วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เทคนิคการทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่สองศาสนาสองวัฒนธรรม “บ้านบึงสิงห์”



สถานการณ์ที่ทำให้เราต้องไปศึกษา... ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรามีประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ กระจายอยู่ด้วยกันในหลายพื้นที่ ความยากลำบากของการทำงานในพื้นที่เหล่านี้ คือ ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่และผู้นำชุมชนจะต้องเข้าใจ และเข้าถึง ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ และวิถีชีวิตของชาวบ้านทุกฝ่าย เพื่อให้การพัฒนาหมู่บ้านเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น หากมีปัญหาก็สามารถแก้ไขได้ด้วยสันติวิธี 

เหตุผลที่เลือกพื้นที่ “บ้านบึงสิงห์” เพื่อถอดบทเรียนการทำงาน... เนื่องจากบ้านบึงสิงห์เป็นพื้นที่ที่มีผลการดำเนินงานด้านการพัฒนาชุมชนค่อนข้างโดดเด่น โดยเฉพาะการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน ซึ่งเป็นกลุ่ม/องค์กรแกนหลักในการพัฒนาชุมชน นอกจากนี้การดำเนินงานกองทุนต่างๆ และการพัฒนาหมู่บ้านด้านอื่นๆ ก็เป็นไปด้วยความราบรื่น เรียบร้อย ชาวบ้านให้ความร่วมมือกับทางราชการดีมาก และที่สำคัญคือที่นี่มีชาวบ้านที่นับถือศาสนาอิสลาม และชาวบ้านที่นับถือศาสนาพุทธอยู่ด้วยกัน เราจึงต้องการศึกษาว่าทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชน เขามีเทคนิควิธีการทำงานอย่างไร เพื่อจะได้นำเอาวิธีการเหล่านี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีสภาพของหมู่บ้านใกล้เคียงกันได้บ้าง
 
ทำไมพื้นที่ที่มีทั้งพุทธและอิสลามอยู่ด้วยกันจึงแตกต่างจากพื้นที่อื่น... เหตุผลที่สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ คือ ความแตกต่างทางด้านการนับถือศาสนา ทำให้ทัศนคติ ความรู้สึกนึกคิด และวิถีชีวิตของชาวบ้านแตกต่างกัน ดังนั้น การทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่ทั้งผู้ที่นับศาสนาพุทธและอิสลามอยู่ด้วยกัน จึงต้องมีวิธีการทำงานที่แตกต่างจากพื้นที่ที่มีชาวบ้านนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเพียงศาสนาเดียว

บริบทของบ้านบึงสิงห์... ตำนานของบ้านบึงสิงห์ ก็คือ ในอดีตนั้นหมู่บ้านแห่งนี้มีลักษณะเป็นบึงน้ำ และมีสัตว์ป่าชุกชุมโดยเฉพาะสิงโต จึงเป็นที่มาของคำว่า “บ้านบึงสิงห์” ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากมาจนถึงทุกวันนี้ แต่ชื่อของหมู่บ้านที่ใช้อย่างเป็นทางการนั้นไม่ใช่บ้านบึงสิงห์ แต่ชื่อ “บ้านคลอง 18” ตามสภาพปัจจุบันของหมู่บ้าน ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลหมอนทอง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา  อยู่ทางทิศเหนือของที่ว่าการอำเภอบางน้ำเปรี้ยว ระยะห่างประมาณ 10 กิโลเมตร มีจำนวนครัวเรือน 172 ครัวเรือน ประชากร 1,134 คน แยกเป็นเพศหญิง 569 คน เพศชาย  565 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และบางส่วนนับถือศาสนาพุทธ
 
ลักษณะการประกอบอาชีพและสถานที่สำคัญ... ชาวบ้านบึงสิงห์ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ประมาณร้อยละ 80 รองลงมา คือ อาชีพรับจ้างทั่วไป ประมาณร้อยละ 15 และอาชีพอื่นๆ อีกประมาณร้อยละ 5 แต่ที่น่าแปลก คือ ที่นี่มีผู้ที่เป็นข้าราชการจำนวนมาก ประมาณ 30 คน และยังเป็นข้าราชการเกษียณอีก 10 คน เหตุที่มีข้าราชการมากนี้ เล่ากันว่า เนื่องจากคนรุ่นปู่ย่าตายาย ได้ปลูกฝังค่านิยมนี้ไว้ และยังมีการอุทิศที่ดินให้มีการปลูกสร้างโรงเรียนและสถานที่ราชการหลายแห่ง เช่น โรงเรียนหมอนทองวิทยา (เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา ม.1-6 พัฒนามาจากโรงเรียนราษฎร์อิสลามฉะเชิงเทราบึงสิงห์) โรงเรียนบึงสิงโต (เป็นโรงเรียนชั้นอนุบาล - ป.6) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของกรมการศาสนา โรงเรียนสอนศาสนา (โรงเรียนปอเน๊าะ) 2 แห่ง มัสยิด (ยามิอุ้ลคอยร๊อต) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหมอนทอง  จึงกลายเป็นค่านิยมของคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านนี้ให้นิยมทำอาชีพรับราชการ
 
สิ่งบ่งชี้ให้เห็นความสำเร็จของบ้านบึงสิงห์... อย่างแรกที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ กองทุนแม่ของแผ่นดิน คณะกรรมการกองทุนทุกคนมีส่วนร่วม เอาใจใส่ และขยันขันแข็งมาก มีกิจกรรมต่อยอดขยายผลเงินขวัญถุงของกองทุนแม่ฯ โดยการแลกเงินขวัญถุง 200 บาท ต่อ 1,000 บาท และจัดงานชุมชนเข้มแข็ง มีการออกงานจำหน่ายสินค้านำเงินมาสมทบกองทุนให้มากขึ้น การบริหารจัดการกองทุน จะมีการจัดประชุมเวทีประชาคมทุกเดือน โดยกำหนดทุกวันศุกร์ที่ 2 ของเดือน เวลาประมาณ 13.30 น. (หลังละหมาด) เพื่อจัดกิจกรรมรับรองครัวเรือนปลอดยาเสพติด หากพบว่ามีการยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ถ้าเป็นผู้เสพจะดำเนินการประสานกับสาธารณสุขตำบลนำไปบำบัดฟื้นฟูอาการต่อไป โดยกองทุนแม่ฯ จะเป็นผู้ออกค่าพาหนะเดินทางให้ นอกจากนี้กองทุนแม่ฯ ยังมีกิจกรรมชมรมทูบีนัมเบอร์วัน และการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกด้วย เช่น การมอบทุนการศึกษา ทุนละ 500 บาท/คน การจัดหาวัสดุอุปกรณ์กีฬามอบให้แก่เยาวชนในหมู่บ้านนำไปใช้ประโยชน์ออกกำลังกาย และจัดสวัสดิการส่วนหนึ่งสนับสนุนวัฒนธรรม/ประเพณีต่างๆ ของชุมชน เช่น ลิเกฮูลู หรือนาเสบประยุกต์ การจัดงานวันตรุษอิดิ้ลฟีตรี่ (ออกบวช) วันตรุษอิดิ้ลอัฏฮา (หลังจากเสร็จพิธีฮัญญี) เป็นต้น 

ส่วนการดำเนินงานด้านอื่นๆ... ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มสัจจะ กลุ่มสตรีแม่บ้าน กองทุนประปาหมู่บ้าน หรือโครงการ SML ก็มีการบริหารจัดการที่ดี มีความเข้มแข็ง ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทั้งคณะกรรมการ ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สำหรับด้านสุขภาพอนามัย จะมีอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) รับผิดชอบดูแลชาวบ้านในอัตราส่วน อสม. 1 คน ดูแลชาวบ้านประมาณ 30 ครัวเรือน โดยให้บริการในเรื่องการตรวจความดันโลหิต กำจัดลูกน้ำยุงลาย ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ และประสานงานเจ้าหน้าที่ตรวจเลือด ตรวจเบาหวาน ตรวจมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น  ส่วนด้านสิ่งแวดล้อมก็ได้รับการดูแลโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน ทั้งในเรื่องการกำจัดขยะและวัชพืชในลำคลอง
 
หลักคิดในการทำงานของผู้นำชุมชน... ความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนของบ้านบึงสิงห์ในวันนี้ เกิดจากการมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ทำงานเป็นทีม โดยยึดหลักคิดในการทำงานเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน ได้แก่ 1.การวางแผน ต้องมีการใช้แผนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ในหมู่บ้าน 2.ต้องมีการพูดคุย ปรึกษาหารือกันในระหว่างคณะกรรมการก่อนดำเนินงาน 3.ต้องมีการจัดเวทีประชาคมเพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และลงมติเพื่อให้ความเห็นชอบ 4.ต้องมีการจัดบันทึกการประชุมไว้เป็นหลักฐาน และ 5.ต้องมีการติดตามประเมินผลการทำงานเป็นระยะๆ ซึ่งดูแล้วก็คล้ายคลึงกับหลักการพัฒนาชุมชนของกรมการพัฒนาชุมชน 

วิธีการทำงานพัฒนาชุมชนของผู้นำชุมชนบ้านบึงสิงห์... เท่าที่เราถอดบทเรียนมา ผู้นำชุมชนจะยึดเสียงส่วนใหญ่ในการปฏิบัติงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่ก็ให้เกียรติและเคารพส่วนเล็กซึ่งเป็นชาวพุทธ หากจะแบ่งวิธีการทำงานของที่นี่ก็น่าจะได้วิธีการที่สำคัญประมาณ 4 ข้อ ดังนี้ 

1. การสื่อสารข้อมูลข่าวสารในหมู่บ้าน... จะใช้วิธีออกหนังสือไปยังคณะกรรมการหมู่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้านจะนำไปบอกต่อลูกบ้าน ในอัตราส่วน คณะกรรมการ 1 คน ต่อ ลูกบ้าน 4 – 5 ครัวเรือน คนที่ไม่ได้รับข่าวสารจากวิธีดังกล่าว จะมีการโทรศัพท์บอกอีกครั้งหนึ่ง และก่อนจะเริ่มการประชุมหรือเริ่มกิจกรรมก็จะประกาศเสียงตามสาย เตือนให้ชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมอีกครั้งหนึ่ง
 
2. การจัดการกับปัญหาวัยรุ่น... จะใช้วิธีเฝ้าระวังพฤติกรรมของวัยรุ่นไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดโดยเครือข่ายชุมชน หากพบว่ามีวัยรุ่นติดยาเสพติดก็จะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ส่งตัวเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูต่อไป ทั้งนี้คณะกรรมการจะปฏิบัติต่อวัยรุ่นโดยใช้หลักสันติวิธี ให้ครอบครัวช่วยดูแล และมาตรการทางสังคมโดยการตรวจสอบรับรองครัวเรือนในเวทีประชาคมกองทุนแม่ของแผ่นดิน 

3. การจัดการกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง... จะยึดหลักสมานฉันท์ โดยผู้นำศาสนาจะเป็นผู้หล่อหลอมและตักเตือน ให้ยอมรับความคิดเห็น ความแตกต่าง ให้รู้จักแยกแยะ คิดวิเคราะห์ และหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องการเมืองกรณีที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน 

4. การใช้เครื่องมือดำเนินกิจกรรมในหมู่บ้าน... จะยึดหลักในการใช้แผนชุมชนเป็นเครื่องมือในการทำงาน ใช้วันสำคัญทางศาสนา และวันสำคัญทางราชการ เป็นวันกำหนดทำกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการอบรมคุณธรรม และอบรมอาชีพให้เด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน เพื่อให้ปฏิบัติตนเป็นคนดีต่อไป
 
คำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่ในการทำงานพื้นที่... ผู้นำชุมชนให้คำแนะนำไว้ว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่บ้านบึงสิงห์นั้น ควรทำตัวเป็นกันเอง มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี สร้างความคุ้นเคย กลมกลืนกับชาวบ้าน และเมื่อชาวบ้านไปหาก็ควรต้อนรับด้วยมิตรไมตรี เพียงเท่านี้ก็สามารถจะทำงานกับชาวบ้านบึงสิงห์ได้ด้วยความราบรื่นแล้ว 

ปัจจัยความสำเร็จของหมู่บ้านในวันนี้... จากการถอดบทเรียนเราพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาบ้านบึงสิงห์ มีอยู่หลายข้อด้วยกัน ดังนี้ 
1. ความเชื่อถือศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อผู้นำชุมชน
2. ความเป็นกลางของผู้นำชุมชน
3. ความศรัทธาต่อผู้นำศาสนา/ผู้นำธรรมชาติ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ
4. ผู้นำชุมชนได้รับการยอมรับจากประชาชน
5. ความเข้มแข็งของชุมชน
6. บรรพบุรุษที่มีจิตอาสาและเป็นแบบอย่างที่ดี
7. มีจุดศูนย์รวมทางจิตใจ (มัสยิด)
8. ชุมชนมีองค์ความรู้ที่หลากหลาย
9. มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างสม่ำเสมอ
10. ใช้หลัก “คันตรงไหน เกาตรงนั้น”

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร. 038-511239 


ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน 
ผู้นำชุมชนกลุ่ม/องค์กร และชาวบ้าน “บ้านบึงสิงห์”ทุกคน
ที่ให้ความร่วมมือในการถอดบทเรียนครั้งนี้

วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บทเรียนการทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่หมู่บ้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม “บ้านดอนควายโทน”



สถานการณ์ที่ทำให้ต้องศึกษา... เนื่องจากสภาพสังคมของจังหวัดฉะเชิงเทราเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ซึ่งเมื่อก่อนนี้สภาพสังคมในจังหวัดฉะเชิงเทราจะเป็นสังคมเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา มีเวลาพบปะพูดคุยกันอยู่เสมอ มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้าน ต่อมาราวปี พ.ศ.2540 เริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามามากขึ้นในพื้นที่อำเภอบางปะกง บ้านโพธิ์ และแปลงยาว ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีเวลาทำงานที่แน่นอน เช้าไปเย็นกลับ หยุดเฉพาะวันอาทิตย์ พบปะกันน้อยลง พูดคุยในเรื่องของชุมชนน้อยลง ร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านน้อยลง 

สถานการณ์ที่มีผู้คนเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมนี้... ไม่ใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะในอำเภอบางปะกง บ้านโพธิ์ และแปลงยาว แต่ขยายวงไปยังทุกอำเภอ ถึงแม้นว่าจะเป็นพื้นที่ที่ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมแต่ก็มีรถของโรงงานไปรับ-ส่งถึงที่บ้าน สถานการณ์เช่นนี้ทำให้การทำงานพัฒนาชุมชนนั้นต้องเปลี่ยนแปลงไป ผู้นำชุมชนที่ไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงก็จะปล่อยไปตามยถากรรม ไม่มีคนก็ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องประชุม ไม่ต้องมีกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน ส่วนผู้นำชุมชนที่สนใจการพัฒนาหมู่บ้านก็จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาหมู่บ้านให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เปลี่ยนแปลงไป 

เหตุผลที่เลือกบ้านดอนควายโทนเป็นพื้นที่ศึกษา... เนื่องจากบ้านดอนควายโทนเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านถึง 3 โรงงาน ได้แก่ โรงงานผลิตเสาเข็ม โรงงานผลิตไฟเบอร์กล๊าส และโรงงานผลิตเบาะรถยนต์ ชาวบ้านของบ้านดอนควายโทนมีอาชีพทั้งรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมและประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่ด้วยกัน แต่ก็ปรากฏว่ากิจกรรมการพัฒนาหมู่บ้านได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากชาวบ้าน ไม่มีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น ระหว่างชาวบ้าน ผู้นำชุมชน โรงงาน และผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ความอยู่กันได้ด้วยความเรียบร้อยดีระหว่างคนในสังคมเกษตรกรรมและสังคมอุตสาหกรรมนี้ เป็นเหตุผลที่ทำให้บ้านดอนควายโทนเป็นพื้นที่ที่น่าศึกษาเพื่อถอดบทเรียนไปใช้เป็นแบบอย่างให้กับหมู่บ้านอื่นๆ ที่มีสภาพสังคมที่คล้ายคลึงกัน
 
บริบทของบ้านดอนควายโทน... บ้านดอนควายโทน หมู่ที่ 14 ตำบลสิบเอ็ดศอก อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ว่าการอำเภอบ้านโพธิ์ ห่างจากอำเภอประมาณ 10 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ ประชากรประมาณ 600 คน จำนวนครัวเรือน 136 ครัวเรือน ทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ อาชีพของชาวบ้าน ส่วนใหญ่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา และมีส่วนหนึ่งประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ หรือ 150-200 คน รับจ้างทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมทั้งในและนอกพื้นที่ มีโรงงานอยู่พื้นที่ 3 โรงงาน ได้แก่ โรงงานผลิตเสาเข็ม มีคนงาน ประมาณ 100 คน โรงงานผลิตไฟเบอร์กล๊าส มีคนงาน ประมาณ 150 คน และโรงงานผลิตเบาะรถยนต์ มีคนงาน ประมาณ 200 คน คนงานในโรงงานบางส่วนเป็นคนในพื้นที่ บางส่วนมาจากต่างจังหวัดแถวภาคอีสาน และต่างประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา เป็นต้น สถานที่ที่ชาวบ้านใช้ทำกิจกรรมสำคัญของหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านของผู้ใหญ่บ้านและบ้านของรองนายก อบต.สิบเอ็ดศอก 

ความสำเร็จในการทำงานพัฒนาชุมชน... บ้านดอนควายโทนประสบความสำเร็จในด้านการบริหารจัดการกองทุนต่างๆ ของหมู่บ้านเป็นอย่างดี การดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านมีการบริหารจัดการอย่างราบรื่นไม่มีปัญหาหนี้สินค้างชำระ กองทุนหมู่บ้านเป็นแหล่งเงินทุนในระบบให้กับชาวบ้าน มีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกกองทุน เช่น สวัสดิการผู้เสียชีวิต รายละ 2,500 บาท มีกองทุนสาธารณประโยชน์ ช่วยเหลือวัด ช่วยเหลือการกุศล เป็นต้น การดำเนินงานกองทุน SML ได้ร่วมกันทำเวทีประชาคมนำเสนอโครงการซื้อท่อและเครื่องสูบน้ำ บริการให้ชาวบ้านเช่าไปใช้ในราคาถูก ค่าเช่าที่เก็บครั้งละ 100 บาท นำไปใช้ในการบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีกองทุนกลุ่มสตรี และกลุ่มสัจจะกองทุนหมู่บ้าน ใช้เป็นแหล่งเงินทุนให้กับชาวบ้านอีกด้วย ซึ่งการบริหารจัดการของแต่ละกองทุนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี มีประสิทธิภาพ
 
ชาวบ้านดอนควายโทนให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งแก่ผู้นำชุมชน... มีการประชุมและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้านอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง พูดถึงการพัฒนาด้านสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน จะมี อสม.รับผิดชอบดูแลสุขภาพอนามัยของชาวบ้าน 15 ครัวเรือนต่อ อสม. 1 คน มีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ ด้วยการดูแลการออกกำลังกายและการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย กิจกรรมการกำจัดลูกน้ำยุงลายเพื่อลดโอกาสเกิดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีบริการคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ตรวจเลือด ตรวจมะเร็งปากมดลูกให้กับชาวบ้านด้วย 

บ้านดอนควายโทนยังมีความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งนั่นคือเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม... โดยดูแลแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียซึ่งเกิดจากการหมักหมมของหญ้า  วิธีแก้ไขคือการใช้ลูกบอลจุลินทรีย์ใส่ลงไปในแหล่งน้ำ และใช้ผักตบชวาดูดซับสิ่งสกปรกและบำบัดน้ำเสีย สำหรับเรื่องความสำเร็จของการอยู่ร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว... นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านที่นี่ค่อนข้างภาคภูมิใจ เพราะเขาสามารถดูแลได้ตั้งแต่การขออนุญาต การบำบัดของเสีย เช่น ขยะ ขยะพิษ การระบายน้ำเสียที่บำบัดแล้ว เป็นต้น ทำให้แทบไม่มีผลกระทบกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเลย สามารถเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลาได้ตามปกติ
 
หลักคิดในการบริหารจัดการชุมชนของผู้นำชุมชน... จากการพูดคุยกับนายก อบต.สิบเอ็ดศอก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนแล้ว เราพบว่าที่นี่ยึดหลักคิดในการพัฒนาหมู่บ้าน ได้แก่ การใช้แผนชุมชนในการขับเคลื่อนกิจกรรมของหมู่บ้าน ใช้กรรมการหมู่บ้านเป็นกลไกในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ  มีเวทีพบปะพูดคุย ปรึกษาหารือกันเป็นประจำระหว่างผู้นำชุมชน การประชุมอย่างเป็นทางการนั้นมีน้อยครั้ง แต่จะใช้วิธีพูดคุยกันนอกรอบอย่างไม่เป็นทางการแล้วนำไปบอกต่อๆ กันไป รวมทั้งใช้หอกระจายข่าวในการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ของหมู่บ้าน 

วิธีการทำงานพัฒนาชุมชนของผู้นำชุมชน... สำหรับชาวบ้านที่ไปทำงานโรงงานจะออกเดินทางไปทำงาน ตั้งแต่ประมาณ 07.00 น. และจะกลับมาประมาณ 17.00 น. หากทำงานล่วงเวลาก็จะกลับช้ากว่านี้ ส่วนวันหยุดก็คือวันอาทิตย์ สำหรับชาวบ้านที่มีอาชีพเกษตรกรรม เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา จะออกไปทำงานให้อาหารกุ้ง ปลา เวลา 06.00 – 07.00 น. เสร็จประมาณ 08.00 น. และเย็นเริ่มเวลา 15.00 น. ส่วนเวลาที่เหลือก็จะทำงานอื่นๆ ในฟาร์ม ดังนั้น หากต้องการประชุมหรือทำกิจกรรมส่วนรวม ก็จะต้องนัดหมายในเวลาที่ว่างตรงกัน นั่นคือวันอาทิตย์ สำหรับเจ้าหน้าที่ของทางราชการ หากมีกิจกรรมที่ต้องดำเนินการในหมู่บ้านนี้ ก็ต้องมาประชุมหรือทำกิจกรรมต่างๆ ในวันอาทิตย์ เช่นเดียวกัน 

การสื่อสารข้อมูลข่าวสารของผู้นำชุมชนกับชาวบ้านที่นี่... ผู้นำชุมชนจะใช้วิธีโทรศัพท์ไปประสานกับแกนนำชุมชน และให้แกนนำชุมชนกระจายข่าวต่อ โดยแกนนำชุมชน 1 คน บอกต่อประมาณ 10 – 15 ครัวเรือน การประชุมหากต้องมี จะนัดประชุมเวลา 13.00 น. ของวันอาทิตย์ เนื่องจากเป็นเวลาว่างของทุกกลุ่มเป้าหมาย ข้าราชการจะมาพบกับชาวบ้านก็ต้องมาวันอาทิตย์เช่นกัน

 
สำหรับเรื่องของการมีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้าน... ถ้าเป็นกิจกรรมสำคัญและเร่งด่วน เช่น การทำแผนชุมชน จะใช้พวกผู้นำชุมชนและผู้มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักในการเข้าร่วมกิจกรรม อย่างน้อยครัวเรือนละ 1 คน (ส่วนใหญ่แล้วครัวเรือนที่นี่จะมีสมาชิกในครอบครัวทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และจะมีสมาชิกรุ่นลูกไปรับจ้างในโรงงาน) คนที่มาร่วมกิจกรรมครั้งละประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนครัวเรือนที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรม ก็เป็นหน้าที่ของแกนนำชุมชนที่จะเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจ โดยใช้หลักเข้าหา อ่อนน้อม เข้าใจเข้าถึง โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ เช่น ข้าราชการเกษียณ อย่าฝากคนอื่นไปบอก แกนนำต้องไปบอกเอง 

เจ้าหน้าที่มีวิธีการทำงานอย่างไรบ้าง... เมื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่เกษตร สาธารณสุข พัฒนากร และองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว พบว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานที่นี่ทำงานโดยใช้หลักความสัมพันธ์กับผู้นำชุมชน สร้างความรู้สึกที่เป็นมิตร เป็นกันเอง เป็นพวกเดียวกันกับผู้นำชุมชน การประชุมของ อบต.สิบเอ็ดศอก จะเชิญข้าราชการทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมประชุมด้วย ให้ความรู้สึกของการทำงานเป็นทีมเกิดขึ้นในชุมชน ไม่มีบรรยากาศของความขัดแย้งกันระหว่าง อบต. กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และข้าราชการที่ทำงานในพื้นที่ เมื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำชุมชนแล้ว เจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็จะนัดประชุมหรือทำกิจกรรมส่วนรวมร่วมกับชาวบ้านในเวลาที่ชาวบ้านว่าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือวันอาทิตย์ 

ปัญหาอุปสรรคของบ้านดอนควายโทนที่ต้องแก้ไขกันต่อไป... ก็คือปัญหายาเสพติด ผู้นำชุมชนจะใช้วิธีตักเตือนให้เลิกการกระทำนั้นเสีย ซึ่งก็ได้ผลดีระดับหนึ่ง อีกปัญหาหนึ่งคือ การที่โรงงานไปเอาคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในพื้นที่ ก็ทำให้เกิดปัญหาลักเล็กขโมยน้อยขึ้น ทรัพย์สินที่เสียหายส่วนใหญ่เป็นพวกของกิน เช่น กล้วย ปลา ผลผลิตการเกษตรต่างๆ เป็นต้น วิธีแก้ไขปัญหาของชุมชน ก็คือ การประสานงานไปยังเจ้าของโรงงานให้ช่วยตักเตือนห้ามปราม ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากเจ้าของโรงงาน สิ่งที่ผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่นี่อยากจะทำต่อไป... ก็คือ การส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในหมู่บ้าน อยากให้มีกลุ่มอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดียิ่งขึ้น
 
บทเรียนที่ได้จากบ้านดอนควายโทน... คือ ถ้าผู้นำชุมชนมีความสามัคคีกัน ไม่แตกแยก แบ่งฝ่ายกันแล้ว จะทำให้การพัฒนาชุมชนมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากขึ้น และถ้าผู้นำชุมชนมีการประชุม ปรึกษาหารือกันอย่างสม่ำเสมอแล้ว จะทำให้กิจกรรมของชุมชนดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย สำหรับ ในประเด็นเรื่องการทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมนั้น บทเรียนที่ได้รับก็คือ ถ้าสามารถจัดกิจกรรมส่วนรวมต่างๆ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเวลาว่างของขาวบ้านได้ ก็จะทำให้การทำงานพัฒนาชุมชนเป็นไปด้วยความราบรื่น...

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.038-511239


ขอขอบคุณ
ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
นายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลสิบเอ็ดศอก
ผู้นำชุมชนและชาวบ้านดอนควายโทนทุกท่าน