลิต ศิริวัฒนโยธิน

นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา
โทร.038-511239

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น