วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

เทคนิคการบรรยายเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

เจ้าของความรู้ นายชำนาญ  รักราวี
ตำแหน่ง พัฒนาการอำเภอบางคล้า
             
การน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชทานมาอธิบายความให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่รับฟังการอบรมโดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นพี่น้องเกษตรกร เป็นเรื่องยากพอสมควรเพราะจะต้องสร้างความตระหนักให้เกิดกับผู้เข้ารับการฝึกอบรม จักได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม จึงขอนำเสนอขั้นตอนที่เรียบเรียงและใช้บรรยาย มานำเสนอเป็นทางเลือกพอสังเขป

ขุมความรู้
1. สร้างความตระหนักให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเห็นภาพเป็นจริงที่ใกล้เคียงกับเขา โดยการนำวีดีทัศน์ หรือภาพเหตุการณ์จากสื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงมานำเสนอ ได้แก่ 
1.1 บรรยายถึง ภาพการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระราชทาน  และกิจกรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
1.2 บรรยายถึงภัยที่มากระทบต่อประเทศชาติ (ภัยธรรมชาติ , ภัยข้ามชาติ , ภัยจากโรค ภัยจากมนุษย์อธิบายเชื่อมโยงกับวิกฤติโลกร้อน , ปัญหาสังคม ,การแบ่งพรรคแบ่งพวก 
1.3 อธิบายถึงสาเหตุความเป็นมาและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต
1.4 อธิบายนัยของเศรษฐกิจพอเพียง (3 ห่วง 2 เงื่อนไข)
1.5 อธิบายจุดแข็งของประเทศไทย (เป็นเมืองเกษตรกรรม)
1.6 อธิบายแผนชีวิต/แผนชุมชน

2. การฉายภาพความสำเร็จของชุมชน หรือบุคคลตัวอย่างในรูปแบบของวีดีทัศน์หรือภาพสไลด์ จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น 

3. สรุป โดยใช้พิธีกรรมที่สานึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระราชวงศ์ และเขียนพันธะสัญญาในการปฏิบัติตน โดยใช้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง 

แก่นความรู้
  1. สร้างความตระหนักให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเห็นภาพเป็นจริงที่ใกล้เคียงกับเขา โดยการนำวีดีทัศน์ หรือภาพเหตุการณ์จากสื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงมานำเสนอ
  2. การฉายภาพความสำเร็จของชุมชน หรือบุคคลตัวอย่างในรูปแบบของวีดีทัศน์หรือภาพประกอบจะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
  3. การกำหนดพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิด้วยการใช้จิตวิญญาณของผู้เข้าฝึกอบรมที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เขียนพันธะสัญญาในการปฏิบัติตน โดยใช้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง 

แนวคิด/ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง
  1. หลักการ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  2. ข้อมูล ข่าวสาร วิกฤตการณ์โลกร้อน และภัยพิบัติ
  3. แนวทางการดำเนินงานเศรษฐกิจพอเพียงของกรมการพัฒนาชุมชน ทั้งในส่วนเอกสาร วิดีทัศน์ สื่อต่าง ๆ 

การบริหารจัดการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

ชื่อความรู้   การบริหารจัดการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง                    
เจ้าของความรู้   สิบเอกสมพงษ์ นาคสาคร                                  
ตำแหน่ง  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ 
สังกัด   สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางคล้า
เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้สะดวก     083-1038838
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ    การบริหารจัดการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงให้ยั่งยืน
สถานที่เกิดเหตุการณ์      สำนักงานพัฒนาขุมขนอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

เนื้อเรื่อง   เป็นการเล่าเรื่องของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ  การดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ       ถึงการบริหารจัดการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบให้ยั่งยืน โดยย่อ

1. ส่วนนำ
ตามที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้อนุมัติงบประมาณตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชนประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 โครงการขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ     

การดำเนินงานโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต และเป็นเป้าหมายของการพัฒนาหมู่บ้าน โดยจัดกระบวนการเพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้าน ได้ใช้ความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ ตลอดจนนำแนวทางการปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบการพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 กรมการพัฒนาชุมชน ส่งเสริมการดำเนินงานพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบโดยการขยายผล แบบบ้านพี่ บ้านน้อง ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ทุกอำเภอพัฒนาหมู่บ้านโดยการเรียนรู้จากหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบที่มีความเข้มแข็ง และมีความพร้อมในการเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาให้แก่หมู่บ้านขยายผล ซึ่งอาจจะอยู่ในตำบลเดียวกัน หรือต่างตำบลกันก็ได้ พร้อมทั้งสนับสนุนให้หมู่บ้านสามารถเป็นต้นแบบ ในการส่งเสริมความรู้ ด้านเศรษฐกิจพอเพียงสู่หมู่บ้านอื่นๆต่อไป   จึงได้จัดโครงการขยายผลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบขึ้น

2.ส่วนขยาย
การดำเนินงานโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต และเป็นการพัฒนาหมู่บ้าน โดยจัดกระบวนการเพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้าน ได้ใช้ความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์และนำแนวทางการปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบการพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้ยั่งยืนสืบไป

เทคนิคการทำงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบให้ยังยืน ครัวเรือนสมัครใจจะต้องมีภูมิรู้ ภูมิธรรม และภูมิฐาน เป็นที่ตั้ง อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการบริหารจัดการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบอย่างยังยืนได้

3.ส่วนสรุป
การที่จะบริหารจัดการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบให้ยั่งยืนนั้น คณะกรรมการหมู่บ้านและครัวเรือนสมัครใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 30 ครัวเรือนนั้น จะต้องตั้งใจจริง มีความมุ่งมั่นบากบันเพรียนพยายามที่จะเอาชนะตนเองให้ได้ โดยจะต้องมีสติตั้งมั้นที่จะปฏิบัติตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง  

4. ที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์
สิบเอกสมพงษ์ นาคสาคร  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา  โทรศัพท์สำนักงาน 038 – 825513 โทรศัพท์มือถือ  083-1038838

ศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากกับการสร้างรายได้ชุมชน

นายชวลิต ศิริวัฒนโยธิน
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางคล้า

1.หลักการ
รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาโครงการหนึ่งตำบล  หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)  ที่เกิดจากศักยภาพของชุมชน อันก่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืน  โดยการเชื่อมโยงการใช้ทรัพยากรของรัฐ ท้องถิ่น และจังหวัด เพื่อให้แต่ละชุมชนสามารถใช้ทรัพยากร และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาอาชีพ  โดยรัฐบาลให้การสนับสนุน องค์ความรู้ใหม่ การเข้าถึงแหล่งทุน และพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการและการตลาด  เพื่อเชื่อมโยงสินค้าชุมชนสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ   ศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เป็นช่องทางหนึ่งในการเชื่อมโยงการใช้ทรัพยากรจากแหล่งทุน  แหล่งผลิต แหล่งตลาด แหล่งความรู้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เป็นกลไกขับเคลื่อนให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพและการพัฒนากลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP  ให้มีคุณภาพและมาตรฐานสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่กลุ่มและชุมชนซึ่งส่งผลต่อประชาชนในหมู่บ้านให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

อำเภอบางคล้า ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้เข้มแข็ง  โดยมีเป้าประสงค์ คือ ประชาชนในหมู่บ้านมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  โดยใช้กลยุทธ์ที่สำคัญ  คือ บูรณาการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วยพลังเครือข่ายชุมชน สู่การสร้างรายได้ชุมชน   ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก  เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางวิชาการและพัฒนาขีดความสามารถด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน   เป็นช่องทางในการเชื่อมโยงการใช้ทรัพยากรจากแหล่งทุน แหล่งผลิต แหล่งตลาด แหล่งความรู้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน และเป็นกลไกขับเคลื่อนให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพ  การบริหารจัดการแหล่งทุน  กลุ่มอาชีพ กลุ่มผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP  สำหรับการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้แก่ชุมชน เพื่อส่งผลต่อประชาชนในหมู่บ้าน ให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจฐานราก  ระหว่างภาคีการพัฒนาในระดับอำเภอ โดยการบริหารจัดการและให้บริการในรูปคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนเครือข่าย OTOP เครือข่ายทุนชุมชน  ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและภาคีหน่วยงานภาครัฐ

2.ขั้นตอนการดำเนินงาน
  1. จัดตั้งศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สถานที่ถาวร หรือ เป็นจุดแหล่งเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้ชุมชน
  2. คัดเลือกคณะกรรมการศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ที่มาจากเครือข่ายต่างๆ เช่น OTOP  กทบ. กข.คจ.  ออมทรัพย์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฯลฯ
  3. สร้างทีมวิทยากรจากคณะกรรมการศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เครือข่ายต่างๆ
  4. ให้บริการแสดงสินค้า OTOP ข้อมูลข่าวสาร งานเอกสาร  แบบฟอร์มต่างๆ ให้คำปรึกษาแนะนำ
  5. จัดบริการศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก นอกสถานที่ ให้บริการความรู้ สาธิต ให้คำปรึกษา
  6. ศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เป็นสถานที่พบปะเจรจาธุรกิจชุมชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้

3.แก่นความรู้
  1. การดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม องค์กรชุมชน ชุมชน ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP
  2. การมีส่วนร่วมของเครือข่าย  ชุมชน  สมาชิกศูนย์ เป็นพลังให้เกิดองค์ความรู้ เกิดการแลกเปลี่ยน
  3. การบูรณาการกิจกรรมในศูนย์ฯเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิก กลุ่ม องค์กร

ปฏิบัติการแก้จน “Smile Team”

เจ้าของความรู้ชื่อ  สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา

กระบวนการจัดทำองค์ความรู้    
  1. ประชุมร่วมเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนระดับจังหวัด/อำเภอ และภาคประชาชน ได้แก่ ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนและผู้นำชุมชน เพื่อพิจารณาจัดทำองค์ความรู้ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยกำหนดหลักเกณฑ์องค์ความรู้ต้องมาจากผลการดำเนินงานระดับองค์กรที่ประสบความสำเร็จ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงาน
  2. ผู้เข้าร่วมประชุม ให้ข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ตลอดจนร่วมจัดทำร่างองค์ความรู้
  3. มอบหมายให้คณะทำงาน KM ประกอบด้วย หัวหน้ากลุ่มงานทุกลุ่มงาน หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดผู้รับผิดชอบงาน KM นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดผู้รับผิดชอบงาน IPA และนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดผู้รับผิดชอบงานโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ร่วมจัดทำองค์ความรู้ ทบทวน ตรวจสอบ และเสนอต่อพัฒนาการจังหวัดฉะเชิงเทรา
  4. เผยแพร่องค์ความรู้ทางเว็บไซต์ http://kmcddccs.blogspot.com/ เว็บไซต์http://chachoengsao.cdd.go.th/ และเผยแพร่ผ่านการจัดรายการวิทยุชุมชน คนบางปรง FM 98.75 MHZ. ตำบลบางพระ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา


วัตถุประสงค์/ประโยชน์ขององค์ความรู้    
เพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยการสร้างทีมปฏิบัติการมืออาชีพ ภายใต้ชื่อว่า Smile Team” แก้จนด้วยใจ

ความเป็นมา   
กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ โครงการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ด้วยการขจัดความยากจนในชนบท และกรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินโครงการบริหารจัดการครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการ: ชี้เป้าชีวิต จัดทำเข็มทิศชีวิต บริหารจัดการชีวิต และดูแลชีวิต เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับครัวเรือน และสร้างความผาสุกให้กับประชาชนและครัวเรือนยากจนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตามแนวนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ด้วยการขจัดความยากจนในชนบท และตอบสนองต่ออุดมการณ์ของกระทรวงมหาดไทยในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชน สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน โดยจังหวัดฉะเชิงเทราได้ใช้กระบวนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ 4 กระบวนงานหลักภายใต้โครงการบริหารจัดการครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 - 2557  และในปี 2557 ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาความยากจน “เรียนรู้ แบ่งปัน สร้างพลังแก้จนคนแปดริ้ว” ในปี 2558

ภายใต้ภาวะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับกับภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกรมการพัฒนาชุมชน ที่มุ่งให้สำนักงานพัฒนาชุมชนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีการพัฒนา ในการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่ให้บรรลุผล แต่เนื่องจากการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจน ภายใต้ทีมปฏิบัติการระดับตำบลมีข้อจำกัดในหลายด้าน เช่น ทีมปฏิบัติการฯขาดความใกล้ชิดกับครัวเรือนยากจน หรือทีมปฏิบัติการฯมีเวลาว่างไม่ตรงกัน ทำให้การปฏิบัติงานแบบเข้าถึงประชาชนขาดความต่อเนื่อง และขาดความเข้าใจถึงสภาพครัวเรือนยากจนในเชิงลึก ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดในการดำเนินงานบริหารจัดการครัวเรือนยากจน โดยมุ่งเน้นให้ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน(ผู้นำ อช.) ซึ่งเป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ร่วมกับพัฒนากรผู้ประสานงานตำบล และผู้เชี่ยวชาญ(พัฒนากรผู้รับผิดชอบงานแก้ไขปัญหาความยากจน) เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับครัวเรือน ภายใต้ชื่อทีม Smile Team”

แนวคิด/ทฤษฎีที่นำมาใช้ในการดำเนินงาน
  1. ทฤษฎีการมีส่วนร่วม  การมีส่วนร่วม คือ กระบวนการให้บุคคลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานพัฒนา ร่วมคิด ตัดสินใจ แก้ไขปัญหาด้วยตนเอง โดยเน้นการมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องอย่างแข็งขันของ บุคคล แก้ไขปัญหาร่วมกับการใช้วิทยาการที่เหมาะสมและสนับสนุน ติดตามการ ปฏิบัติงานขององค์การและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความยากจนจะบรรลุผลได้นั้น จำเป็นต้องใช้หลักการมีส่วนร่วม อันหมายถึง ความร่วมแรงร่วมใจกันของ Smile Team ที่มีปณิธานร่วมกันในการมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจน ให้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน ครัวเรือนยากจนก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหา ทั้งการกำหนดทิศทาง แผนงาน และวิธีการพัฒนาตนเอง
  2. แนวคิดการสร้างผู้เชี่ยวชาญ เป็นการสร้างบุคคลให้เป็นผู้ชำนาญการในสายวิชาชีพ(การแก้ไขปัญหาความยากจน) โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Smile Team โดยผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้รู้เรื่องราวต่าง ๆ และสามารถให้คำปรึกษา และให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนได้


กระบวนการ/ขั้นตอน/วิธีปฏิบัติ
  1. ออกแบบกำหนดหลักเกณฑ์ของ Smile Team  โดย Smile Team แต่ละทีมจะประกอบด้วย ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) จำนวน 1 คน พัฒนากรผู้ประสานงานตำบล (พก.) จำนวน 1 คน และผู้เชี่ยวชาญ (ชช.) ได้แก่พัฒนากรผู้รับผิดชอบงานแก้ไขปัญหาความยากจนของอำเภอ 1 คน  
  2. สร้าง Smile Team โดยให้พัฒนาการอำเภอและพัฒนากรประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้นำอาสาพัฒนาชุมชนมาเข้าร่วมเป็น Smile Team ด้วยความสมัครใจ ทั้งนี้ ผู้ที่จะมาเป็น Smile Team จะต้องเป็นผู้ที่มีจิตอาสา เสียสละ พร้อมจะทำงานเพื่อส่วนรวม รวมถึงเป็นผู้ที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี สามารถสื่อสารและให้คำปรึกษาแก่ผู้อื่นได้  
  3. สร้างความเข้าใจในภารกิจหน้าที่แก่ Smile Team โดย Smile Team จะมีหน้าที่ติดตามดูแลครัวเรือนยากจนอย่างใกล้ชิด และเสมือนเป็นทีมปฏิบัติการระดับตำบล นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ในการให้คำแนะนำ ประสานงานกับหน่วยงาน/กลุ่มองค์กรต่างๆเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนยากจน
  4. จัดทำแผนปฏิบัติการ Smile Team


ผลที่เกิดขึ้นในเชิงสำเร็จ

  1. จังหวัดฉะเชิงเทรามี Smile Team ในการขับเคลื่อนกระบวนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเข้าถึงครัวเรือน จำนวน 31 ทีม
  2. Smile Team มีความรู้ความเข้าใจในภารกิจหน้าที่ สามารถปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความยากจนตามกระบวนการแบบเข้าถึงและเข้าใจครัวเรือน มีความต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
  3. Smile Team มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนยากจนระหว่างกัน และมีการต่อยอดทางความคิด
  4. ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการได้รับการช่วยเหลือดูแล มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีความสุขทางใจ 


วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558

ทำอย่างไรไม่ให้เกิดหนี้เสียในกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี

เจ้าของความรู้  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอสนามชัยเขต

วัตถุประสงค์ของความรู้    

เพื่อรู้เท่าทันและป้องกันต่อความบกพร่องอันอาจจะเกิดขึ้นก่อนเกิดความเสียหายต่อกองทุน รวมทั้งสร้างความมั่นคงให้กับกองทุนพัฒนาสตรี  ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนของสมาชิกสตรีทั้งจังหวัด

ความเป็นมา   
กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นนโยบายของรัฐบาล ได้จัดตั้ง กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีขึ้น มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย ในการสร้างโอกาสให้สตรีเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับการลงทุน เพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ หรือสำหรับการส่งเสริมและพัฒนาไปสู่การสร้างสวัสดิภาพ หรือสวัสดิการให้แก่สตรี /เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี การเฝ้าระวังและดูแลปัญหาของสตรี ตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาสตรีที่ประสบปัญหาในทุกรูปแบบ การรณรงค์ให้สังคมเข้าใจปัญหาสตรีในทุกมิติ และการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี /เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการส่งเสริม สนับสนุนการจัดกิจกรรมในการพัฒนาบทบาทสตรีและแก้ไขปัญหาสตรีขององค์กรต่าง ๆ การสร้างภาวะผู้นำ การพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของสตรี /เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการสนับสนุนโครงการอื่นๆที่เป็นการแก้ไขปัญหาและ พัฒนาสตรี ตามที่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติพิจารณาเห็นสมควร โดยจัดสรรเงินให้แก่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั้งในระดับจังหวัด เพื่อนำไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ โดยผู้ที่จะได้รับการจัดสรรเงินดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยเป็นสตรีหรือองค์กรสตรีที่มีการดำเนินงานและมีผลงานเกี่ยวกับการพัฒนา   การคุ้มครองช่วยเหลือสตรี
จากการติดตามสนับสนุนการดำเนินงานสมาชิกผู้ขอกู้ทุนหมุนเวียนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในปัจจุบัน  พบว่า  มีสมาชิกที่ได้กู้เงินบางส่วนไม่ปฏิบัติตามแนวทางการส่งใช้คืนเงินกู้ตรงตามกำหนดระยะเวลาในการขอกู้เงินจากกองทุน  เนื่องจากสาเหตุหลายประการ  เช่น  ตั้งใจไม่คืน  ประสบปัญหาความเดือดร้อน หรือจะนำไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ หรือจากสาเหตุอะไรก็ตาม   ดังนั้น  เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันและป้องกันความเสี่ยงก่อนเกิดความเสียหายอันจะเกิดขึ้นต่อกองทุน จึงจำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการและวิธีการป้องกันที่ดี   อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิก  ชุมชน และประเทศชาติอย่างแท้จริง

กระบวนการ/ขั้นตอน
1.    ประชุมชี้แจงเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกคนเพื่อให้รับทราบถึงนโยบาย  ขั้นตอนการปฏิบัติ ให้มีความเข้าใจถูกต้องตรงกัน  เพราะที่ผ่านมาอาจรับทราบเพียงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานเท่านั้น
2.   เรียกประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบลทุกตำบลซักซ้อมความเข้าใจถึงวิธีการดำเนินงานเพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกัน เกี่ยวกับวิธีการ  ขั้นตอนการดำเนินงาน เอกสาร หลักฐานที่ต้องการทำเพิ่มเติม  โดยทำแนวทางปฏิบัติร่วมกันเพื่อปฏิบัติให้เหมือนกันทุกตำบล
3.  พิจารณาตั้งผู้แทนจากองค์กรอื่น เพื่อเป็นการทำงานแบบคู่ขนาน  เช่น ผู้นำ อช./อช./กพสม./กพสต. เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการวิเคราะห์โครงการ  ร่วมกับ  คกส.ต. เพราะ กพสม./กพสต.เป็นองค์กรที่ทำงานอยู่กับเรามานานและเป็นบุคคลที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนั้น  จะทราบข้อมูลในหมู่บ้านเป็นอย่างดี
4.   กำหนดวันให้สมาชิกส่งโครงการของแต่ละตำบล เช่น สมาชิกผู้ขอกู้เงินต้องส่งโครงการในแต่ละเดือนให้ตำบล  ไม่เกินวันที่  20   ของทุกเดือน  โดยให้ คกส.ต.ตรวจสอบ เอกสารให้ถูกต้องครบถ้วน ตามระเบียบและหลักเกณฑ์  ความเป็นไปได้ของโครงการ
5.   จนท.พัฒนาชุมชน  ร่วมประชุมกับ คกส.ต.  ตรวจสอบโครงการที่สมาชิกเสนอ/ความเป็นไปได้ของโครงการ/ความเสี่ยง  และมีการบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร
6.   ลงตรวจสอบพื้นทีอีกครั้ง   ดูความเป็นไปได้ของโครงการร่วมกับคณะกรรมการ
7.   กำหนดวันประชุมระดับอำเภอ  กลุ่มเป้าหมาย  ได้แก่  ผู้แทน คกส.ต.ทุกตำบล (อาจจะตำบลละ 4-5 คน)  คณะกรรมการวิเคราะห์โครงการ(ตามที่ได้รับการแต่งตั้ง จากข้อ 3)  ผู้แทนหน่วยงาน  เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน  สมาชิกผู้ยื่นคำขอกู้  เพื่อร่วมกันพิจารณากลั่นกรองระดับอำเภอ  เช่น  กำหนดทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน เพื่อปรึกษาหารือและกลั่นกรองโครงการขอรับเงินอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งปัจจุบัน กรรมการหลายคนถอดใจ  และไม่มีส่วนร่วมในการประชุม ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้มีหลายตำบลทั่วทั้งประเทศมองข้ามการทำงานในรูปของคณะกรรมการไป  โดยเฉพาะผู้แทนของหมู่บ้านที่มีสมาชิกยื่นคำขอกู้เงินจากกองทุนฯ ต้องเข้าร่วมด้วย   ห้ามขาดประชุมโดยเด็ดขาด  เพราะจะเป็นแหล่งข้อมูลในหมู่บ้านเป็นอย่างดี
8.  ก่อนการพิจารณาโครงการ  ควรเรียกสมาชิกผู้ขอกู้เงินในรอบเดือนนั้น รับฟังการชี้แจงรายละเอียด  ขั้นตอนเงื่อนไข   เวลาการพิจารณาให้ความเห็นชอบ  เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน  รวมทั้งสามารถป้องกันการปลอมแปลงเอกสารได้ด้วย
9.  ให้ คกส.ต.รวบรวมโครงการที่ขอเสนอกู้ที่ผ่านการเห็นชอบ ในระดับอำเภอ ส่งให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนผู้รับผิดชอบงาน  เป็นผู้รวบรวมส่งต่อให้จังหวัด ไม่เกิน  วันที่ 5 ของทุกเดือน
10.  จัดทำระบบการควบคุมโดยการจัดทำทะเบียนรายงวดการอนุมัติเงินกู้  และทะเบียนคุมลูกหนี้แต่รายตำบล   เพื่อควบคุมการกู้ – การส่งใช้เงินคืน ของแต่ละตำบล 
11. กรณีได้รับแจ้งผลการอนุมัติโครงการ  อำเภอเชิญ คกส.ต. และสมาชิกผู้ขอรับเงิน ประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ  และทำสัญญาเงินกู้
12. ให้เจ้าหน้าที่เช็คข้อมูลตามฐานทะเบียนคุมลูกหนี้ทุกเดือน  ว่ากลุ่มไหนใกล้ครบ
กำหนดการชำระคืน   ให้ทำหนังสือแจ้งเตือนสมาชิกผู้กู้  โดยให้ประธาน คกส.ต.ซึ่งเป็นคู่สัญญาแจ้งเตือนล่วงหน้า อย่างน้อย  2-3  เดือน  เพื่อช่วยให้สมาชิกผู้กู้ได้รับทราบถึงกำหนดวันชำระคืน  เพื่อให้สมาชิกผู้กู้ได้มีระยะเวลาเตรียมพร้อมในการชำระหนี้
13. กรณีครบกำหนดชำระเงินคืน  แต่กลุ่มกู้เงินส่งไม่ตรงตามกำหนด  ให้แยกกลุ่มปัญหา ให้ชัดเจน  เช่น  กลุ่มที่ตั้งใจไม่คืนเงิน(ไม่ยอมชำระหนี้)   กลุ่มที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านการประกอบอาชีพกู้ไปแล้วทำไม่ประสบผลสำเร็จ (ไม่สามารถชำระหนี้) และกลุ่มที่นำเงินกู้ไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เป็นต้น
14.คกสต.และเจ้าหน้าที่ร่วมกันติดตามสนับสนุนอาชีพ ออกเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่อง  มีการปรึกษา แลกเปลี่ยนกัน ในเวทีประชุมประจำเดือนๆละ 1 ครั้ง 
15.กรณีการรับเงินชำระคืนจากสมาชิกผู้กู้  เมื่อ คกสต.ได้รับเงินชำระคืน  ให้ออกใบเสร็จให้ผู้กู้ไว้เป็นหลักฐาน  และนำหลักฐานการรับเงินคืนจากลูกหนี้พร้อมสำเนาใบโอนส่งให้อำเภอ   เพื่อรวบรวมส่งให้จังหวัดต่อไป   ต้องเน้นย้ำให้สมาชิกโอนเข้าบัญชีตำบลเท่านั้น  อย่าให้โอนเข้าบัญชีจังหวัด  และห้ามนำเงินสดมาชำระกับ คกสต. โดยเด็ดขาด
16.กรณีลูกหนี้ผิดนัด  ให้ดำเนินการติดตามทวงหนี้การกู้ยืมกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เช่น  ประสานทางโทรศัพท์   ทำหนังสือแจ้งเตือน ครั้งที่ 1  ครั้งที่ 2  ครั้งที่ 3 ออกเยี่ยมบ้าน เป็นต้น  หลังจากออกเยี่ยมบ้านหากไม่มาชำระหนี้ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
17.มีการประชาสัมพันธ์ฯงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้สมาชิกทราบอย่างสม่ำเสมอ  

ผลที่เกิดขึ้นในเชิงความสำเร็จ
1.  ไม่มีการค้างชำระหนี้ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี หรือ อาจมี แต่ปัญหาน้อยมาก                คิดเป็นร้อยละ  1.37
2.  สมาชิกได้รับประโยชน์จากโครงการ จำนวน  73 โครงการ  365  คน คิดเป็นร้อยละ 75.25  จากผูเสนอโครงการทั้งหมด  97 โครงการ   485 คน 
3.  เป็นการสร้างวินัยทางการเงินให้แก่สมาชิกผู้ได้รับเงินกู้  จากทั้งหมด 73 โครงการ   จำนวนเงิน  13,388,045  บาท   แยกเป็น
             Ø  ส่งตรงตามกำหนด จำนวน  47  โครงการ  คิดเป็นร้อยละ  64.38                                      
             Ø ยังไม่ครบกำหนดชำระ  จำนวน  25  โครงการ  คิดเป็นร้อยละ  34.25                                
             Ø ครบกำหนดแล้วยังไม่ชำระ  จำนวน  1  โครงการ คิดเป็นร้อยละ  1.3
4.  เงินกองทุนฯไม่สูญหาย และมีเงินทุนหมุนเวียนให้สมาชิกทุกคนได้เข้าถึงแหล่งทุน

5.  มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างภาคประชาชน  กลุ่มองค์กร และ ภาครัฐ

ปัญหา/อุปสรรค
1. คณะกรรมการอยู่ต่างหมู่กัน  จัดประชุมยาก หาเวลาตรงกันไม่ได้   
2. กรรมการส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องระเบียบ  วิธีการปฏิบัติ                 
3. กรรมการไม่มีค่าตอบแทนทำให้กรรมการส่วนใหญ่ไม่ให้ความสนใจ          
4. กลไกการทำงานของ คกส.ต.ไม่เข้มแข็ง  
5. ระเบียบฯของกองทุน  ทำให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนไม่สามารถเข้าไปดำเนินงานในการบริหารจัดการกองทุนฯได้    
6. กรรมการไม่กล้าตัดสินใจในการพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการ แม้จะทราบว่ามีความเสี่ยงในการขอรับเงิน 
7. คนทำงานมีน้อย

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
1.   คณะกรรมการฯต้องปฏิบัติตามระเบียบ  อย่างเคร่งครัด
2.   การให้ความร่วมมือของสมาชิกและบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกผ่าย
3.   การติดตาม  สนับสนุน  ให้ความรู้ ของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง
4.   การประชาสัมพันธ์ในทุกระดับ/ขั้นตอน ให้สมาชิกได้รับรู้รับทราบ สามารถลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้
5.   เอกสารที่สมบูรณ์  ถูกต้อง ครบถ้วน จะทำให้กลุ่มและกรรมการได้ตรวจสอบ  ทบทวนถึงเนื้อหาสาระในการปฏิบัติตามโครงการ  และสามารถพิจารณาความเป็นไปได้เบื้องต้นของโครงการ

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2558

3 สิ่งที่ต้องมีในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ

เจ้าของความรู้  สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอราชสาส์น
โทรศัพท์ 038-591103
วันที่บันทึก  วันที่ 25 พฤษภาคม 2558
แก้ไขปัญหา  การดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ

มีคำถามอยู่บ่อยๆ ว่าหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของกรมการพัฒนาชุมชนนั้น ต่างจากหมู่บ้านทั่วไปตรงไหน และจะทำอย่างไร สำหรับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอราชสาส์น เราเคยมีประสบการณ์ทำมาแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 – ปัจจุบัน ความแตกต่างของหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบกับหมู่บ้านทั่วไปมีอยู่ 3 ประการ คือ
  1. ศูนย์เรียนรู้ชุมชน หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ต้องมีศูนย์เรียนรู้ชุมชน หมู่บ้านทั่วไปอาจมีหรือไม่มีก็ได้ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนเป็นสถานที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้ของคนในชุมชน จะเป็นศาลากลางของหมู่บ้านหรือสถานที่อื่นที่ชาวบ้านเลือกก็ได้ ข้อสำคัญ คือ ต้องมีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นประจำ เช่น การเรียนรู้เรื่องสุขภาพอนามัย การประกอบอาชีพ สังคมและครอบครัว การวางแผนและการบริหารจัดการชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือการเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย เป็นต้น โดยอาจกำหนดวันที่จัดกิจกรรมให้ตรงกับวันประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน แล้วสอดแทรกกิจกรรมการเรียนรู้เข้าไป ประมาณ 30 – 40 นาที ก็จะได้ผลดีมาก เป็นการให้ความรู้กับชาวบ้านทีละเล็กทีละน้อย ไม่เหนื่อยหรือเครียดจนเกินไป
  2. แหล่งเรียนรู้หรือจุดเรียนรู้ของชุมชน นอกจากมีศูนย์เรียนรู้ชุมชนแล้ว หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ต้องมีแหล่งเรียนรู้ชุมชนด้วย แหล่งเรียนรู้นี้ก็หาไม่ยาก ควรใช้กิจกรรมของหมู่บ้านเป็นหลักก่อน เช่น โรงสีชุมชน ที่ทำการกลุ่ม/องค์กรต่างๆ โรงผลิตปุ๋ยของชุมชน เป็นต้น แล้วก็ยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือ ใช้วิธีสอบถามจากชาวบ้าน ถึงครัวเรือนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ ของชุมชน ซึ่งจะมีอยู่ทุกชุมชน ขอให้ถามให้ดี เช่น ครัวเรือนที่ทำสวนเกษตรผสมผสานหรือไร่นาสวนผสม ครัวเรือนที่ทำและใช้ปุ๋ยน้ำหมักต่างๆ ครัวเรือนที่ทำบัญชีครัวเรือน ครัวเรือนที่ทำน้ำส้มควันไม้ ครัวเรือนที่ทำกิจกรรมพลังงานทดแทน ครัวเรือนที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ การออม แล้วประสบผลสำเร็จ สามารถเป็นแบบอย่างได้ ให้นำครัวเรือนเหล่านี้มาพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ให้ทำป้ายประชาสัมพันธ์ และบันทึกข้อมูลองค์ความรู้อย่างย่อๆ ของครัวเรือนไว้ที่ป้ายด้วย จากนั้นให้ซักซ้อมเจ้าของแหล่งเรียนรู้ให้เข้าใจว่าเขาคือผู้ให้การเรียนรู้ เวลาใครมาดูงาน ก็ให้เล่าไปตามปกติ ไม่ต้องเกร็ง เล่าอย่างที่ทำ ทำอย่างไร เล่าไปอย่างนั้น นึกว่าแลกเปลี่ยนความรู้กัน
  3. วิทยากรประจำแหล่งเรียนรู้ชุมชน ความแตกต่างข้อนี้ จะทำให้เห็นชัดเจนว่าหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบนั้น แตกต่างกับหมู่บ้านทั่วไป วิทยากรประจำแหล่งเรียนรู้ชุมชน ต้องเป็นผู้ที่พูดเป็น ไม่ใช่พูดได้อย่างเดียว ต้องมีความกล้าในการพูดต่อหน้าที่ชุมชน พูดได้ตามวัตถุประสงค์ มีลูกเล่นลูกฮาบ้างพอสมควร ส่วนมากมักพบว่ามีแหล่งเรียนรู้ชุมชนมากพอสมควร แต่เราไม่สามารถหาวิทยากรประจำแหล่งเรียนรู้ได้ ปกติควรให้เจ้าของแหล่งเรียนรู้นั้นเป็นวิทยากรประจำฐาน แต่หลายคนก็พูดไม่เป็น ได้แต่ถามคำตอบคำ ถ้ากรณีอย่างนี้ ควรจะสอนเขาก่อนพูด บอกให้พูดเหมือนกับเล่าให้เพื่อนหรือญาติพี่น้องฟัง พูดไปตามลำดับที่เคยทำมา ถ้าติดขัด เจ้าหน้าที่ก็ควรชวนเขาพูดคุยไปเรื่อยๆ ไม่ตำหนิ ไม่ขัดคอ ออกนอกเรื่องบ้าง พอผ่อนคลายแล้วก็กลับมาคุยเรื่องเดิมใหม่ เมื่อแขกกลับไปแล้ว ควรจะเข้าไปคุยกับวิทยากรอีก แนะนำถึงข้อที่ควรปรับปรุงต่างๆ และให้กำลังใจเขา ให้พยายามต่อไป เมื่อมีประสบการณ์บ่อยๆ เขาจะเป็นวิทยากรที่ดีได้ในอนาคต

นี่เป็น 3 สิ่ง ที่ต้องมีในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ คุณลองนำเอาไปทำดู เชื่อว่าจะทำให้คุณเห็นความแตกต่างระหว่างหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบกับหมู่บ้านทั่วไปได้เป็นอย่างดี

ขุมความรู้
                   1. พัฒนากร สามารถพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบให้แตกต่างจากหมู่บ้านทั่วไปได้ โดยดำเนินการให้มีศูนย์เรียนรู้ชุมชน แหล่งเรียนรู้ชุมชน และวิทยากรประจำแหล่งเรียนรู้ชุมชน
                   2. พัฒนากร สามารถสร้างแหล่งเรียนรู้ชุมชนได้ โดยนำกิจกรรมเด่นของหมู่บ้าน หรือครัวเรือนต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จในหมู่บ้าน มาจัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นประจำ
                   3. พัฒนากร สามารถสร้างวิทยากรประจำแหล่งเรียนรู้ได้ โดยนำเจ้าของแหล่งเรียนรู้หรือผู้นำแหล่งเรียนรู้นั้น มาฝึกพูดบรรยายในที่ชุมชน และให้โอกาสในการฝึกพูดบ่อยๆ

แก่นความรู้
  1. หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถเป็นต้นแบบได้ ก็ต่อเมื่อมีศูนย์เรียนรู้ชุมชน แหล่งเรียนรู้ชุมชน และวิทยากรประจำศูนย์เรียนรู้ชุมชน
  2. ถ้ามีการนำกิจกรรมเด่นของหมู่บ้านหรือครัวเรือนที่ประสบผลสำเร็จในหมู่บ้านมาปรับปรุงการบริหารจัดการให้เป็นระบบ ก็จะสามารถสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนได้
  3. ถ้ามีการฝึกพูดในที่ชุมชนบ่อยๆ จะสามารถพัฒนาจากชาวบ้านธรรมดาเป็นวิทยากรผู้เชี่ยวชาญได้

แนวคิด ทฤษฏี กฎ ระเบียบ เอกสารที่เกี่ยวข้อง
  1. คู่มือการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบปี 2555 ของกรมการพัฒนาชุมชน
  2. เอกสารชุดความสุขชุมชน : Happy Package ปี 2556 ของกรมการพัฒนาชุมชน
  3. แนวทางการดำเนินกิจกรรมตามยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน ปีงบประมาณ พ.ศ.2558

การประชาสัมพันธ์องค์กรในการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มารับบริการ

หน่วยงาน        สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์    0-3881-4349

ชื่อเรื่อง           การประชาสัมพันธ์องค์กรในการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มารับบริการ
เนื้อเรื่อง
                    หากจะพูดถึงเรื่องของการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นส่วนภาครัฐ เอกชน หรือแม้กระทั่งประชาชน จะได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ แทบจะทุกวันและทุกเวลา จะหันไปทางไหน ก็สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้ และยิ่งในปัจจุบันนี้ ช่องทางต่างๆ ที่จะทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร ยิ่งมีมากและรูปแบบในการรับข้อมูลก็ง่ายขึ้น ทำให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้เยอะ เพราะมีเทคโนโลยีที่ขยายวงกว้าง และพัฒนาที่รวดเร็ว
                    สำหรับช่องทางการรับรู้ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล หรือข่าวสาร ในปัจจุบันนี้ มีหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร แผ่นพับ ใบปลิว โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งสื่อโวเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น Line Facebook Instargram หรือตาม Website ต่างๆ ที่สามารถค้นหาได้อย่างง่ายดาย สิ่งเหล่านี้ เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการ ประชาสัมพันธ์นั่นเอง
                    ดังนั้น การประชาสัมพันธ์ ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยให้การรับรู้ซึ่งข้อมูลข่าวสารนั่นมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีอีกหนึ่งวิธี
เหตุผลที่จะต้องมีการประชาสัมพันธ์องค์กร
1.      เพื่อให้การบริหารงานขององค์กร สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์
2.      เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการ และได้รับข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรได้
3.      เนื่องจากปัจจุบัน ช่องทางในการประชาสัมพันธ์ เปิดกว้างมากขึ้น และมีการแข่งขันที่มากขึ้นตามลำดับ
4.      เพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดี ระหว่างองค์กรกับประชาชน
5.      เพื่อขับเคลื่อนงานหรือกิจกรรมขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รูปแบบและวิธีการประชาสัมพันธ์
1.      จากสื่อสิ่งพิมพ์ : เป็นสื่อที่ช่วยในการเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวาง และถือเป็นวิธีที่นิยมใช้มาก เพราะเนื่องจากจะสะดวกแล้ว ยังช่วยประหยัดเรื่องของงบประมาณ และสามารถเก็บไว้ดูได้เป็นเวลานาน สื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้
-      หนังสือเล่ม สิ่งพิมพ์ที่เย็บรวมกันเป็นเล่มที่มีความหนาและมีขนาดต่าง ๆ กัน ไม่มีกำหนดออกแน่นอน และไม่ต่อเนื่องกัน มีเนื้อหาที่เป็นเรื่องเดียวกัน ไม่หลายหลายและมีความสมบูรณ์ในตัวเอง เช่น สารสนเทศชุมชน ,หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ,กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต,กระบวนการแก้จน เป็นต้น
-      สิ่งพิมพ์เฉพาะกิจ ที่ดำเนินการ
= หนังสือเชิญประชุม เป็นแผ่นกระดาษเพียงแผ่นเดียว ซึ่งจะพิมพ์เนื้อเรื่องสั้น ๆ เพียงเรื่องเดียว
   ใช้กระดาษรีไซต์เคิ้ล
= แผ่นพับ  ศูนย์บริการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนครบวงจร
= เอกสารเย็บเล่ม เป็นเอกสารที่เย็บรวมเป็นเล่มบาง ๆ มีเนื้อหาและสีสันน่าอ่าน ใช้เผยแพร่
   แนะนำ มีเนื้อหาละเอียดขึ้นจากแผ่นพับ  เช่น เอกสารประกอบการฝึกอบรมกิจกรรมพัฒนา
   ชุมชน
= จดหมายเวียน หรือหนังสือเวียนมีลักษณะเช่นเดียวกันกับแผ่นปลิว ใช้สำหรับแจ้งให้ทราบข่าว
   เฉพาะเรื่องให้เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทราบเฉพาะเรื่อง
= โปสเตอร์ เป็นกระดาษเพียงแผ่นเดียว มีข้อความหรือรูปภาพประกอบช่วยสื่อความหมาย
   ในการบอกข่าว ชักจูงใจ หรือเรียกความสนใจเพื่อรณรงค์ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน ข้อมูล กชช.2 ค.ที่กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดสรรมาให้ หมู่บ้านละ 1 แผ่น
2.      สื่อบุคคล : เป็นสื่อที่เรียกได้ว่าเก่าแก่ที่สุด เป็นสื่อที่ใช้กันมากใน กลุ่มประชาชนทั่วไป เครื่องมือของสื่อบุคคลมีทั้งที่เป็นคำพูด กริยาท่าทาง การแสดงออกทางอากัปกิริยา “ยิ้มก่อน ทักก่อน ไหว้ก่อน”
ในการต้อนรับผู้มาขอใช้บริการ แม้กระทั่งผู้มาติดต่อประสานหน่วยงานข้างเคียงก็ยินดีให้บริการบอกทางว่าอยู่ที่ไหน
3.      สื่อโสตทัศน์ : เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่มีการใช้ทั้งภาพและเสียง ดังนี้
-      วิทยุ เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่ส่งข่าวสารได้รวดเร็ว และเผยแพร่ข่าวไปได้ไกลมาก ที่ดำเนินการ สถานีวิทยุกระจ่ายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดชลบุรี (สวท.ชลบุรี)
-      โทรทัศน์ เป็นสื่อที่เจริญรุดหน้ามาก สามารถถ่ายทอดข่าวสารได้ทั้งโดยคำพูด ข้อเขียน และรูปภาพ ส่งภาพและเสียงในระยะทางไกลๆ ได้ ที่ดำเนินการให้ข่าว เอ็มเอสเอส เคเบิลทีวี , สาครเคเบิลทีวี ฯลฯ
-      เครื่องฉายโปรเจคเตอร์และโน๊ตบุ๊ค เป็นสื่อที่ใช้ประกอบการบรรยาย เพื่อให้เกิดความชัดเจน เป็นภาพนิ่ง/ภาพเคลื่อนไหว/เสียง เลื่อนภาพได้ทีละหนึ่งภาพ ใช้เป็นสื่ออบรมบ่อยๆ ในงานพัฒนาชุมชน เช่น เพาเวอร์พอยต์การดำเนินงานพัฒนาชุมชน โครงการต่างๆ ,วีดิทัศน์กิจกรรมงานพัฒนาชุมชน ฯลฯ
-      เครื่องโทรศัพท์ การรับสายพูดสายด้วยวาจาสุภาพ
“สวัสดีครับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา“กระผมนาย..............................รับสาย ครับ”
“สวัสดีค่ะสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองฉะเชิงเทรา “ดิฉัน นาง น.ส.............................รับสาย ค่ะ”
-      สื่ออิเลคทอรนิคส์ เช่น ไลน์ เฟสบุ๊ค  จดหมายอิเลคทรอนิคส์ และระบบโอเอกรมการพัฒนาชุมชน
ฯลฯ
4.      สื่อกิจกรรมต่างๆ จะเป็นลักษณะกิจกรรมตามวาระหรือโอกาสต่าง ๆ โดยมากจัดในรูปของ
-      นิทรรศการ งานวันแม่  จังหวัด/อำเภอเคลื่อนที่ ฯลฯ
-      การออกร้านมหกรรมแก้จน  หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง  กิจกรรมรวมพลังสตรี  ฯลฯ
-      งานฉลอง เช่นการจัดขบวนแห่รับเงินพระราชทานขวัญถุงกองทุนแม่ของแผ่นดิน ฯลฯ
-       การแข่งขัน เช่นการประกวดหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง การประกวดกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านดีเด่น ฯลฯ
-      การประชุม เช่น กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน , การประชุมจังหวัด/อำเภอ , ขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาชุมชน ฯลฯ
-      กิจกรรม 5 ส. รางวัลชนะเลิศปี 2557  รองชนะเลิศอันดับ1 ปี 2558
บันทึกขุมความรู้ 
จากเนื้อเรื่องดังกล่าวข้างต้นเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนทุกระดับ
เป็นกิจวัตรประจำวันที่ปฏิบัติเป็นประจำจนเกิดเป็นนิสัย เสริมสร้างลักษณะนิสัย ในการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับองค์กร โดยพี่สอนน้อง  เพื่อนช่วยเพื่อน
                   แก่นความรู้
                   1.การปฏิบัติงานต้องศึกษาหลักการประชาสัมพันธ์
                   2.เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนศึกษาหาความรู้ช่องทางการประชาสัมพันธ์โดยเฉพาะทาง
สื่ออิเลคทรอนิคส์ โดยอายุไม่ใช่เป็นเครื่องกำหนดในการค้นคว้าหาความรู้
                   3.จัดระบบการทำงานรูปแบบ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ
                   กลยุทธ์ในการทำงาน
                   1.สร้างความรู้ความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่และภาคีการพัฒนาให้มีความรู้และเข้าใจงานพัฒนาชุมชน โดยใช้สื่อประชาสัมพันธ์ในการสร้างความเข้าใจ
                   2.กำหนดผู้รับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ความสามารถหลักการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน

และถ่ายทอดให้เพื่อนร่วมงานสามารถปฏิบัติได้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร

การทำงานเป็นทีมของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน

ประเด็น  การทำงานเป็นทีมของเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน
หน่วยงาน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพนมสารคาม

๑.      ความสำคัญการทำงานเป็นทีม
การทำงานเป็นทีม มีความสำคัญในทุกองค์กร และการพัฒนาทีมงาน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการบริหารงาน ทีมงานจึงมีบทบาทสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือของกลุ่มสมาชิกเป็นอย่างดี แต่ถ้าหากองค์กรใดมีปัญหาในการทำงานเป็นทีม เกิดขึ้นกับองค์กรหรือหน่วยงานใด ก็มักจะทำให้องค์กรนั้น ไม่สามารถทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๒.     หลักและแนวทางการบริหาร
การพัฒนาทีมงานให้มีคุณภาพและประสบความสำเร็จ สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ควรมีการดำเนินการ ดังนี้
          ๒.๑  การพัฒนาบุคลากรและทีมงาน
          -  มุ่งสู่ความเป็น knowledge  worker  เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญ
          -  ส่งเสริมให้ทุกคนปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล มีจริยธรรม และจรรยาบรรณ ยึดหลักความผาสุก
          -  การพัฒนาทีมงาน ให้มีความเชี่ยวชาญในการทำงานตามบทบาทหน้าที่ในลักษณะสหวิทยาการ
          -  ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้มีความคิดสร้างสรรค์ ความคิดเชิงบวก การพัฒนาวุฒิอารมณ์
          -  เสริมสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับ
          ๒.๒ พัฒนากระบวนการทำงาน
          -  ปรับปรุงรูปแบบกระบวนการทำงานกับชุมชน และหน่วยงานภาคี ในลักษณะ WIN WIN
          -  เสริมสร้างภาพลักษณ์ในองค์กร รวมทั้งมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งาน
          -  สร้างนวัตกรรมการทำงาน เพื่อสร้างคุณค่า และมูลค่าเพิ่มของงาน
          -  สร้างบรรยากาศในการทำงาน มีการจัดลำดับความสำคัญของงาน 
          ๒.๓  พัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงาน
          -  เตรียมความพร้อมวัสดุอุปกรณ์
          -  ปรับสภาพแวดล้อมสถานที่ทำงานให้น่าอยู่ น่าทำงาน
          -  สร้างบรรยากาศการทำงาน มุ่งสู่ความรู้รักษ์สามัคคี
     ๓.   บทสรุป

           หากองค์กรมีพลัง มีทัศนคติในทางบวก มีพฤติกรรมในการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม มีวัฒนธรรมองค์กรที่มีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาทีม จะส่งผลให้ทีมงานปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล