วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เทคนิคการดำเนินงานตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง



ชื่อ-นามสกุล  นายสมเกียรติ  คำแพ่ง
ตำแหน่ง  นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด  กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สพจ.ฉะเชิงเทรา
โทรศัพท์  038-511239
ชื่อเรื่อง  เทคนิคการดำเนินงานตามหลักการเศรษฐกิจพอเพียง
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ  ปี 2555-2556
สถานที่  จังหวัดฉะเชิงเทรา
 
หลายท่านคงเคยได้ยินเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกันเป็นอย่างดี แต่พอถามว่า “3 ห่วง 2 เงื่อนไข”  มีอะไรบ้างในขณะที่เราจะดำเนินงานโครงการ นักพัฒนาทั้งหลายล้วนอึ้งไปตามๆกัน ความจริงแล้วเป็นการสรุปแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมุมมองง่ายๆ แต่จาการที่ผมปฏิบัติงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงมาหลายปี ทำให้เกิดแนวคิดกลับกันเป็น " 2 เงื่อนไข 3 ห่วง " เพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติงานลองศึกษากันดูนะครับ
แก่นความรู้ 2 เตรียม 3 เทคนิค
2 เตรียม ได้แก่

  1. การเตรียมคน คือ พัฒนากร ผู้นำชุมชน และกลุ่มเป้าหมาย
  2. เตรียมพื้นที่ ที่จะพัฒนาเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง

3 เทคนิค มี 3 ขั้นตอน ในการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้

  • ขั้นตอนที่ 1 ให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่กลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนสามารถนำไปปฏิบัติได้
  • ขั้นตอนที่ 2 สอดแทรกในการพัฒนาจิตใจ กลุ่มเป้าหมายให้มีคุณธรรม โดยใช้กระบวนการหลักการความจริงของชีวิตตามคำสอนของพุทธศาสนา และศาสนกิจของแต่ละศาสนาของกลุ่มเป้าหมาย
  • ขั้นตอนที่ 3 เมื่อกลุ่มเป้าหมาย มีความรู้ มีคุณธรรม การที่กลุ่มเป้าหมายจะเข้าสู่ 3 ห่วง คือ มีเหตุผล พอประมาณ และมีภูมิคุ้มกัน ก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
ขุมความรู้
"ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรม การดำเนินงานโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในการปฏิบัติงาน

 

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เทคนิคของพี่พัฒนากร “จัดเวทีหาความสุข ด้วยใยแมงมุม”



ชื่อ-นามสกุล  นายสุริยน โอมวัฒนา
ตำแหน่ง 
นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ
สังกัด
  กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน สพจ.จังหวัดฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์
  0894911627
ชื่อเรื่อง
เทคนิคของพี่พัฒนากร “จัดเวทีหาความสุข ด้วยใยแมงมุม”
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ
 ปี พ.ศ. 2557
สถานที่
  จังหวัดฉะเชิงเทรา


ข้าพเจ้าปฏิบัติงานกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน...
ได้ประมาณ 1 ปี 6 เดือน ได้เรียนรู้งานสิ่งใหม่เพิ่มเติม และได้ทำงานร่วมกับพี่สมเกียรติ  “คนนี้แหละ” ที่ผมจะเล่าต่อไป ผมขึ้นมาเป็นนักวิชาการจังหวัดก่อน และพี่เกียรติ ขึ้นมาประมาณเดือนพฤศจิกายน 2556 ตอนที่พี่เกียรติขึ้นมาเป็นนักวิชาการจังหวัด สุขภาพไม่ดี เพราะกินเหล้า หัวหน้าแนะนำให้ไปรักษาตัว จึงไปหาหมอที่คลินิก รักษาได้สักพัก มีอาการสายตาช่วงล่างเกิดมองไม่เห็น แต่ตอนนี้รักษาแล้ว ดีขึ้นมาก พี่เกียรติมีความรู้ ประสบการณ์ทำงานมากกว่า 20 ปี

เราทำงานร่วมกัน...
ทำงานได้เข้าใจเป็นทีม คอยปรึกษาหารือในงานที่ได้รับผิดชอบ คือ งานของพี่ผมก็ช่วยทำ งานของผมพี่ก็ช่วยผมเหมือนกัน พี่เกียรติจะสอนชี้แนะข้อบกพร่องที่เราต้องปรับปรุง และเล่าเรื่องงานที่ทำมาเล่าแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งผมเล่าถึงอำเภอราชสาส์นทำอย่างไร พี่เกียรติเล่าว่าพี่ทำที่อำเภอบางปะกง ผมจึงขอนำมาเล่าประสบการณ์ทำงานการจัดเวทีหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบหรือรักษาสภาพหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบปีก่อนของพี่เกียรติ เป็นเทคนิคส่วนหนึ่งของการหาความสุขมวลรวม (
GVH) ที่อยากเล่าต่อครับ

เริ่มจากการทำความเข้าใจ...
ในการหาความสุขมวลรวมให้ผู้ครัวเรือนพัฒนาเข้าใจก่อน เทคนิคนี้     มีดังนี้
อธิบายข้อที่ 1 ให้ทราบความหมายก่อน จากนั้นให้ผู้ครัวเรือนพัฒนาทุกคนหลับตาทุกคน จนกว่าจะถามแล้วเสร็จ หากใครลืมตาแอบมองเพื่อนขอให้ตาไม่สมประกอบ และจะมีน้อง 2 ขวัญ  ขวัญ 1 ช่วยพี่นับมือที่ยก ขวัญ 2 คอยจดบนใยแมงมุม


สั่งให้หลับตา...

เอ้า..ใครคิดข้อนี้ให้ 1 ยกมือครับ น้องขวัญดาวนับ เอามือลง
คนที่ยกแล้วห้ามลืมตา และห้ามยกอีก ยกได้ครั้งเดียว
เอ้า..ใครคิดข้อนี้ให้ 2 ยกมือครับ น้องขวัญดาวนับ อย่านับเสียงดัง เอามือลง
ทุกคนยังหลับตาอยู่ คนที่ยกแล้วห้ามลืมตา และห้ามยกอีก ยกได้ครั้งเดียว
เอ้า..ใครคิดข้อนี้ให้ 3 ยกมือครับ น้องขวัญดาวนับ เอามือลง
ทุกคนยังหลับตาอยู่ คนที่ยกแล้วห้ามลืมตา และห้ามยกอีก ยกได้ครั้งเดียวเท่านั้น
เอ้า..ใครคิดข้อนี้ให้ 4 ยกมือครับ น้องขวัญดาวนับ เอามือลง
ทุกคนยังหลับตาอยู่ คนที่ยกแล้วห้ามลืมตา และห้ามยกอีก ยกได้ครั้งเดียวเท่านั้น
เอ้า..ใครคิดข้อนี้ให้ 5 ยกมือครับ น้องขวัญดาวนับ เอามือลง ทุกคนลืมตาได้

มาดูคะแนนกัน...
แต่อยากถามคนที่ให้ 5 ในข้อนี้ มีเหตุผลประกอบด้วย เพื่อให้ที่ประชุมได้ยืนยัน เช่น หมู่บ้านนี้ไม่มีอบายมุข ให้ 5 แต่คนที่ตอบบอกว่าบ้านผมไม่มีใครเล่นการพนัน ไม่รู้บ้านอื่น ซึ่งมีอีกคนตอบขึ้นมาว่ามีบ้านนี้เล่น นั่นก็เล่น แต่บ้านของลุงคนที่ตอบเค้าไม่ได้เล่น

ถ้าเช่นนั้นข้อนี้คะแนนน่าจะอยู่ที่เท่าไร...
ถามที่ประชุมอีกครั้ง ให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน
ทุกคนเข้าใจวิธีการแล้ว จากนั้นไปทำข้อถัดไป


การทำงานหากได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้
... จะสามารถนำไปพัฒนาการทำงาน หรือทำงานได้รวดเร็วขึ้น เพราะทุกคนจะมีประสบการณ์ วิธีคิด ของในช่วงอายุงาน วัย ประสบการณ์ต่างกัน การเรียนรู้จากรุ่นพี่พัฒนากร เป็นวิธีการหนึ่ง ซึ่งเทคนิคที่ผมเขียนคงเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน และต้องขอบคุณพี่สมเกียรติ คำแพ่ง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เล่าให้ฟังด้วย


แก่นความรู้...

1. ทำงานเป็นทีม ต้องพูดคุยกันก่อนออกเวที มีการแบ่งงานกันทำ
2. การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ชมเชย ให้กำลังใจ ผู้เข้าเวที

3. การใช้น้ำเสียงหนักเบา ในการเน้นจุดประโยคสำคัญ ให้ความตื่นเต้น ตื่นตัว

ขุมความรู้...

1. แบบประเมินความสุขมวลรวม
2. ประสบการณ์จากรุ่นพี่พัฒนากร
3. การแลกเปลี่ยนความรู้กัน

การแก้ไขปัญหาความยากจน



ชื่อ-นามสกุล  นายสิทธิชัย ปาหุไณยกุล
ตำแหน่ง 
นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ
สังกัด
  กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน
สพจ.จังหวัดฉะเชิงเทรา
เบอร์โทรศัพท์
  0897712587
ชื่อเรื่อง
  การแก้ไขปัญหาความยากจน
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ
 ปี พ.ศ. 2554
สถานที่
  อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา

ปัญหาความยากจน...
เป็นปัญหาที่มีมานานในสังคมไทย และแม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้หมดไป สาเหตุเนื่องมาจากการที่ประชาชนขาดโอกาสในการได้รับการส่งเสริมอาชีพ การขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ตลอดจนขาดโอกาสในการได้รับการศึกษา/การเรียนรู้เพื่อนำไปพัฒนาอาชีพ นอกจากนี้ จากการที่ประชาชนขาดการเรียนรู้ตนเอง และขาดการวางแผนการใช้จ่ายอย่างสมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกระแสโลกาภิวัตน์นำความเจริญมาสู่สังคม ประชาชนได้มีความนิยมทางด้านวัตถุมากขึ้น มีการใช้จ่ายเงินมากกว่ารายได้ที่หามา จึงทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินจากเงินกู้นอกระบบเพื่อมาใช้จ่ายในครอบครัว และเมื่อมีรายได้จากการประกอบอาชีพ ก็ต้องนำเงินนั้นไปชำระเงินคืนเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากวงเวียนแห่งความจนได้


สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา... ได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และขจัดความยากจนในชนบทให้หมดสิ้นไป ข้าพเจ้าจึงได้ลงมือปฏิบัติการแก้จน โดยมีกระบวนการดำเนินงาน ดังนี้


1.การชี้เป้าชีวิต...
โดยใช้ข้อมูลครัวเรือนที่ไม่ผ่านเกณฑ์รายได้ จปฐ. เป็นเกณฑ์ในการค้นหาครัวเรือนที่มีความยากจน และออกสำรวจกลุ่มเป้าหมายในระดับพื้นที่(เคาะประตูบ้าน) โดยข้าพเจ้าจะจำแนกครัวเรือนที่สำรวจออกเป็น 2 ลักษณะ คือ 1. ครัวเรือนยากจนที่ต้องได้รับการสงเคราะห์เพียงอย่างเดียว เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองประกอบอาชีพได้ 2. ครัวเรือนยากจน  ที่สามารถประกอบอาชีพหรือพัฒนาอาชีพได้หากได้รับการส่งเสริม โดยในขั้นตอนนี้ ข้าพเจ้าจะจัดทำข้อมูลของครัวเรือนที่เป็นประโยชน์สำหรับให้การส่งเสริมต่อไป


2.การจัดทำเข็มทิศชีวิต... โดยข้าพเจ้าจะส่งเสริมให้ครัวเรือนยากจนได้เรียนรู้ตนเอง รู้จักการวางแผนชีวิต และแผนการใช้จ่ายเงินอย่างเป็นระบบ เช่น การทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ครัวเรือนสามารถควบคุมการใช้จ่ายได้อย่างสมดุล

3.การบริหารจัดการชีวิต...
ในขั้นตอนนี้ อำเภอจะให้การสนับสนุนวัสดุที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพแก่ครัวเรือนยากจน ตลอดจนให้การศึกษา/ความรู้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ โดยอาจเชิญวิทยากรจากหน่วยงานที่มีความชำนาญในเรื่องที่เกี่ยวข้องอาชีพนั้นๆ มาให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง สำหรับครัวเรือนประเภทที่ต้องได้รับการสงเคราะห์เพียงอย่างเดียว ข้าพเจ้าจะประสานงานกับผู้ใหญ่บ้าน/ผู้นำชุมชนที่อยู่บ้านใกล้เคียงเพื่อให้การดูแล ตลอดจนประสานงานกับ อบต. เพื่อให้การช่วยเหลือในระยะต่อไป


4.การดูแลชีวิต... เป็นขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรมหรือพัฒนาอาชีพของครัวเรือนยากจน โดยข้าพเจ้าจะออกติดตามครัวเรือนยากจน ว่าประสบกับปัญหาจากการประกอบอาชีพอะไรบ้าง และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร โดยข้าพเจ้าจะทำหน้าที่ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือในปัญหาที่ครัวเรือนไม่สามารถแก้ไขด้วยตนเองตามลำพัง เพื่อให้ครัวเรือนนั้นสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวต่อไป


จากการดำเนินงานพบว่า...
ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง สำหรับการแก้ไขปัญหาความยากจน มีดังนี้
1.ครัวเรือนขาดความรู้ในการประกอบอาชีพ...
กล่าวคือ บางครัวเรือนไม่มีทักษะ/ความรู้ในอาชีพนั้นๆมาก่อน เมื่อได้รับการส่งเสริม ก็ไม่สามารถบริหารดูแลอาชีพดังกล่าวได้

2.ครัวเรือนนำวัสดุ/ปัจจัยที่ได้รับจากการส่งเสริมอาชีพไปขาย...
เนื่องมาจากการมีหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้ต้องนำวัสดุบางส่วนไปจำหน่ายเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ ทำให้ไม่มีวัสดุสำหรับการประกอบอาชีพต่อไป


3.ครัวเรือนขาดจิตสำนึกในการดำรงชีวิตแบบพอเพียง... กล่าวคือ บางครัวเรือนมีสภาพยากจน แต่กลับนิยมเล่นการพนันเป็นนิจ ดังนั้น แม้จะมีรายได้จากการส่งเสริมอาชีพ ก็จะนำไปเล่นการพนันจนหมดสิ้น


4.ครัวเรือนยากจนพร้อมรับการสนับสนุนวัสดุในการประกอบอาชีพ...
แต่ไม่พร้อมทำบัญชีครัวเรือน (ไม่อยากทำ)


5. ครัวเรือนจนไม่จริง... หรือ ไม่แน่ใจว่าจนหรือไม่ เช่น จากข้อมูล จปฐ. พบว่า ครัวเรือนตกเกณฑ์รายได้ เนื่องจากอยู่ลำพังและไม่มีการประกอบอาชีพ แต่จากการสำรวจในพื้นที่   กลับพบว่า ครัวเรือนนั้นมีบ้านหลังใหญ่โต และมีทรัพย์สินในบ้านมากมาย


ข้าพเจ้าคิดว่า... การจะดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดสิ้นไปอย่างแท้จริงนั้น ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และไม่ลดความพยายาม ในการส่งเสริมให้ประชาชนได้มีกระบวนการวิเคราะห์และรู้จักตนเอง รู้จักประหยัด รู้จักเก็บออมเงิน มีความรู้ในการประกอบอาชีพ ตลอดจนมีคุณธรรมในการดำรงชีวิต ตามตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พ่อสอนไว้