ผู้เขียน
นายสุรเดช วรรณศิริ พัฒนาการอำเภอราชสาส์น
โทรศัพท์
081-2993477
เมื่อวันที่
25 พฤษภาคม 2558
แก้ปัญหา การดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ
มีคำถามอยู่บ่อยๆ ว่าหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของกรมการพัฒนาชุมชนนั้น
ต่างจากหมู่บ้านทั่วไปอย่างไร
สำหรับผมแล้วความแตกต่างของหมู่บ้านต้นแบบกับหมู่บ้านทั่วไปมีอยู่ 3 อย่าง คือ
1. ศูนย์เรียนรู้ชุมชน
หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ต้องมีศูนย์เรียนรู้ชุมชน
หมู่บ้านทั่วไปอาจมีหรือไม่มีก็ได้
ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเป็นสถานที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ของคนในชุมชน
จะเป็นศาลากลางของหมู่บ้านหรือสถานที่อื่นที่ชาวบ้านเลือกก็ได้ ข้อสำคัญ คือ
ต้องมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นประจำ เช่น การเรียนรู้เรื่องสุขภาพอนามัย
การประกอบอาชีพ สังคมและครอบครัว การวางแผนและการบริหารจัดการชุมชน
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือการเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย เป็นต้น
โดยอาจกำหนดวันที่จัดกิจกรรมให้ตรงกับวันประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน
แล้วสอดแทรกกิจกรรมการเรียนรู้เข้าไป ประมาณ 30 – 40 นาที ก็จะได้ผลดีมาก
เป็นการให้ความรู้กับชาวบ้านทีละเล็กทีละน้อย ไม่เหนื่อยหรือเครียดจนเกินไป...
2.
แหล่งเรียนรู้หรือจุดเรียนรู้ของชุมชน นอกจากมีศูนย์เรียนรู้ชุมชนแล้ว
หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ต้องมีแหล่งเรียนรู้ชุมชนด้วย
แหล่งเรียนรู้นี้ก็หาไม่ยาก ผมจะใช้กิจกรรมของหมู่บ้านเป็นหลักก่อน เช่น
โรงสีชุมชน ที่ทำการกลุ่ม/องค์กรต่างๆ โรงผลิตปุ๋ยของชุมชน เป็นต้น แล้วก็ยังมีอีกวิธีหนึ่ง
คือ ผมใช้วิธีสอบถามจากชาวบ้าน ถึงครัวเรือนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ
ของชุมชน ซึ่งจะมีอยู่ทุกชุมชน ขอให้ถามให้ดี เช่น ครัวเรือนที่ทำสวนเกษตรผสมผสานหรือไร่นาสวนผสม
ครัวเรือนที่ทำและใช้ปุ๋ยน้ำหมักต่างๆ ครัวเรือนที่ทำบัญชีครัวเรือน
ครัวเรือนที่ทำน้ำส้มควันไม้ ครัวเรือนที่ทำกิจกรรมพลังงานทดแทน ครัวเรือนที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการลดรายจ่าย
เพิ่มรายได้ การออม แล้วประสบผลสำเร็จ สามารถเป็นแบบอย่างได้
ให้นำครัวเรือนเหล่านี้มาพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ให้ทำป้ายประชาสัมพันธ์
และบันทึกข้อมูลองค์ความรู้อย่างย่อๆ ของครัวเรือนไว้ที่ป้ายด้วย
จากนั้นให้ซักซ้อมเจ้าของแหล่งเรียนรู้ให้เข้าใจว่าเขาคือผู้ให้การเรียนรู้
เวลาใครมาดูงาน ก็ให้เล่าไปตามปกติ ไม่ต้องเกร็ง เล่าอย่างที่ทำ ทำอย่างไร
เล่าไปอย่างนั้น นึกว่าแลกเปลี่ยนความรู้กัน...
3.
วิทยากรประจำแหล่งเรียนรู้ชุมชน ความแตกต่างข้อนี้
จะทำให้เห็นชัดเจนว่าหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบนั้น แตกต่างกับหมู่บ้านทั่วไป
วิทยากรประจำแหล่งเรียนรู้ชุมชน ต้องเป็นผู้ที่พูดเป็น ไม่ใช่พูดได้อย่างเดียว
ต้องมีความกล้าในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน พูดได้ตามวัตถุประสงค์
มีลูกเล่นลูกฮาบ้างพอสมควร ส่วนมากผมพบว่าเรามีแหล่งเรียนรู้ชุมชนมากพอสมควร
แต่เราไม่สามารถหาวิทยากรประจำแหล่งเรียนรู้ได้
ปกติผมก็ให้เจ้าของแหล่งเรียนรู้นั้นเป็นวิทยากรประจำฐาน แต่หลายคนก็พูดไม่เป็น
ได้แต่ถามคำตอบคำ ถ้ากรณีอย่างนี้ ผมจะสอนเขาก่อนพูด
บอกให้พูดเหมือนกับเล่าให้เพื่อนหรือญาติพี่น้องฟัง พูดไปตามลำดับที่เคยทำมา
ถ้าติดขัดแล้วผมอยู่ด้วย ผมก็จะชวนเขาพูดคุยไปเรื่อยๆ ไม่ตำหนิ ไม่ขัดคอ
ออกนอกเรื่องบ้าง พอผ่อนคลายแล้วก็กลับมาคุยเรื่องเดิมใหม่ เมื่อแขกกลับไปแล้ว
ผมจะเข้าไปคุยกับวิทยากรอีก แนะนำถึงข้อที่ควรปรับปรุงต่างๆ และให้กำลังใจเขา
ให้พยายามต่อไป เมื่อมีประสบการณ์บ่อยๆ เขาจะเป็นวิทยากรที่ดีได้ในอนาคต...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น