วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กระบวนการบูรณาการแผนชุมชนอำเภอ

การส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำ ทบทวนและปรับปรุงแผนชุมชน เป็นกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในการมีส่วนร่วมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และเชื่อมโยงสู่การวางแผนพัฒนาจังหวัด โดยการสนับสนุนให้ประชาชนในหมู่บ้าน ชุมชน รวมตัวกันนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตในหมู่บ้าน ชุมชนมากำหนดเป็นกิจกรรม จัดทำเป็นแผนเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นรากฐานของการวางแผนพัฒนาท้องถิ่น และแผนพัฒนาจังหวัด โดยยึดหลักการพึ่งพาตนเอง สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อม ในหมู่บ้านชุมชน และท้องถิ่น

กระบวนการสำคัญในการปรับปรุงทบทวนแผนชุมชนระดับอำเภอ จะต้องมีแนวทางการเชื่อมประสานการแก้ไขปัญหากับภาคีการพัฒนาและหน่วยงานต่างๆ สามารถกำหนดขั้นตอนสำคัญในการ บูรณาการแผนชุมชนระดับอำเภอ ดังนี้

1. ศึกษาข้อมูลระดับอำเภอ
- ผลการวิเคราะห์ข้อมูล จปฐ. กชช.๒ค ระดับอำเภอ
- ภาคีการพัฒนา นำเสนอข้อมูลอื่นๆ
- ตำบลต่าง ๆ เสนอแผนชุมชนระดับตำบลที่มีการบูรณาการแล้ว
- เชื่อมโยงการจัดทำแผนในแต่ละตำบล

2. การวิเคราะห์ศักยภาพของอำเภอ
- การวิเคราะห์
SWOT เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก เพื่อค้นหาจุดแข็ง (จุดเด่น) จุดอ่อน (จุดด้อย) โอกาสและอุปสรรค หรือสิ่งที่อาจเป็นปัญหาสำคัญในการดำเนินงานสู่สภาพที่ต้องการในอนาคต
- ปัญหาที่สำคัญของอำเภอ (เรียงลำดับความสำคัญ)
- อัตลักษณ์
- กำหนดวิสัยทัศน์ของอำเภอ คือ กำหนดภาพในอนาคตที่ต้องการจะเป็น โดยจะต้องมีทิศทางที่ชัดเจน มีความเป็นไปได้ และเป็นที่ยอมรับ
- ตำแหน่งการพัฒนาและการพัฒนาอาชีพของตำบล/ อำเภอ

3. บูรณาการสาเหตุ แนวทาง และโครงการ
- วิเคราะห์ศึกษาจากแผนของทุกพื้นที่
- เรียงลำดับความสำคัญแผนงาน/โครงการ
- บูรณาการสาเหตุ/แนวทาง/โครงการ

4. การบูรณาการแผนชุมชนระดับอำเภอ
- จัดทำโครงการ/กิจกรรม สนับสนุนในภาพของอำเภอ (ภาคี/หน่วยงาน)
- จัดกลุ่มแผนงานโครงการตามงบประมาณที่สนับสนุน เป็น แผนชุมชนทำเอง แผนท้องถิ่นสนับสนุน แผนหน่วยงานราชการสนับสนุนตาม
Function

5. แนวทางการขับเคลื่อนแผนชุมชน อย่างมีประสิทธิภาพ
6. แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอำเภอ คือ การกำหนดทิศทางการพัฒนาอำเภอในอนาคต และแผนงานโครงการที่มารองรับ มีความสำคัญในการขยายผลสู่การปฏิบัติ

7. ประชาพิจารณ์แผนชุมชนระดับอำเภอ
- นำเสนอแผนชุมชนระดับอำเภอให้แก่ตัวแทนประชาคมอำเภอ/ภาคีพัฒนา พิจารณาให้ความเห็นชอบ

บันทึกขุมความรู้ (Knowledge Assets)
- การบูรณาการแผนชุมชนระดับอำเภอ สามารถสะท้อนปัญหาความต้องการของประชาชนในหมู่บ้าน ตำบลและอำเภอ ซึ่งมาจากกระบวนการกลั่นกรองและบูรณาการแผนชุมชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล จนถึงระดับอำเภอ (
Bottom-Up) รวมทั้งสอดรับกับแนวทางการพัฒนาประเทศและจังหวัด

แก่นความรู้ ( Core Competency)
- ภาคประชาชน และชุมชนจะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในการแก้ปัญหาของตนเองผ่านกระบวนการแผนชุมชนในทุกระดับ โดยประชาชนสามารถ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาของตนเอง ปัญหาที่ไม่เกินความสามารถจะแก้ไขด้วยตนเอง การเรียนรู้ในการแก้ปัญหาและพึ่งตนเองเป็นสำคัญอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

กลยุทธ์ในการทำงาน
การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคราชการ เริ่มตั้งแต่ระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ จะเป็นกลไกสำคัญในการบูรณาการแผนชุมชนระดับอำเภอ ให้ประสบความสำเร็จ ดังนี้

- คณะกรรมการหมู่บ้านร่วมกับประชาคมหมู่บ้าน เป็นองค์กรสำคัญในการจัดทำทบทวนแผนชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนแผนชีวิตของประชาชน นอกจากเป็นแผนเพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภายนอกแล้วยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนากระบวนการพึ่งตนเองของประชาชน โดยประชาชนสามารถผนึกกำลังร่วมคิดร่วมทำเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชน/หมู่บ้าน ร่วมกันเป็นพื้นฐาน ซึ่งก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนเป็นการระเบิดจากข้างใน (inside – out) ลดการพึ่งพาจากภายนอก หันมาพึ่งพาตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเองอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

- ชุดปฏิบัติการตำบล และภาคีการพัฒนา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำภาคประชาชน และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลั่นกรอง บูรณาการแผนชุมชนระดับตำบล เพื่อจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหาความต้องการของชุมชน/หมู่บ้าน เพื่อเสนอขอรับการสนับสนุนจากภายนอก

- คณะอนุกรรมการระดับอำเภอ (อ.ก.อ.) กลั่นกรอง บูรณาการแผนชุมชนระดับอำเภอ ที่ต้องการขอรับการสนับสนุน

กฎระเบียบ/แนวคิด/ทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง
1. ระเบียบ กระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อ ๑๐(๒) กำหนดหน้าที่ของคณะพัฒนาท้องถิ่นในการร่วมจัดทำร่างแผนพัฒนา เสนอแนะแนวทางการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดทำร่างแผนพัฒนา

2. ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเป็นกรรมการหมู่บ้าน การปฏิบัติหน้าที่และการประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ๓๒(๓) คณะทำงานด้านแผนพัฒนาหมู่บ้าน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน ประสานการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้าน ประสานการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านกับคณะทำงานด้านต่างๆ

3. คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๕๓๗/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนการจัดทำแผนชุมชน

4. บทบาทของประชาคมที่กรมการปกครองส่งเสริมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาอำเภอมี ๓ ระดับ ได้แก่ ประชาคมหมู่บ้าน ประชาคมตำบล และประชาคมอำเภอ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนในประชาคม มีภาคประชาชนเป็นประธานและเป็นองค์ประกอบสำคัญในประชาคม โดยประชาคมมีบทบาทหลักในการสะท้อนและจัดลำดับปัญหาความต้องการของชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ตามลำดับขึ้นมาถึงอำเภอ แผนชุมชนที่ได้จึงสอดรับกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

นางพัชรินทร์ อ่องบางน้อย
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแปลงยาว

การส่งเสริมการบริหารจัดการทุนชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน

ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ กว่า ๖๐ % อยู่ในชนบทและคนเหล่านี้ยังเผชิญกับปัญหาควายากจน สาเหตุมาจากการขาดพื้นฐานดังต่อไปนี้ ๑. ขาดข้อมูลกระบวนการเรียนรู้การจัดการ ๒. ปัญหาเรื่องทุนและการบริหารจัดการ ๓. ปัญหาด้านการตลาด การขนส่ง และการสื่อสาร

การขาดทุนหมุนเวียนทำให้คนในชุมชน จำเป็นต้องหันหน้าเข้าหาแห่งเงินกู้นอกระบบ เกิดวัฏจักรของการกู้เงิน และการจ่ายดอกไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน และปัญหาความยากจนของประชาชน

จากนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนของภาครัฐ ทำให้เกิดกองทุนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแต่ละกองทุนมีความแตกต่างกันในเรื่อง การบริหารจัดการ ส่งผลให้ประชาชนมีภาระหนี้สิน ชุมชนไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ภาครัฐและองค์กรต่างๆให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ร่วมในการส่งเสริม สนับสนุนการบริหารจัดการและพัฒนาทุนชุมชนให้มีประสิทธิภาพ

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารงาน โดยมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากกองทุน ของชุมชนที่มีอยู่หลากหลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง อย่างยั่งยืนโดยกำหนดตัวชี้วัดเกี่ยวกับทุนชุมชน ซึ่งหมู่บ้านที่มีการจัดตั้งสถาบันการจัดการทุนชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นแกนนำในการดำเนินงานบริหารจัดการทุนชุมชนทำให้การบริหารจัดการเงินทุนเกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด แก่ประชาชนและชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน คือ

๑. เพื่อให้การจัดการเงินทุนชุมชนเป็นระบบ มีความเป็นเอกภาพ สามารถแก้ปัญหา พัฒนาเศรษฐกิจ และพัฒนาสังคมให้กับชุมชน
๒. เพื่อเป็นแหล่งเงินออมของชุมชน
๓. เพื่อเป็นแหล่งทุน และสวัสดิการชุมชน
๔. เพื่อเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของชุมชน

เพื่อให้ชุมชนมีองค์กรที่สามารถบริหารจัดการเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ครัวเรือน ๑ สัญญา การจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนเป็นการบูรณาการกองทุนต่างๆเข้าด้วยกัน จึงมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงของชุมชน ในภาวะปัจจุบันอย่างยิ่ง โดยมีขั้นตอนการพัฒนาทุนชุมชน เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ดังนี้

ขั้นตอนการพัฒนาทุนชุมชน
๑. การจัดเก็บข้อมูลทุนชุมชน

ชุมชนแต่ละแห่งจะมีทุนชุมชนแตกต่างกัน ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพอีกทั้งทุนชุมชน แต่ละด้านที่มีอยู่ในชุมชน ก็อาจมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องขององค์ความรู้ จะทำให้รู้ว่า จำทำอะไรก่อน – หลัง

๒. การวิเคราะห์ข้อมูลทุนชุมชน
.๑ ศึกษาทุนชุมชนที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ในแต่ละประเภทว่ามีขนาดหรือปริมาณเท่าไร
๒.๒ สามารถบ่งชี้สถานะของทุนชุมชนแต่ละประเภทที่มีอยู่ในหมู่บ้าน ว่ามีสถานะเป็นอย่างไร อยู่ในสถานะที่ดี/พอใช้/ต้องปรับปรุง
๒.๓ ประเมินศักยภาพของทุนชุมชน ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน เพื่อเป็นปัจจัยการพัฒนาและบริหารจัดการทุนชุมชน
๒.๔ จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหาทุนชุมชน เพื่อให้ทราบว่าควรดำเนินการอะไร ก่อน - หลัง
วิธีการวิเคราะห์ชุมชนสามารถทำได้โดยการจัดเวทีประชาคม ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือ คณะกรรมการหมู่บ้าน คณะกรรมการกลุ่มองค์กร ผู้นำชุมชน และภาคีการพัฒนา

๓. การพัฒนาทุนชุมชน
เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ทุนชุมชน ไปขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า ของทุนชุมชน หรือแก้ไขปัญหาของหมู่บ้าน เช่น การจัดทำแผนของหมู่บ้าน โดยนำเอาผลจากการวิเคราะห์ทุนชุมชน มากำหนดกิจกรรมหรือโครงการ ในการพัฒนาทุนชุมชน

๔. การประเมินผลการพัฒนาทุนชุมชน
หลังจากได้มีการนำข้อมูลจากการวิเคราะห์ข้อมูลทุนชุมชน ไปขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา จะต้องมีการประเมินผลการพัฒนาทุนชุมชนดังกล่าว ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย
๔.๑ แบบสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) เป็นข้อมูลรายครัวเรือน ดำเนินการจัดเก็บเป็นประจำทุกปี
๔.๒ แบบสำรวจข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช.๒ค) เป็นข้อมูลรายหมู่บ้านดำเนินการจัดเก็บเป็นประจำทุก ๒ ปี
๔.๓ แบบจัดระดับหรือดัชนีชี้วัด การพัฒนาทุนชุมชน จะแสดงให้เห็นถึงทุนชุมชน แต่ละด้านมีค่าอยู่ในระดับใด
๔.๔ แบบมาตรฐานทุนชุมชน ใช้เป็นเกณฑ์ในการวัดทุนชุมชน
๔.๕ แบบประเมินศักยภาพทุนชุมชน สามารถชี้ให้เห็นถึงขีดความสามารถในการพัฒนาทุนชุมชนแต่ละด้านว่าเป็นอย่างไร

การประเมินผลการพัฒนาทุนชุมชน จากเครื่องมือที่กล่าวมา สามารถชี้ให้เห็นได้ว่าแต่ละปี มีผลการพัฒนาเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่าน ซึ่งจะสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาทุนชุมชน ได้อย่างถูกต้อง

ขุมความรู้
๑. การพัฒนาทุนชุมชน
๒. การบูรณาการทุนชุมชน
๓. ขั้นตอนการพัฒนาทุนชุมชน

แก่นความรู้
การใช้ทุนชุมชนแก้ปัญหาส่วนรวม ที่เป็นรากฐานการพัฒนารากฐานส่วนอื่นๆ และทุนชุมชนทำให้เกิดเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน

กฎระเบียบ/แนวคิด/ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
๑. ยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน ในช่วงพ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๔
๒. คู่มือการจัดตั้งสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน
๓. เอกสารแนวทางการพัฒนาทุนชุมชน

นางพัชรินทร์ อ่องบางน้อย
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแปลงยาว

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การหาทางออกเมื่อเจอปัญหา

การทำงานพัฒนาชุมชน สิ่งหนึ่งที่จะต้องเจอ คือความขัดแย้ง เนื่องจากเราต้องทำงานกับ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน กลุ่มองค์กร ประชาชน บ่อยครั้งข้าพเจ้าเจอปัญหาเอง และมีโอกาสแก้ไขปัญหาให้ผู้อื่น โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ต้องยุติปัญหานั้นให้ได้ ต้องใช้เทคนิค และการตัดสินใจแก้ไขปัญหา ซึ่งไม่มี่ใครสามารถออกแบบไว้ก่อนได้ล่วงหน้า ซึ่งข้าพเจ้าเจออยู่บ่อยๆ ต้องหาข้อยุติให้ระหว่างผู้นำ กับประชาชนซึ่งขัดแย้งกัน ในฐานะนักวิชาการพัฒนาชุมชนต้องประสานความเข้าใจ จะเข้าข้างใครไม่ได้

การแก้ไขปัญหาเริ่มจากการตั้งสติ รับฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้น หาสาเหตุของปัญหา วิเคราะห์ปัญหา ทบทวนที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ความรุนแรงของเรื่องที่เกิด ผลที่เกิดขึ้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหากปัญหายังไม่ยุติ แล้วจึงมารับฟังความต้องการของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร ถ้าจำเป็นให้มีกฎกติกาของการตกลงกัน ก็ให้มี เช่นให้พูดทีละคน และไม่ให้พูดแทรก ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ต้องใช้ไหวพริบ หากมีการโต้เถียงกันก็ให้ดูว่ามีแนวโน้มรุนแรงหรือไม่ ถ้าไม่รุนแรง บางครั้งอารมณ์ขัน...ช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้..และทำให้เราไม่รู้สึกเครียด

เคยเจอเหตุการณ์หนึ่ง พัฒนาการอำเภอ ได้เชิญดิฉันไปร่วมประชุมคณะกรรมการกองทุน กข.คจ. และครัวเรือนเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการไม่ส่งเงินชำระหนี้กองทุน กข.คจ. เมื่อไปประชุมและทราบว่าผู้ใหญ่บ้านยืมเองและเมื่อถึงกำหนดไม่ส่งเงิน และบอกชาวบ้านว่าไม่ต้องส่ง ระหว่างนั้นมีการโต้เถียงกันระหว่างผู้ใหญ่บ้านกับชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้านคุมสติไม่อยู่และใช้วาจาไม่สุภาพ เรียกว่าแจกกล้วยชาวบ้าน นั่นแหละ...ดิฉันและพัฒนาการอำเภอนั่งฟังอยู่ด้วย...ตอนแรกก็รู้สึกตกใจ แต่ต้องตั้งสติและช่วยกันบอกให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ ค่อยพูดกัน และบอกผู้ใหญ่บ้านว่า...หนูยังโสดผู้ใหญ่ไม่ต้องให้หนูค่ะ.... ชาวบ้านได้ยินทุกคนก็หัวเราะบรรยากาศก็ดีขึ้น ผู้ใหญ่ฯ ขอโทษดิฉัน และขอโทษลูกบ้านที่คุมสติไม่อยู่ และชี้ให้เห็นว่าทุกหมู่บ้านในอำเภอนี้ไม่มีปัญหาหนี้ค้างชำระ ทุกคนมีเงินพอชำระ...แล้วเราจะทำให้เสียชื่อหมู่บ้านเราหรือ.....ทุกคนลงมติว่าจะนำเงินมาคืน

การแก้ปัญหา ต้องมีความเชื่อก่อนว่าทุกสิ่งทุกอย่างแก้ไขได้ ต้องให้เกียรติทั้งสองฝ่าย บุคลิกท่าทาง การแสดงออก สีหน้า ต้องแสดงออกถึงความจริงใจ รับฟังทั้งสองฝ่าย แต่ต้องยึดความถูกต้องตามระเบียบแผนทางราชการไว้เป็นหลัก หากปัญหายังยุติไม่ได้ก็หาแนวทาง หรือหาผู้ที่เป็นที่ยอมรับนับถือของทั้งสองฝ่ายมาช่วยเจรจา ประนีประนอม เมื่อปัญหาหาทางออกได้แล้วการติดตามผลภายหลังก็เป็นสิ่งสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก...

นางสาวสุรีวรรณ คณนา
นักวิชาการพัฒนาชมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา